สื่ออเมริกันวิจารณ์กรณี Lego รุ่นแรกที่สามารถเล่นได้พร้อมกับเทคโนโลยี AR การผูกตัวต่อสุดสร้างสรรค์เข้ากับโมบายเกมจนทำให้เด็กเหลือมือเดียวเพื่อเล่นตัวต่อนั้นถูกวิจารณ์ว่าเป็นสิ่งยอดแย่ จนอาจทำให้ก้าวใหม่ของ Lego เรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AR ถูกมองเป็นการเดิมพันในอนาคตที่ผิดพลาดทีเดียว
ทำไมต้องใช้ AR
1 ในสื่อที่วิจารณ์ Lego รอบนี้คือ FastCompany ซึ่งรายงานความเป็นไปของ Lego ว่าบริษัทของเล่นสัญชาติเดนมาร์กสามารถสร้างรายได้หลักพันล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรกในปี 2006 และอีก 10 ปีต่อมา บริษัทสามารถเพิ่มรายรับต่อปีเป็น 5,000 ล้านเหรียญได้สำเร็จในปี 2016 แต่แล้วฝันร้ายก็เริ่มมาเยือน เพราะปี 2017 บริษัทก็ประกาศรายได้ลดลง 8% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 13 ปีและมีการลอยแพพนักงาน 1,400 ราย ซึ่งซีอีโอคนใหม่ของ Lego เชื่อว่าสถานการณ์นี้จะยังไม่ดีขึ้นในเร็ววัน
ในสถานการณ์แบบนี้ Lego จึงพยายามปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่อย่าง AR มาปรับใช้ครั้งแรกผ่านกลุ่มสินค้าใหม่ที่ตั้งชื่อว่า Lego Hidden Side จุดนี้บริษัทบอกว่าใช้เวลากว่า 1 ปีครึ่งในการพัฒนา เพื่อจำหน่ายในราคาเริ่มต้นที่ 20 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 600 บาท
ชุดตัวต่อที่ออกแบบเป็นฉากตามเนื้อเรื่องที่สอดคล้องกับเกมบนมือถือนั้นไร้ที่ติตามมาตรฐานของ Lego เด็กๆจะได้สร้างฉากสำหรับเป็นที่อยู่ให้ผี AR เช่น ฉากสุสาน ฉากโรงเรียน หรือฉากรถบัส แต่ละชุดถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เด็กๆส่อง “ด้านที่ซ่อนอยู่” ด้วย AR ซึ่งต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันฟรีสำหรับใช้บน iPhone หรือ Android เพื่อให้เด็กน้อยเล็งโทรศัพท์ไปที่ฉาก Lego ที่สร้างขึ้น
ทั้งหมดนี้ Murray Andrews ผู้บริหารอาวุโสที่ดูแลสินค้ากลุ่ม Lego Hidden Side อธิบายว่าเพราะเด็กทั่วโลกกำลัง “เล่น” บนระบบดิจิทัลมากขึ้นต่อเนื่อง บริษัทจึงต้องการนำแกนหลักของ Lego มาสร้าง พัฒนา และปรับปรุงให้สินค้ามีความทันสมัย
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือการออกแบบการเล่นที่ผิดหลักอย่างมาก Fastcompany ยกตัวอย่างเกมล่าผีซึ่งเด็กจะต้องเล่นกับโมเดลด้วยมือเดียว ในขณะที่ต้องถือโทรศัพท์และล่าผีบนหน้าจอด้วยมืออีกข้าง การออกแบบมาให้เด็กเล่นตัวต่อด้วยมือข้างเดียวนั้นทำให้มีการปรับแต่งโมเดลเพื่อให้เหมาะกับมือข้างเดียวของเด็กที่จะล่นได้สะดวก
สิ่งที่ Lego ทำยังมีการรับเอาวัฒนธรรมของเกมออนไลน์มาด้วย เพราะเด็กจะสามารถใช้เงินสดเพื่ออัปเกรดคุณสมบัติให้ผีของตัวเองเก่งกาจมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีอุปกรณ์และพลังในการต่อสู้กับผีที่แข็งแกร่งกว่าได้
แม้การออกแบบเกมจะน่าดึงดูดทำให้เด็กไม่เบื่อ และมีการออกแบบปฏิสัมพันธ์ที่ชาญฉลาดระหว่างหุ่น Lego จำลองทางกายภาพและหน้าจอ แต่นักข่าว Fastcompany มองว่าเกมนี้ทำให้เด็กมีการสร้างสรรค์น้อยมาก ผิดธรรมชาติของ Lego ที่ช่วยเพิ่มพลังสร้างสรรค์ให้เด็กทั่วโลกมาก่อน
แม้ว่า Lego ไม่ได้สร้าง Hidden Side แบบโยนหินถามทาง เพราะตัวฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ได้รับการพัฒนาอย่างระมัดระวัง และมีการเปิดทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง 1,400 ครอบครัวใน 3 ประเทศ ที่ร่วมให้ข้อเสนอแนะก่อนที่ Lego จะเตรียมผลิตภัณฑ์สำหรับวางจำหน่ายในช่วงปลายฤดูร้อนปีนี้ 2019 แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ Lego รุ่นใหม่ถูกต่อต้าน คือเสียงที่มองว่า Hidden Side ไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือน “การเล่น” ที่แท้จริงซึ่งเด็กไม่ได้มีส่วนเลือกหรือกำกับ รวมถึงการแสดงความคิดสร้างสรรค์อย่างที่ Lego ดั้งเดิมทำได้ กรณีนี้จึงเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาสำคัญเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของธุรกิจให้ตรงกับความหวังของกลุ่มเป้าหมาย
ที่มา: : FastCompany
สั่งซื้อ Lego ออนไลน์ คลิกเลย