ผ่านไปแล้วกับปี 2013 อย่างเป็นทางการ หลายๆ คนได้พบเจอเรื่องราวต่างๆ มากมาย ทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไป แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั่นคือ ทุกเรื่องราวที่เข้ามาจะกลายเป็นประสบการณ์ชั้นดี และเป็นบทเรียนล้ำค้าเพื่อขัดเกลาให้เราเติบโตในวันข้างหน้าต่อไป สำหรับวันนี้เรามีบทความดีๆ จาก Guest Post หนึ่งในผู้ประกอบการที่คลุกคลีในแวดวง Startup มาช่วยรวบรวม “บทเรียนทางธุรกิจในปี 2013 จาก 12 ผู้ประกอบการชื่อดังของไทย” มาให้กับผู้อ่าน thumbsup กัน
Editorial note: บทความนี้คือบทความพิเศษที่เราเรียกว่า Guest Post จากจอมทรัพย์ (ลิงค์) สิทธิพิทยา โดยส่งมาให้กองบรรณาธิการ thumbsup อัพโหลดขึ้นให้ชาว thumbsup อ่านโดยเฉพาะ สิ่งที่ผู้เขียนได้เขียน ไม่สะท้อนแนวคิดของกองบรรณาธิการ thumbsup เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของคุณจอมทรัพย์เอง บทความนี้ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของผู้เขียน ซึ่งมี thumbsup เป็นผู้เผยแพร่เดียวที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ หากต้องการนำบทความไปใช้กรุณาให้เกียรติด้วยการอ้างอิงชื่อผู้เขียนและลิงก์ กลับมายังบทความต้นฉบับ
สำหรับวันแรกของปีใหม่ 2014 นี้ผมขอทำบทความพิเศษ โดยได้ขอให้บรรดาพี่ๆ เพื่อนๆ เหล่าเจ้าของกิจการให้มาแชร์บทเรียนทางธุรกิจที่ดีที่สุดได้เรียนรู้สำหรับปี 2013 ที่ผ่านมาครับ และต้องขอขอบคุณทุกท่านๆ ที่ยินดีแชร์บทเรียนล้ำค่าเหล่านี้ให้กับเราทุกๆ คนครับ บางคนถนัดเขียนมาเป็นภาษาไทย บางคนเป็นถนัดภาษาอังกฤษ ผมขออนุญาตไม่แปลนะครับ เพื่อคงความเป็นต้นฉบับเอาไว้ให้มากที่สุดครับ
1. Shakrit Chanrungsakul, founder & CEO of Fireoneone
“บทเรียนสำคัญทางธุรกิจในปี 2013 ผมยกให้เรื่องของ “คน” … ซึ่งมีทั้งที่น่าประทับใจมากและน่าเสียดายมาก … เห็นได้ชัดว่าโอกาสในการพัฒนาตัวเองระหว่างคนที่เก่งจริงและคนที่ดูมีทีท่าว่าจะเก่งนั้นยังมีโอกาสต่างกันอยู่เยอะ ซึ่งปัจจัยด้านทัศนคติที่ดี, ความอดทนและความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในงานและตัวของเขาเองจะส่งผลถึงโอกาสในการพัฒนาความสามารถของตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ … ปีนี้ได้เข้าใจอย่างมากว่าคนที่จะก้าวหน้าไปถึงจุดหมายกับคนที่จะติดหล่มทางความคิดนั้นเขาเดินทางต่างกันอย่างไร หวังว่าต่อจากนี้ไปจะได้เอาความรู้นี้มาช่วยชี้ทางให้น้องๆรุ่นต่อไปได้เห็นและเรียนรู้โดยตรง จะได้ไม่ต้องเสียเวลากันอีกหลายปี”
2. Kavin (Mickey) Asavanant, founder & CEO of Noonswoon
“บทเรียนที่สำคัญมากๆ ของผมปีนี้ ก็คือบทเรียนเรื่องของ “ทีมงาน” ว่าคนที่เราจะเลือกเข้ามาอยู่ในทีมด้วยนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในแต่ละบริษัท หรือในแต่ละทีม ก็มีมุมมองและ culture ที่แตกต่างกัน บางคนชอบคนที่มีระเบียบ แบบแผน ต้องรู้ว่าอีกฝ่ายทำอะไร ต้องมาตรงเวลา ออกตรงเวลา บางทีมชอบสบายๆ มาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าจะต้องทำอะไรให้เสร็จ ก็ถึงไหนถึงกัน เราต้องรู้ว่าสไตล์ของเราเป็นอย่างไร อย่างน้อยรู้ตัวเอง เวลาจะทำงานกับใคร หรือชวนใครเข้ามาร่วมด้วยจะได้ชวนคนที่เหมาะกับเรา
Startup จากประสบการณ์ของตัวผมนั้น ส่วนมาก Startup ที่จะตายไป ไม่ได้ตายจากคู่แข่ง แต่จะตาย เพราะทีมงานที่ไปด้วยกันไม่ได้หละครับ เมื่อไหร่ที่เราได้ทีมงานที่ทำงานเข้ากันได้ มีเป้าหมายเหมือนกัน สละโอกาสอื่นๆทั้งหมด และลงเรือลำเดียวกันแล้วนั้น มุมมองว่าเราจะทำงาน Startup นี้เพื่อใครมันก็จะเปลี่ยนไป มันไม่ใช่แค่ตัวเราเองเพียงเท่านั้นแล้ว เวลาที่ผมรู้สึกท้อ หรือขึ้เกียจขึ้นมา ใบหน้าของทีมงานคนอื่นๆของผม ก็จะลอยขึ้นมา งานของเรานั้น มันไม่ได้กระทบกับตัวเราคนเดียวอีกต่อไป มันยังกระทบกับทีมงานคนอื่นๆด้วย ว่าเขาก็ฝากความหวัง และอนาคตของเขาอยู่ที่เราเหมือนกัน พอคิดได้อย่างนี้ อุปสรรคจะเยอะขนาดไหน ยังไงก็ต้องสู้เต็มที่ ทำเพื่อตัวเอง พลังนั้นน้อยกว่าทำเพื่อคนอื่นๆ เยอะมากๆ ครับ”
3. Jay Jootar, chairman at The VC Group
“บทเรียนธุรกิจที่สำคัญที่สุดของผมในปีที่ผ่านมาก็คือ พนักงานที่ดีคือสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดของบริษัท และบริษัทจะได้รับคุณค่านั้นก็โดยการรับฟังความคิดเห็นดีๆของพนักงานในเรื่องต่างๆ และเอาความคิดดีๆมากลั่นกรองผสมผสานกับความคิดของเจ้าของกิจการให้เกิดการผสมผสานที่ลงตัวและเป็นแนวทางที่ดีของบริษัทในอนาคต อย่างน้อยๆในธุรกิจเทคโนโลยีต้องยอมรับว่าคนที่เด็กกว่าย่อมได้เปรียบในแง่ของการได้รับรู้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ไม่ถูกข้อจำกัดของความรู้เก่าที่เคยมีหรือเครื่องมือเก่าที่เคยใช้ ดังนั้นเจ้าของกิจการเทคโนโลยี (หรือแม้ธุรกิจด้านอื่นๆ) ควรต้องเปิดรับความคิดของเด็กรุ่นใหม่ และนำสิ่งที่ดี ที่เหมาะกับธุรกิจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางของบริษัท ที่ผ่านมาบริษัทผมได้แนวคิดดีๆมากๆหลายๆอย่างจากน้องๆ หลายๆความคิดได้มีส่วนมากำหนดทิศทางที่สำคัญของบริษัท ในปีหน้าและปีต่อไปผมจะหาวิธีให้น้องๆ ได้มีเวทีเสนอความคิดนี้มากขึ้นให้บริษัทเราได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ไปอย่างไม่หยุดยั้ง”
4. Worawoot Ounjai, founder of Officemate
“Biggest lessons learn in 2013 ของผมนั้น คือ การใช้ Social Network มาใช้ในขบวนการสื่อสาร และสั่งงานในการบริหารจัดการ เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้อย่างได้ผลในปี 2013 ที่ผ่านมาครับ..
ไม่ว่าจะด้วย Line หรือ Facebook เราสามารถทะลุข้อจำกัดในเรื่องของการสื่อสาร การควบคุมติดตามผลได้ง่ายและเร็วกว่าในอดีตมาก..ชึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นได้เพราะ Technology และ Lifestyle ของคนที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาไป..เราเพียงแต่ต้องประยุกต์ปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิธีคิดและวิธีการทำงานของทีมเท่านั้นครับ
ผลก็คือ เราสามารถเห็นปัญหาและแก้ปัญหาได้แบบ realtime กันทีเดียว ขณะเดียวกัน ทีมที่ทำงาน ก็จะเข้าใจปัญหาของฝ่ายอื่นๆ ได้มากขึ้นด้วย..ส่งผลให้ Team Spirit ขององค์กรดีขึ้นด้วยครับ”
5. Nikki Assavathorn, founder of MeetNLunch & founder of Avalable
“สิ่งหนึ่งที่นิกกี้ว่าสำคัญมากที่สุดของการทำ Startup คือ เรื่องทีมค่ะ ยิ่งโดยเฉพาะถ้าเราเป็น non-technical CEO แล้ว คนที่มาเป็น programmer และ CTO ให้กับเรานั้นสำคัญมาก ยิ่งบริษัทเล็กแล้ว คนที่เข้ามาต้องเก่งจริงและมีประสบการณ์จริง เพราะถ้าเราได้แต่จำนวนพนักงาน แต่ไม่มีใครเก่งจริงหรือเคยทำมาก่อนก็จะไปไม่รอดค่ะเพราะมันไม่มีเวลามานั่งเรียนรู้ Startup เล็กๆต้องมาแข่งกับบริษัทที่ได้ fundingใหญ่ๆมากมาย คู่แข่งเราไม่ได้อยู่ระดับประเทศ แต่เป็นระดับโลกค่ะ”
6.Nopphorn Danchainam, founder & CEO of Digio Thailand
“บทเรียนธุรกิจสำคัญสำหรับผมปีนี้ขอยกให้หนังสือ “Rework” ครับ Rework เป็นหนังสือที่ผมชอบมากเป็นพิเศษ เพราะประสบการณ์กับสิ่งที่อยู่ในหนังสือ ค่อนข้างใกล้เคียงกัน และคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะกับลักษณะของ Startup บ้านเรามากกว่าแนวทางที่นิยมกันเช่นการ Raise Fund ใน Early Stage (ช่วงตั้งตัว) คือพยายามทำให้มีกำไรตั้งแต่วันแรกที่ทำธุรกิจด้วยทุนที่มีอยู่หรือไม่มีเลย ไม่เช่นนั้นต่อให้มีเงินทุนมากมาย แต่เราจะขาดองค์ประกอบของการทำธุรกิจที่ถูกต้อง การทำ Bootstrapping มีความหมายมากกว่าเรื่องใช้เงินให้น้อย แต่มันคือการสะสมความพร้อมของทีมงาน ประสบการณ์ ทักษะ แผนธุรกิจ ซึ่งเป็นแนวทางที่เครียดน้อยกว่าการที่มีเงินแต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรแล้วจะประสบผลสำเร็จแน่นอน และเมื่อเราสามารถ Bootstrapping ธุรกิจไปพร้อมๆ กับการเป็น Lean Startup นั่นหมายถึงทุก ๆ สิ่งที่เราลงแรงทำลงไปนั้นมีความหมายและเป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าที่สุด แปลว่าเราจะเป็น Low Burn Startup ที่มีโอกาสดำเนินธุรกิจอย่างมีความสุขมากกว่า”
*ขยายความเพิ่มเติม คำว่า Bootstrapping คือ การช่วยเหลือตัวเองครับ ใช้เงินของตัวเองที่มีอยู่เป็นเงินหมุนเพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ครับ คือ การใช้เงินส่วนของผู้ถือหุ้นในการดำเนินกิจการในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจ
7. Natavudh Pungcharoenpong, co-founder & CEO of Ookbee
- Hire great people, Build a core team. — You need a core team who you can depend on creating something significant. The team should be able to adapt to changing market condition. And it”s always a good idea to hire a great people even you still don”t know what role they will be filled in your team.
- There were many times at Ookbee when the good people we hired ended up doing a totally different thing from what we initially hire him for. Great people is an asset and will definitely contribute a solutions to problems wherever you put them in.
- Be creative and find time to think. — ”that”s what everyone else is doing” It is easy for everyone in the startup community to get fought up to that thinking. While it”s true that doing so will get things done , it would probably also put you in the same position as everyone else. In order to achieve something different, we need to do things differently.
- Find some alone time to think. When you are working hard meeting people, replying e-mails, talking on the phone. Suddenly, a week has gone without time to actually think. In some case, new ideas come from doing or experiencing something different. For example, some of my best ideas has come from visiting new places or meeting people from a different field of work.
- Know what make you happy and commit to doing it. — Building your startup, doing something you love and building product you are passionate about, I believe, is one of life”s greatest rewards.
8. Sittipong Sirimaskasem, founder & CEO of RGB72
“ถูก เร็ว ดี คือสิ่งที่ลูกค้าทุกคนต้องการ อันนั้นเราทุกคนรู้ดี และเราก็รู้อีกว่าเราไม่สามารถให้ลูกค้าได้ทั้งหมดที่เค้าต้องการ สองในสามสิ่งนั้นสามารถยืดหยุ่นได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ยืดหยุ่นไม่ได้เลย ก็คือ “เวลา” เพราะทุกครั้งที่มีการปรับเปลี่ยนเรื่องเวลา มักมีผลกระทบกับสิ่งอื่นๆตามมาเสมอ แต่คนส่วนใหญ่กลับทำอะไรตรงกันข้าม ไปเน้นเรื่อง งาน และ เงิน มากกว่าเวลา ซึ่งนั่นทำให้เกิดผลในแง่ลบระยะยาว การพยายามเปลี่ยนจากการจัดเวลาให้เพียงพอกับงาน กลายเป็นจัดงานให้พอดีกับเวลาจึงเป็นสิ่งที่เราพยายามทำในปีที่ผ่านมา คือ เอาเวลาเป็นตัวตั้ง แล้วเอางานเข้ามาใส่ ซึ่งแม้มันจะเป็นเรื่องยาก และไม่สามารถทำได้ perfect ดีภายในระยะเวลาอันสั้น แต่มันก็เป็นการทำงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ ผลสรุปรวมของปีที่ผ่านมาจึงเป็นที่น่าพอใจมาก และปีหน้าเรามั่นใจว่าจะทำให้ได้ดีกว่าเดิม ปรับเปลี่ยนระบบการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวมักจะเป็นเรื่องยากกว่าการแก้ไขปัญหาระยะสั้น แต่เมื่อทำได้แล้ว ความสำเร็จนั้นก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนครับ”
9. Vachara Aemavat, founder & CEO of Computerlogy
“Certain personality types are luckier because they behave in a way that maximizes the chance for good opportunities.
By being more outgoing, opening to the new ideas, following hunches, and being optimistic, lucky people create possibilities.”
10. Thanachot Wisuttismarn, founder & CEO of Infographic Thailand
- Product Market Fit สำคัญที่สุด – สมัยทำ Memblr พยายาม Sales และ Marketing อย่างมาก แต่ไม่เคยได้รับความสนใจ – แต่พอทำ Infographic ไม่เคยต้องทำ ทั้ง Marketing และ Sales ไม่เคยต้องวิ่งหาลูกค้าเลย
- Be the 1st of Mind – ถ้าเราสามารถทำให้ผู้คนเชื่อมั่น และคิดถึงเราเป็นอันดับแรกในธุรกิจของเราได้ หลังจากนั้น ง่ายนิดเดียว
- เรากำลังอยู่ในยุคของ Multi-option คือ มีตัวเลือกสินค้า และบริการที่หลากหลาย – ให้เลือกตลาดที่เราเชี่ยวชาญ เน้นทำมันให้ดีจริงๆ ก็พอแล้ว – ที่สำคัญ การตั้งชื่อ ที่บอกถึงความเชี่ยวชาญ ยิ่งดี เค้าจะได้มั่นใจ
- Power of Connection – รู้อะไรก็ ไม่สำคัญเท่ารู้จักใคร – ถ้าเราได้รู้จักคนที่ถูกต้อง ที่เป็น key ของธุรกิจเราแล้ว หลังจากนั้น ง่ายนิดเดียว
- Work with Customer as same team – ทำงานกับลูกค้า เหมือนเราเป็นทีมเดียวกัน – ทำงานเหมือนทำงานของตัวเอง เมื่องานออกมาดี ลูกค้า ก็จะช่วยบอกต่อ ทำให้ ไม่ต้องหางานเองเลย
- Cashflow & Payment – สำคัญมากๆ เลย ต่อให้ธุรกิจ ดีแค่ไหน ถ้า ไม่มีเงินหมุนพอ ก็ไม่สามารถขยายได้
11. Natsakorn Por Kiatsuranon, founder & CEO of Shopspot
“ทีมสำคัญที่สุด! ในการทำธุรกิจ เราคงไม่สามารถเป็น one man show ได้ และหนึ่งในหน้าที่ที่สำคัญเป็นลำดับต้นๆของผู้นำคือการสร้างทีม ทีมที่ดีประกอบด้วยคนที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน มีทักษะเกื้อหนุนกัน และทำงานสนับสนุนกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหนึ่งเดียวกัน หน้าที่ของผู้นำคือทำให้ทุกๆคนในทีมมีความภาคภูมิใจ และประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนเองทำ ซึ่งจะก่อให้เกิดความสำเร็จโดยรวมขององค์กรต่อไป ปี 2013 ที่ผ่านมาถือว่าได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของทีมและการดูแลคนในทีมมากขึ้น ในวันที่ดีทุกคนจะยิ้มแย้มมีกำลังใจ แต่หากมีใครที่รู้สึกแย่ก็จะส่งผลกระทบให้คนอื่นๆ ไม่สบายใจไปด้วย ดังนั้นเมื่อใดที่เกิดข้อผิดพลาดและส่งผลต่อขวัญกำลังใจของคนในทีม เมื่อนั้นสมาชิกต้องช่วยเหลือกันและหาทางแก้ร่วมกัน อย่าปล่อยให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีในการทำงาน หวังว่าปีม้า ปี 2014 นี้จะเป็นปีที่ทุกคนเติบโตและเข้มแข็งพอที่จะฟันฝ่าวันที่ไม่ดีไปด้วยกัน”
12. Brad Phaisan, founder & CEO of Social Nation (USA)
“สิ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญที่สุดของผมปีนี้ คือ จะทำอะไรให้นึกถึงลูกค้าเป็นหลักเสมอ เวลาทำอะไรให้นึกถึงลูกค้าเป็นหลัก หลายๆ ครั้งมันง่ายกว่าที่เราจะเอาความคิดของตัวเองเป็นหลัก แต่หลายครั้งลูกค้าไม่ชอบเหมือนเรา ไอเดียที่ดีจึงควรโฟกัสที่ปัญหาของลูกค้าและเข้าใจในความคิดของลูกค้าจริงๆ ครับ”
หวังว่าบทเรียนทางธุรกิจล้ำค่าจากเหล่าผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้นำมาแชร์นี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆ หลายคนในการทำธุรกิจและสำหรับคนที่ไม่ใช่นักธุรกิจก็สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เช่นเดียวกันครับ สวัสดีปีใหม่ 2014 ครับ
เครดิตภาพ doggeiger