ผู้หญิง ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อดีที่สุดในตลาดอีคอมเมิร์ซทุกช่วงอายุ เพราะสะดวก ราคาไม่แพง ไม่ต้องเดินทาง สาวๆ จึงนิยมที่จะสั่งซื้อผ่านมือถือ และตัวเลขในการช้อปก็เติบโตขึ้นทุกปี จากเมื่อ 5 ปีก่อนที่กลุ่มคนซื้อสินค้าไอทีบนเว็บไซต์ออนไลน์จะมีค่าใช้จ่ายต่อบิล เฉลี่ยที่ 500 บาท แต่ปัจจุบันค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายต่อบิลทั่วโลก อยู่ที่ 1,300 บาท และมีโอกาสเพิ่มขึ้นทุกปี
คุณธนิดา ชุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอี–คอมเมิร์ซประเทศไทยของปี 2561 ในประเทศไทยสร้างรายได้ประมาณ 118 พันล้านบาท
มีแนวโน้มจะพุ่งสูงถึง 139,000 ล้านบาทในปี 2562 นี้ ส่วนปี 2563 นั้นคาดการณ์ว่า จะเติบโตขึ้นอีก 15.3% ส่วนพฤติกรรมการซื้อขายผ่านแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั้น พบว่าประเทศไทยมีการช้อปปิ้งออนไลน์ด้วยสมาร์ทโฟนถึง 71% ถือเป็นอันดับ 3 ของโลก
การเติบโตดังกล่าว มาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตไปด้วย ทั้งจำนวนผู้ซื้อ ผู้ขายทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น
SHEconomy เป็นเมกะเทรนด์ที่สำคัญ
หลายคนอาจไม่คาดคิดว่ากลุ่มผู้หญิงแต่ละช่วงวัย จะมีความชอบและพฤติกรรมการช้อปที่แตกต่างกัน การเจาะตลาดผู้หญิงในแต่ละกลุ่ม จึงต้องใช้แนวทางที่แตกต่างกัน
จากสถานะทางสังคมที่ผู้หญิงเพิ่มบทบาทมากขึ้น มีอำนาจกำลังซื้อมากขึ้นทำให้ผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ทรงอิทธิพลและน่าจับตามอง โดยผลสำรวจพบว่า 85% ของยอดขายแบรนด์ต่างๆ นั้นมาจากกลุ่มผู้ซื้อผู้หญิง
และมีผู้หญิง 22% ที่ช้อปปิ้งออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง/วัน โดยในประเทศไทยเองกลุ่มผู้หญิงนับว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของลาซาด้าที่ต้องการผลักดันให้เติบโตมากขึ้นในแพลทฟอร์ม ทั้งในรูปแบบของผู้ซื้อและผู้ขาย
ไตรมาสแรกของปีนี้ ลาซาด้ามีลูกค้าผู้หญิงเพิ่มสูงขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่กลุ่มความงาม และกลุ่มแฟชั่นเป็น 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดสำหรับลูกค้าผู้หญิง คือ สินค้าความงาม 35.6% และแฟชั่น 28.9%
โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่ม LazInStyle ซึ่งเป็นแหล่งรวมแบรนด์ยอดนิยมบนโลกออนไลน์ มีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นถึง 60% นับตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา
หลายแบรนด์ของไทยสามารถสร้างยอดขายได้หลักล้านบาทต่อวัน เช่น แบรนด์ Copper.bkk สินค้าแฟชั่นเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิง ที่สามารถสร้างยอดขายได้ถึงหลักล้านในช่วงแคมเปญครบรอบ 7 ปีของลาซาด้า
สถิติเหล่านี้ทำให้เราเล็งเห็นถึงการเติบโตของพลัง SHEconomy อย่างต่อเนื่องและมั่นใจว่าจากความพร้อมของแพลทฟอร์มและการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่นี้จะสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าผู้หญิงได้เป็นอย่างดี
18-24 ปี โอกาสใหม่ของ LAZADA
สิ่งที่น่าแปลกใจคือ LAZADA บอกว่า ตนเองเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งในไทย แต่กลับยังมีสัดส่วนลูกค้าผู้หญิงช่วง 18-24 ปี น้อยกว่าที่คาดการณ์ ทำให้ต้องเกิดแคมเปญกระตุ้นตลาดครั้งใหญ่สำหรับผู้หญิงของปีนี้
“เรามองว่าการสร้างฐานลูกค้าในกลุ่มนี้ จะสร้างโอกาสที่ดีในอนาคต เปรียบเสมือนโอกาสที่จะ “โตไปด้วยกัน” รวมทั้งเป็นโอกาสที่จะขยายพฤติกรรมการซื้อไปในกลุ่มอื่นๆ มากขึ้น ไม่ใช่แค่แฟชั่นเพียงอย่างเดียว”
แม้ว่า ภาพรวมมูลค่าตลาดความสวยความงามจะอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% ทุกปี และในกลุ่มสินค้าแฟชั่นมีมูลค่าตลาดที่ 32,000 ล้านบาท แต่ก็ยังเชื่อว่าการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ยังมีโอกาสอีกมาก
นอกจากนี้ ยังเชื่อมั่นว่า การเน้นด้าน Innovation จะสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ในช่วง 18-24 ปี สนใจที่จะใช้งานแพลตฟอร์มมากขึ้น โดยในวันที่ 24-26 พฤษภาคมนี้ จะมีการจัดงานที่ชื่อว่า LAZADA Women Festival อินสไตล์ได้ทุกเทรนด์ โดยจะมีการนำกระจกเปลี่ยนลุคมาเปิดตัวครั้งแรกในไทยเพื่อให้สาวๆ นักช้อป สามารถเลือกซื้อสินค้าได้แบบไม่ต้องเสียเวลาลองชุด ตอบโจทย์ปัญหาสำหรับลูกค้าที่ต้องการลองชุดก่อนสั่งซื้อว่าเข้ากับบุคลิกของคุณหรือไม่
และยังมี See Now Buy Now ซึ่งเป็นกิจกรรมไลฟ์สตรีมแฟชั่นโชว์ .สำหรับลูกค้าที่กดสั่งสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นแบบเรียลไทม์ในขณะที่นางแบบ-นายแบบกำลังเดินอยู่บนเวที ถือว่าเป็นสีสันแบบ O2O ที่ยังไม่มีใครนำมาใช้งาน
Logistics ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เดินถึงเป้าหมาย
แน่นอนว่า สำหรับนักช้อปออนไลน์แล้ว นอกจากราคาสินค้าต้องถูก เรื่องของการส่งสินค้าได้ไวก็เป็นสิ่งที่ต้องการ ในประเทศจีน Alibaba สามารถจัดส่งสินค้าได้ภายในวันเดียวกันหลังมีออเดอร์การสั่งซื้อ ซึ่ง LAZADA ก็ต้องการที่จะปั้นสิ่งนี้ให้เกิดในไทย
ด้านอีโคซิสเต็มต่างๆ ของไทยค่อนข้างมีความพร้อมแล้ว ทั้งพฤติกรรมการใช้จ่าย ช่องทางการชำระเงินและสินค้าที่ได้มาตรฐาน แต่เรื่องของการจัดส่งยังต้องทำให้ดีขึ้น แม้ว่าเราจะมี LAZADA Express แต่ก็ยังมีร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการขยายโอกาสในการจัดส่งให้ดีขึ้นกว่าเดิม
โดยบริษัทจะเข้าไปสนับสนุนทั้งด้านเทคโนโลยี ระบบหลังบ้าน การบริหารจัดการ เพื่อให้พาร์ทเนอร์ทำงานได้ตามที่ลูกค้าคาดหวังเช่นเดียวกัน แต่หากรายใดไม่ผ่านมาตรฐานที่เราตั้งไว้ ก็จะต้องปรับปรุงให้ดี ซึ่งบริษัทพร้อมช่วยเหลือ
การแข่งขันของตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงดุเดือดทุกปี แม้ว่าเจ้าภาพที่จุดให้ตลาดนี้เติบโตจะไม่ใช่บริษัทของคนไทย แต่ก็หวังว่าการไม่ผูกขาดตลาดเพียงรายเดียว จะช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ SME ของไทย มีเวทีสร้างโอกาสและเม็ดเงินหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง