แม้การขายสินค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซของไทยยังมีส่วนแบ่งจากภาพรวมธุรกิจค้าปลีกเพียง 5% แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าในระยะเวลาสั้นๆ ช่วงของการเกิดโควิด-19 ผู้ซื้อชาวไทยไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุเท่าไร ก็พร้อมที่จะจ่ายหากช่องทางการขายสินค้านั้นเข้าถึงและเอื้อประโยชน์ให้พวกเขาตามที่ต้องการ
คุณวีระพงศ์ โก รองประธานอาวุโสฝ่ายอีคอมเมิร์ซ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนี้ได้ไม่นาน ได้ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นดราม่าเรื่องสินค้าจีนและการผลักดันผู้ค้าชาวไทยให้ปรับตัวขายสินค้าออนไลน์พร้อมกับการรักษาหน้าร้านออฟไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ามาขึ้น
แม้ว่าธุรกิจ SME ชาวไทยจะคุ้นเคยกับการเปิดเพจบนโซเชียลมีเดียมากกว่า เพราะเข้าใจว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้ใช้งานได้ฟรี รวมทั้งอาจจะมองว่าการขายสินค้าบนลาซาด้ามีความยุ่งยากกว่า ที่จริงแล้วความเข้าใจนี้เป็นแนวทางที่ผิด แต่ทางบริษัทก็เร่งสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับร้านค้ามากขึ้น
ลาซาด้า ประเทศไทย เริ่มต้นเปิดตัว Lazada University มาตั้งแต่ปี 2559 อบรมผู้ขายไปแล้วกว่า 100,000 ราย หลักสูตรการอบรมมากกว่า 200 หัวข้อ มีการจัดอบรมแบบไลฟ์สตรีมสำหรับผู้ขายไปแล้วกว่า 1,500 ชั่วโมง และมีผู้ขายที่ได้รับการรับรองจากลาซาด้าให้เป็นเทรนเนอร์อย่างเป็นทางการไปแล้ว 6 คน
ซึ่งวัตถุประสงค์ในการจัดงานแบบออฟไลน์ครั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ขายได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน เพราะเชื่อว่ายังมีผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่สนใจอยากเข้ามาใช้งานช่องทางออนไลน์แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากจุดไหน
แม้ว่าทางบริษัทจะไม่มีตัวเลขชัดเจนว่าร้านค้าไหนที่เข้าอบรมผ่านหลักสูตรแล้วมียอดการขายเพิ่มขึ้นได้จริง แต่เราเชื่อมั่นว่าผู้ขายมีโอกาสทางการเข้าถึงลูกค้ารายใหม่ได้มากขึ้น 10 เท่า เพราะมีฟีเจอร์มากมายที่ให้ผู้ขายนำไปปรับใช้และสร้างโอกาส
“เราเปิดหลักสูตรแบบไม่ว่าใครก็เข้ามาฟังและเรียนรู้ได้ ดังนั้นก็จะอยากในการ track ข้อมูลว่าเรียนไปแล้วได้อะไร รวมทั้งไม่ได้มีการจัดสอบใบ Certificate เพราะมองว่าผู้ขายคงไม่มีเวลามาเรียน จึงเปิดกว้างให้ใครก็ได้ที่สะดวกและสนใจเข้ามาเรียนและมาแชร์ความรู้กัน”
อย่างไรก็ตาม จากกระแสร้านค้าจีนกระหน่ำแย่งช่องทางการขายบนแพลตฟอร์มการขายของไทยอย่างลาซาด้าและช้อปปี้นั้น ทางผู้บริหารของลาซาด้ายืนยันว่า เราผลักดันร้านค้าชาวไทยเช่นเดิม เพียงแต่ว่าจำนวนของร้านค้า SME ในระบบยังมีไม่มากพอ แต่ร้านค้าที่เป็นของไทยนั้นจะได้รับการสนับสนุนในการแสดงผลอันดับต้นๆ ในหน้าแรกของ Interface เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขาย
นอกจากนี้ แบรนด์ที่ขายสินค้าอยู่ในไทย ทั้งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ แบรนด์ชั้นนำของไทย รวมทั้งธุรกิจเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนการค้าในไทยจะได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยร้านค้าที่ลาซาด้าส่งไม่ต่อให้แก่ทาง Tmall Global นั้น จะเป็นการแนะนำร้านค้าที่มีศักยภาพที่จะขายในต่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็น มิสทีน (เครื่องสำอางค์) สยามลาเท็กซ์ (หมอนยางพารา) ปานปุริ (สปา) เพราะเป็นสินค้าที่ลูกค้าชาวจีนต้องการมาก
“เราเชื่อว่าหากธุรกิจของไทยกล้าเข้ามาใช้แพลตฟอร์มมากขึ้น ก็ย่อมมีโอกาสทางการขายมากขึ้นเพราะส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยยังน้อย รวมทั้งเรายังสนับสนุนให้ร้านค้าในระบบของลาซาด้าท่ีมีความสามารถในการผลิตและบริหารจัดการได้มีโอกาสทางการขายให้แก่ลูกค้าชาวจีนด้วย”
ทางด้านของแพคเกจพิเศษที่ลาซาด้า ยูนิเวอร์ซิตี้ พัฒนาขึ้นมาใหม่นั้น ประกอบด้วย 6 ฟีเจอร์ใหม่ คือ
- User Interface ที่ออกแบบมาให้มีประสิทธิภาพทางการใช้งานที่ดีขึ้น
- คอร์สอบรมออนไลน์จากเทรนเนอร์ที่ได้รับการรับรองจากบริษัท
- ค้นหาง่ายขึ้นผ่านคีย์เวิร์ด
- หลักสูตรการเรียนรู้เริ่มต้นสำหรับมือใหม่
- ปฏิทินงานและหลักสูตรการอบรมที่ช่วยให้จดจำง่ายขึ้น
- เนื้อหาที่สนุกสนานและน่าสนใจ เพื่อการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ด้วยอีโคซิสเต็มส์ของลาซาด้าที่มีมากกว่าแค่คำว่าแพลตฟอร์ม เชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีกล้าที่จะเข้ามาเรียนรู้และใช้งานมากขึ้น ซึ่งบริษัทเน้นการสอนให้ผู้ขายตกปลาได้เอง มากกว่าการตกปลาให้ เพราะเรามีเครื่องมือทุกอย่างพร้อมแล้ว