Site icon Thumbsup

จัดแคมเปญพิเศษอย่างไร ให้โดนใจนักช้อปกลุ่มเยาวรุ่น

หากกล่าวถึงเทศกาลช้อปปิ้งครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาคงนึกถึงเทศกาล Black Friday กันใช่ไหมคะ Black Friday ของสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นช่วงของการจับจ่ายสูงสุดและสร้างรายได้ให้ทุกแบรนด์อย่างมหาศาล เพราะเป็นการซื้อส่งท้ายปีเพื่อการเฉลิมฉลองเทศกาลช่วงสิ้นปี

แต่ในช่วงปี 2021 ทั้งปีนี้ ถือว่าเป็นช่วงที่ทั่วโลกเจอปัญหาล็อกดาวน์กันต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเรื่องกำลังจ่าย และเงินหมุนเวียนตลอดทั้งปีก็ไม่ได้คึกคักเช่นเคย ส่วนคนไทยนั้นมีความพิเศษในการช้อปปิ้งตลอดทั้งปี แต่กลับไม่มีเทศกาลพิเศษที่เฉพาะเจาะจงและต่อเนื่องทุกปี

thumbsup ได้ข้อมูลจาก Studentbean ในการศึกษาเกี่ยวกับการช้อปปิ้งของคนกลุ่มเจน Z ว่าพวกเขามีแนวคิดและพฤติกรรมในการใช้จ่ายอย่างไรบ้าง

กลุ่มคนเจน Z นั้น เริ่มมีความสนใจมองหาสินค้าเพื่อให้ของขวัญแก่กลุ่มเพื่อนฝูงและครอบครัวในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดย 95% ของกลุ่มเพศชายและ 83% ของเพศหญิงระบุว่า

พวกเขากำลังมองหาและเริ่มซื้อสินค้าในช่วงวันหยุดเพื่อมอบให้แก่คนในครอบครัว 71% เพื่อน 46% และคนรัก 27% ส่วนสินค้าที่พวกเขาต้องการซื้อให้แก่คนรอบตัวนั้น แบ่งเป็น สินค้าประเภทแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ ตามมาด้วยสินค้าประเภทเกมส์เพราะกลุ่มคนเจน Z จะมีความต้องการที่คล้ายๆ กัน

กลุ่มสินค้ายอดนิยม

สินค้าในกลุ่มแฟชั่น อย่างเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับ ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าที่กลุ่มคนเจน Z ต้องการตลอดทั้งปี โดยสัดส่วนของค่าใช้จ่ายรายเดือนของชาวเจน Z มีตัวเลขที่ 15% เป็นเรื่องของความสวยความงาม ส่วนค่าใช้จ่ายหลักอย่าง ค่าเช่าบ้านหรือห้องพัก ค่าอาหารและค่าสาธาณูปโภคต่างๆ อยู่ที่ 91% ดังนั้น ช่วงปลายปีแบบนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ชาวเจน Z จะโละตู้เสื้อผ้าของตัวเองเพื่อจับจ่ายสินค้าแฟชั่นใหม่ๆ

ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ มาจากมุมมองด้านความยั่งยืน

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจเมื่อชาวเจน Z ที่มีความคุ้นเคยและพื้นฐานทางดิจิทัลดีกว่าเจนอื่นๆ พวกเขาเข้าใจเรื่องของพื้นฐานการเงิน แต่กลับต้องการความจริงใจของแบรนด์ในการสื่อสารเรื่องความยั่งยืน เรื่องจริยธรรม ความคิดเห็นเรื่องการเมือง เรื่องพวกนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจว่าจะติดตามแบรนด์ต่อไปหรือไม่

ส่วนเหตุผลที่ชาวเจน Z เลือกแบรนด์จากความยั่งยืนนั้น เป็นเพราะพวกเขากังวลในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาการ สังคมและการเมืองมากขึ้น เพราะเรื่องเหล่านี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่พวกเขาศึกษาข้อมูล และติดตามอย่างต่อเนื่อง โดย 95% ของชาวเจน Z ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 16-24 ปี บอกว่าเชื่อถือในแบรนด์ที่มีความชัดเจนว่าให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีหรืออีกเพียง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ชาวเจน Z กว่า 44% มองเรื่องความนั่งยืนของสินค้าและการนำกลับมาใช้งานซ้ำได้ถึง 44% และอีก 55% มองว่าจะซื้อของขวัญที่มีแนวโน้มใช้งานได้นาน โดยกลุ่มผู้ซื้อจะมีการค้นหาข้อมูลก่อนตัดสินใจ พวกเขาจะเลือกหาสินค้าที่ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด เพื่อให้แน่ใจพวกเขาตัดสินใจอย่างมีสติก่อนจ่าย ซึ่งโซเชียลมีเดียของแบรนด์จึงควรที่จะมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าไปพร้อมกันและควรใช้น้ำเสียงในการสื่อสารผ่านโซเชียลได้อย่างน่าประทับใจด้วย

สินค้าแบรนด์เนมราคาแพง

แม้ว่าชาวเจน Z จะมีกำลังซื้อในทิศทางที่ดีกว่าในอดีตและมีความรู้เกี่ยวกับสินค้าราคาแพงมากกว่าชาวเจนอื่นๆ เพราะพวกเขามีอิสรภาพทางการเงินแต่ขณะเดียวกันก็ต้องการสร้างความสมดุลคือสินค้าต้องคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายด้วย

ดูได้จากเทศกาล Black Friday สินค้าที่นักช้อปยอมจ่ายกันมากกว่าเดิม แบ่งเป็น เสื้อผ้า/เครื่องประดับและรองเท้า 91% เอนเตอร์เทนเม้นท์ 55% เฮลท์แอนด์บิวตี้ 54% มือถือและเทคโนโลยี 52% บัตรงานอีเว้นท์ 35% ของแต่งบ้าน 31% บัตรท่องเที่ยวหรือบัตรของขวัญ 31% อาหารและเครื่องดื่ม 29%

อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่มมือถือและเทคโนโลยีจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ เพราะเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ โดย 52% ของชาวเจน Z วางแผนที่จะลงทุนสินค้าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบดิจิทัลเต็มตัว และกำลังซื้อในกลุ่มสินค้าประเภทนี้ราคาก็จะสูงขึ้น เช่น โน้ตบุคใหม่ ที่มีสเปคของเครื่องที่เร็วและแรงขึ้นเพราะต้องการใช้งานเทคโนโลยีให้เต็มที่และเครือข่ายที่มีคุณภาพ รวมทั้ง 64% ของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเลือกที่จะเข้าถึงสินค้าระดับ Top Priority ที่มีราคาสูงเป็นปัจจัยแรกๆ

ดังนั้น แบรนด์สินค้าเกี่ยวกับมือถือและเทคโนโลยีจำเป็นต้องสื่อสารให้เต็มที่ ให้ข้อมูลที่พวกเขาอยากรู้มากที่สุด และต้องมีการการันตีคุณภาพ รับผิดชอบเมื่อมีการร้องขอเรื่องการซ่อมและเปลี่ยนสินค้า หากพวกเขาซื้อทางช่องทางออนไลน์ เพราะ 63% ต้องการซื้อสินค้าเทคโนโลยีทางออนไลน์และ 68% ยังต้องการซื้อที่สาขาหรือหน้าร้าน

ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำโปรโมชั่นที่สอดคล้องกับช่องทางการขายทั้งสองช่องทาง และต้องไม่ลืมการเขียนรายละเอียดให้ชัดเจนว่าจะใช้ในช่องทางการขายใดได้บ้าง หากใช้ได้ทุกช่องทางหรือทุกประสบการณ์ที่นักช้อปเข้าถึง จะเพิ่มประสบการณ์และความประทับใจได้เป็นอย่างดี

ประสบการณ์ค้าปลีก

ตั้งแต่เกิดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายผ่านช่องทางค้าปลีกไปเป็นอีคอมเมิร์ซ หรือใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์ม แล้วธุรกิจค้าปลีกจะปรับแผนอย่างไรถึงจะดี (นอกจากแค่เพิ่มช่องทางอีคอมเมิร์ซนะ)

แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา 62% ของนักช้อปเจน Z จะใช้ช่องทางดิจิทัลเป็นช่องทางหลักในการใช้จ่าย แต่ประสบการณ์แบบไฮบริดหรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมจะต้องไม่ทอดทิ้งประสบการณ์แบบในอดีต

ยกตัวอย่าง การใช้จอแสดงผลข้อมูลเกี่ยวกับร้านค้าปลีก จอแสดงผลโปรโมชั่นหรือแคมเปญภายในห้างสรรพสินค้าแบบ LED กระจกถ่ายรูปแบบเซลฟี่ เป็นต้น สำหรับคนที่เดินทางมาที่ห้างค้าปลีกของคุณ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เป็นการผสมผสานความสนุกและเปลี่ยนประสบการณ์ในการเดินทางมาที่ห้างได้ไม่แพ้กับช่องทางอีคอมเมิร์ซ

หากดูตัวเลขความต้องการของนักช้อปออนไลน์เทียบกับออฟไลน์ พบว่า ช้อปออนไลน์เท่านั้น 38% ช้อปที่ร้านหรือสาขา 11% ใช้ทั้งสองช่องทาง (ออนไลน์+ออฟไลน์) 51% ตัวเลขนี้สะท้อนว่า ห้างค้าปลีกต้องใส่ความเป็นออนไลน์และความสนุกแบบออนไลน์เข้าไปเป็นหนึ่งในประสบการณ์ของนักช้อปเจน Z ด้วย

การตลาดที่เหมาะสมสำหรับชาวเจน Z

นอกจากเรื่องของหลักเกณฑ์และทำความรู้จักชาวเจน Z ที่มีความชื่นชอบและสิ่งที่พวกเขาต้องการแล้ว วันนี้เรามาดูกันว่าอะไรที่แบรนด์และนักการตลาดด้านค้าปลีก ควรนำไปใช้วางแผนช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้าได้อย่างเหมาะสมกัน

แบ่งประเภทของสินค้าสำหรับจัดทำเป็นของขวัญให้เหมาะกับความต้องการ

หากเป็นการสั่งซื้อที่หน้าร้าน ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างสรรพสินค้า ช่วงปลายปีจนถึงต้นปีแบบนี้เราจะเห็นกระเช้าของขวัญแบบจัดเป็นเซ็ตขนาดต่างๆ สำหรับนำไปมอบให้แก่ลูกค้า ญาติผู้ใหญ่หรือเพื่อนแล้ว

แต่สำหรับชาวเจน Z นั้น เค้าอยากได้โปรโมชั่นหรือส่วนลดที่เฉพาะกลุ่มสินค้าสำหรับจะซื้อไปจัดเป็นของขวัญเอง นั่นคือคนรุ่นใหม่เขาจะมองหาโปรโมชั่นหรือส่วนลดพิเศษสำหรับสินค้าหรือบางทีก็จัดเซ็ตสินค้าสำหรับให้ของขวัญคนรุ่นใหม่เลยก็ได้

เช่น เซ็ตของขวัญสำหรับจับสลากบัดดี้ เซ็ตของขวัญสำหรับนำไปให้เพื่อนคนพิเศษ เซ็ตของขวัญสำหรับอาจารย์เกษียณ แค่คิดธีมของขวัญก็รู้แล้วใช่ไหมคะว่าเราสามารถเลือกประเภทสินค้าได้เยอะมาก มากกว่าแค่กระเช้าเครื่องดื่ม กระเช้าผลไม้ หรือกระเช้าอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น จึงควรนำเสนอให้เหมาะสมด้วย

ปล่อยช่วงเวลาโปรโมชั่นล่วงหน้า

อย่างที่กล่าวมาตลอดว่าคนเจน Z เป็นกลุ่มคนที่เตรียมตัวและคิดรอบด้านก่อนจะตัดสินใจซื้อของสักอย่าง จากผลสำรวจ พบว่า 33% ชาวเจน Z จะค้นหาข้อเสนอหรือสิทธิประโยชน์ก่อนถึงวันที่ตั้งใจมอบของขวัญให้แก่เป้าหมายของเขา อีก 26% จะเริ่มค้นหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ 2-3 สัปดาห์ และคุณต้องแน่ใจว่าสิทธิประโยชน์หรือโปรโมชั่นที่ปล่อยออกไปนั้น ต้องมีเวลาในการโปรโมทมากพอให้พวกเขาได้เห็นและมีเวลาให้พวกเขาได้หาข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อ

“ลดเพิ่ม = แรงกระตุ้น” ตัวช่วยจูงใจชาวเจน Z

หนึ่งในวิธีที่จะช่วยกระตุ้นแรงดึงดูดของชาวเจน Z ได้ดี คือ “การสร้างแรงจูงใจ” โดยแบรนด์มักจะส่งข้อเสนอที่ดีที่สุดในช่วงก่อนจะเกิดงานเทศกาล หรือระหว่างเทศกาลหรือกิจกรรมพิเศษ และมีส่วนลดพิเศษสำหรับนักเรียน-นักศึกษา เท่านั้น ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจซื้อมากขึ้นของลูกค้ากลุ่มวัยรุ่น

หากเอ่ยแบบนี้เราจะนึกถึง ราคาพิเศษสำหรับลูกค้าแบรนด์ Apple ที่เป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาในการเลือกซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเลตและปากกา เป็นต้น แม้แบรนด์ Apple จะเป็นแบรนด์สินค้าเทคโนโลยีแรกๆ ในใจของผู้บริโภครุ่นใหม่แล้ว แต่ราคาก็ค่อนข้างสูงและการซื้อสเปคเครื่องที่ดีและแรงที่สุด อาจจะเป็นเรื่องที่จับต้องยากสำหรับพวกเขา การมีแคมเปญพิเศษหรือซื้อสินค้าได้ในราคาพิเศษ ช่วยเพิ่มความภักดีต่อแบรนด์ได้อย่างยั่งยืน

สร้างหน้าร้านใหม่บนโซเชียลมีเดีย

การตลาดบนโซเชียลมีเดียยังคงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยมที่แบรนด์ทุกคนควรทำและควรสร้างภาพลักษณ์ให้เขารู้สึกว่าเป็นช่องทางที่ไปที่ไหนก็เจอ เช่น ชาวเจน Z นิยมคุยเล่น บน TikTok ดังนั้น การทำคอนเทนต์บน TikTok ก็ควรแนะนำและแบ่งปันโปรโมชั่นในช่องทางนั้นได้เลย ไม่ต้องเข้าไปในโซเชียลมีเดียอื่นๆ อีก

จากข้อมูลพบว่า 63% ชาวเจน Z นิยมเข้าถึงแบรนด์ผ่านโซเชียลมีเดีย 58% เข้าไปอ่านข้อมูลและสินค้าที่ตัวเองสนใจในเว็บไซต์ของแบรนด์เอง 48% เข้าไปดูสินค้าที่หน้าร้าน 43% ดูจากอีเมล์ที่แบรนด์ส่งมา อีก 42% ค้นหาแบรนด์ผ่าน Google

ช่วงปลายปีแบบนี้แบรนด์ควรเริ่มทำโปรโมชั่นหรือแคมเปญอย่างไรให้ชาวเจน Z สนใจแบรนด์ของคุณ จากผลสำรวจระบุว่า 91% ราคาสินค้าจับต้องได้ชาวเจน Z ซื้อไหว 68% ข้อเสนอสำหรับชาวเจน Z โดยเฉพาะ 44% ทำแคมเปญหรือแพคของขวัญแบบเฉพาะบุคคล 44% ภาพลักษณ์ความยั่งยืนของแบรนด์ต้องมี และสุดท้ายอีก 35% ซื้อของแพงอยากได้เงินคืน