กรุงศรี ฟินโนเวต เดินหน้ากลยุทธ์ 3.0 เปิดกองทุนสตาร์ทอัพครั้งแรกในไทย “ฟินโนเวนเจอร์ ฟันด์ I” (Finnoventure Fund I) เพิ่มโอกาสการลงทุน เข้าถึงข้อมูลทางธุรกิจ และการร่วมเป็นพันธมิตรกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่เติบโตโดดเด่นในอาเซียน พร้อมเป็นที่ปรึกษานักลงทุนจับมือเดินหน้ารับการเติบโตไปด้วยกัน
นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า พัฒนาการของสตาร์ทอัพในประเทศไทยเริ่มต้นมาตั้งแต่ประมาณปี 2558 โดย กรุงศรี ฟินโนเวต ได้คลุกคลีกับการเติบโตของสตาร์ทอัพมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม 1.0 หลายองค์กรที่ต้องการเดินหน้าองค์กรเข้าสู่นวัตกรรมจะจัดทำโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ เพื่อให้ได้เริ่มสัมผัสการทำงานแบบสตาร์ทอัพ จากนั้นพัฒนาไปสู่ยุค 2.0 ที่เน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพและการร่วมเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพในการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดธุรกิจต่างๆ
กรุงศรี ฟินโนเวต ทำให้กรุงศรีกลายเป็นธนาคารที่ทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพกว่า 63 บริษัท กว่า 106 โปรเจ็ค และส่งเสริมการทำงานด้านดิจิทัลของกรุงศรีและบริษัทในเครือถึง 37 หน่วยธุรกิจ วันนี้ กรุงศรี ฟินโนเวต กำลังเดินหน้าสู่ยุค 3.0 ที่พร้อมจะนำความเชี่ยวชาญของเราต่อยอดไปสู่การลงทุนในระดับกองทุน เพื่อที่จะสร้างโอกาสการเติบโตให้กับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ ในขณะเดียวกันก็สร้างผลตอบแทนและการเติบโตทางธุรกิจให้กับนักลงทุนด้วย
กรุงศรี ฟินโนเวต จึงจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพขึ้น ถือเป็นกองทุนสตาร์ทอัพครั้งแรกของไทย ภายใต้ชื่อ “ฟินโนเวนเจอร์ ฟันด์ I” เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อย และองค์กรที่สนใจลงทุนในสตาร์ทอัพแต่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพได้เข้าลงทุน โดยมีกรุงศรี ฟินโนเวต ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการลงทุนในสตาร์ทอัพเป็นผู้ดูแล
นอกจากนั้น นักลงทุนสถาบันที่ลงทุนในกองทุนนี้ ยังมีโอกาสจะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจของสตาร์ทอัพที่อยู่ภายใต้กองทุนนี้ เพื่อที่จะต่อยอดการทำธุรกิจนำเสนอสินค้าและบริการที่เป็นนวัตกรรมร่วมกัน โดย “ฟินโนเวนเจอร์ ฟันด์ I” เป็นกองทุนขนาด 3,000 ล้านบาท มุ่งเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระดับซีรี่ส์ A ขึ้นไป เน้นลงทุนในกลุ่มฟินเทค อีคอมเมิร์ซ ออโตโมทีฟ (ยานยนต์) และกลุ่มสตาร์ทอัพที่อาจฟื้นตัวเร็วหรือได้รับโอกาสทางธุรกิจในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว เป็นต้น หรือที่เรียกว่า Post-Pandemic Boom Startup
ตั้งแต่ปี 2558 สตาร์ทอัพไทยแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยพบการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพเติบโตกว่า 3 เท่าจากปกติ ประกอบกับในปี 2564 ประเทศไทยมียูนิคอร์นรายแรกอย่าง Flash Express ที่สะท้อนภาพความสำเร็จ และแนวโน้มว่าสตาร์ทอัพหลายธุรกิจของไทย มีศักยภาพที่จะขยายกิจการจากในประเทศไปยังภูมิภาคได้
ขณะเดียวกันสตาร์ทอัพในภูมิภาคอาเซียนก็เติบโตแบบเท่าทวีคูณ และกำลังเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้งปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับสตาร์ทอัพในภูมิภาคนี้ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นอุปสรรคของสตาร์ทอัพยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่จะขยายธุรกิจเข้ามาในภูมิภาคนี้ จึงเป็นโอกาสให้สตาร์ทอัพไทยและอาเซียนได้เติบโตอย่างเต็มที่ การมีกองทุนสตาร์ทอัพที่จัดตั้งโดยผู้มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ และเปิดกว้างให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนได้ง่ายขึ้นจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินในการขยายธุรกิจที่มีศักยภาพอยู่แล้วให้ยิ่งขยายตัวเติบโตไปได้เป็นเท่าทวีคูณ