ในยุคที่เรามีเสิร์ชเอนจิน ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือร้ายต่อแบรนด์ หากมันได้ถูกจุดกระแสขึ้นบนโลกอินเทอร์เน็ตแล้วล่ะก็ มันจะถูกเสิร์ชหาได้ตลอดไป การทุบรถเพื่อประชดแบรนด์ ไปจนสถานการณ์ปัจจุบันที่ล้ำหน้าไปถึงจุดที่แบรนด์ออกมาฟ้องร้องลูกค้าเพื่อให้หยุดการกระทำที่อาจส่งผลต่อการทำตลาดของค่าย Mazda จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงกรณีนี้ได้พ้นด้วยเช่นกัน ถ้าเช่นนั้นแล้ว สำหรับประเทศไทยจะมีทางออกที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ต่อกรณีปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่องหรือไม่ “ร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” น่าจะเป็นคำตอบได้ดี
โดยสถานการณ์ปัจจุบันของ “ร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบรายละเอียดของกฎหมาย ซึ่งการมาถึงของ ร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า จะทำให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองที่มากขึ้นในกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนจากสินค้าที่ซื้อไปแล้วชำรุดบกพร่อง โดยมีเป้าหมายที่สินค้าที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีสูงอย่าง รถยนต์ หรือโทรศัพท์มือถือ
ที่น่าติดตามต่อไปก็คือ เนื้อหาของ “ร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” สามารถทำให้ข้อเรียกร้องของลูกค้าในกรณีรถยนต์ที่หลาย ๆ แบรนด์เผชิญมาก่อนหน้านี้กลายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วไปได้เลย เนื่องจากสาระสำคัญของกฎหมาย คือ กำหนดให้ผู้บริโภคที่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อมีสิทธิ์เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อ เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องต่อผู้ให้เช่าซื้อที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ กรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง ให้สถาบันการเงินในฐานะผู้ซื้อและเจ้าของกรรมสิทธิ์ โอนสิทธิทั้งหลายให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคที่เป็นเพียงผู้ใช้สินค้าได้รับสิทธิเรียกร้องกับผู้ขายได้โดยตรง
หรือในกรณีที่สินค้าเกิดการชำรุด และผู้บริโภคใช้สิทธิเรียกร้องไปแล้ว ต่อมามีการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าแต่ยังคงชำรุดอยู่ ก็ให้ผู้บริโภคมีสิทธิขอลดราคากับผู้ขาย หรือยกเลิกสัญญาซื้อขายได้ และให้ถือเป็นการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปด้วย ดังที่ปรากฏในมาตรา 6 ที่ระบุว่า กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดต่อความชำรุดบกพร่อง ให้ผู้บริโภคมีสิทธิดังต่อไปนี้
(1) เรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้าได้ตามมาตรา 7
(2) เลิกสัญญาหรือขอลดราคาตามมาตรา 8
(3) เรียกค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายตามมาตรา 9 (2) ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิตาม (2) และ (3) ได้ก็ต่อเมื่อได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้าไปก่อนแล้ว เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจได้ปฏิเสธที่จะซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าอย่างชัดเจน
ส่วนมาตรา 7 ระบุว่า ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกให้ ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้าอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ตามที่ผู้บริโภคต้องการ กรณีที่ผู้บริโภคเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้าให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการภายในระยะเวลาอันเหมาะสม โดยจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ ผู้บริโภคเกินจำเป็น และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นแก่การนั้น รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ
หรือมาตรา 8 ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลิกสัญญาหรือขอลดราคาตามสภาพอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ตามที่ผู้บริโภคต้องการ โดยจะต้องแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจทราบก่อนล่วงหน้าเจ็ดวัน แต่ผู้บริโภคไม่อาจจะใช้สิทธิเลิกสัญญาหรือขอลดราคาตามสภาพอย่างหนึ่งอย่างใดได้ หากปรากฏว่าความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเป็นความชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ส่วนผู้ประกอบการก็มีจุดที่กฎหมายปกป้องเอาไว้เช่นกัน ดังที่ปรากฏในมาตรา 10 ว่า ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับผิดในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ถ้าผู้บริโภคได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น ด้วยกลฉ้อฉล หรือผู้ประกอบธุรกิจได้ให้การรับประกันเกี่ยวกับคุณสมบัติของสินค้าที่ขายเอาไว้แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องนั้น
(2) สินค้าที่ผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการขายทอดตลาดตามคำบังคับของศาล
ข้อเสนอของลูกค้า Mazda ที่ขอให้บริษัทรับประกันเป็นเวลา 10 ปี หรือระยะทาง 500,000 กิโลเมตร กับรถที่มีปัญหาบกพร่อง แล้วทาง Mazda ออกมาบอกว่ามากเกินไป และขอต่อรองเหลือ 6 ปี หรือระยะทาง 180,000 กิโลเมตรจึงน่าจะไม่เกิดขึ้นอีก เมื่อเป็นเช่นนั้น การออกมาฟ้องร้องลูกค้าด้วยมูลหนี้ 95 ล้านบาทจนเป็นกระแสเชิงลบต่อแบรนด์ย้อนกลับมาทำลาย Mazda เองก็น่าจะไม่เกิดขึ้นได้อีกเช่นกัน
แต่จริง ๆ แล้ว ประเด็นนี้จะไม่เป็นปัญหาเลย หากการมองปัญหาของลูกค้าของทีม Mazda ไม่ออกมาในลักษณะนี้ คือถ้าเปรียบกับวงการเทคโนโลยี ไม่มีแฮกเกอร์คนไหน จะมาชี้จุดอ่อนของระบบให้นักพัฒนา แต่มาอีกทีก็คือระบบรั่ว โดนจับไฟล์ไปเรียกค่าไถ่เรียบร้อย
ดังนั้น กรณีนี้ต้องบอกว่าเป็นความโชคดีที่ Mazda มีลูกค้ามาชี้จุดอ่อนให้เห็น และการแก้ปัญหาให้ลุล่วงเป็นหน้าที่ที่ผู้ผลิตที่ดีพึงกระทำ ทั้งในแง่สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับผู้บริโภค และยังอาจหมายถึงการประหยัดงบประมาณอีกมหาศาลให้กับบริษัทแม่ที่อาจต้องเสียในอนาคตจากการไม่ปิดจุดอ่อนนี้ให้ได้ในวันนี้
การเดินเกมด้วยการฟ้องร้องผู้บริโภคจึงไม่ควรเกิดขึ้นด้วยประการทั้งปวง
แต่เมื่อเรามาถึงจุดนี้กันแล้ว นี่จึงอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องผลักดัน ร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าให้เกิดขึ้นโดยเร็วก็เป็นได้
ศึกษารายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าเพิ่มเติม
ข่าวสด
โพสต์ทูเดย์