อัปเดทความคืบหน้าครั้งใหม่ของ Uber ล่าสุดยูนิคอร์นในวงการแอปเรียกรถร่วมเดินทางประกาศเทเงินมหาศาลซื้อกิจการ Careem แอปคู่แข่งที่ให้บริการในตะวันออกกลาง ความน่าสนใจของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่โอกาสในการกินรวบตลาดอาหรับเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่จดหมายถึงพนักงาน ที่ CEO ดาวรุ่งอย่าง Uber เขียนไว้ได้ดีทีเดียว
กรณี Uber ซื้อ Careem นั้นมีข่าวลือมาก่อนหน้านี้ จนล่าสุด Uber ยืนยันว่าได้เข้าซื้อคู่แข่งบริการรถร่วมเดินทางในตะวันออกกลางแล้วด้วยมูลค่า 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 98,300 ล้านบาท โดย Careem นั้นก่อตั้งขึ้นในปี 2012 สถิติผู้ใช้ล่าสุดคือ 30 ล้านรายใน 120 เมืองทั่วแอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้
การตัดสินใจครั้งนี้จะทำให้ธุรกิจ Uber เติบโตก้าวกระโดดในหลายเมือง ตั้งแต่ดูไบไปจนถึงการาจี ประเทศปากีสถาน โดยรายระบุว่า Uber จะจ่ายเงินสด 1,400 ล้านดอลลาร์ ส่วนที่เหลืออีก 1,700 ล้านดอลลาร์จะกลายเป็นการกู้แบบแปลงสภาพหรือ convertible note อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงยังต้องรอการอนุมัติตามกฎระเบียบ คาดว่าจะไม่สามารถปิดดีลอย่างเป็นทางการจนถึงต้นปี 2020
จดหมายชัด “ปากีสถาน” ตลาดโตเร็วสุด
ในช่วงเวลาไม่นานก่อนที่ Uber จะยืนยันข่าวการซื้อกิจการต่อสาธารณชน Dara Khosrowshahi ประธานผู้บริหาร Uber ได้ส่งอีเมลถึงพนักงานทุกคนในบริษัท อีเมลนี้จั่วหัวเรื่องว่า “Accelerating in the Middle East” ซึ่งตอกย้ำแนวทางจริงจังของ Uber ในการเร่งเติบโตที่ตะวันออกกลาง ภายในอีเมลระบุว่าปากีสถานคือหนึ่งในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกของ Uber
Dara ระบุในอีเมลว่า Uber เปิดตัวในตะวันออกกลางมานานกว่า 5 ปีแล้ว ตลาดนี้ทำให้บริษัททึ่งมากเพราะมีนักเดินทางและผู้ขับขี่หลายล้านคนที่มองหาวิธีใหม่ในการเดินทาง การเติบโตรวดเร็วนี้ทำให้ตลาดตะวันออกกลางกลายเป็นตลาดที่สำคัญมากสำหรับ Uber ซึ่งไม่เพียงปากีสถานที่ได้ชื่อว่าหนึ่งในพื้นที่ที่ Uber เติบโตได้เร็วที่สุดในโลก ยังมีกรณีที่ผู้หญิงจำนวนมากพร้อมใจลุกขึ้นมาขับรถกับ Uber ทั่วซาอุดิอาระเบีย
ที่ผ่านมา Uber เปิดบริการเพื่อตอบโจทย์ตลาดที่ขยายตัวด้วยการเลือกกรุงไคโร เพื่อเปิดตัวบริการ Uber Bus ครั้งแรกเมื่อปลายปี 2018 ซึ่งล่าสุด Uber กำลังก้าวไปอีกขั้นในตลาดนี้แบบกระโดดสูง เพราะ Uber ตัดสินใจซื้อกิจการ Careem โดยจะเปิดกว้างให้ Careem ดำเนินกิจการอย่างอิสระภายใต้การนำของ Mudassir Sheikha
Mudassir Sheikha เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอคนปัจจุบันของ Careem นอกจาก Mudassir ผู้ที่มีส่วนทำให้ Careem โดดเด่นยังมี Magnus Olsson ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอีกราย
ยกย่องแบบเรียบง่าย
CEO คนเก่งระบุในอีเมลว่า สิ่งที่ทีมผู้ก่อตั้ง Careem สร้างขึ้นนั้นไม่ธรรมดา โดยยกให้คนกลุ่มนี้เป็น first-class entrepreneurs หรือนักคิดชั้นยอดที่มีวิสัยทัศน์ในการสร้างแพลตฟอร์มตรงกันกับ Uber โดยบอกว่าผลงานของ Careem ไม่แตกต่างจาก Uber เรื่องการหมั่นเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่การชำระเงินดิจิทัล ไปจนถึงการจัดส่งอาหาร เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภค
การยกย่องที่เรียบง่ายแต่เข้าใจได้ทันทีถือเป็นกรณีศึกษาที่ผู้บริหารควรทำความเข้าใจ เพราะ CEO ของ Uber ชี้แจงความคิดของผู้บริหารแบบตรงไปตรงมา แถมยังเอาใจใส่พนักงานว่า ทุกคนย่อมอยากรู้ถึงโครงสร้างหลังการควบรวมกิจการ จุดนี้ Dara จึงเล่าถึงการอนุญาตให้ Careem ทำงานภายใต้แบรนด์ของตัวเองต่อไปอย่างอิสระ ซึ่งจะแยกกันจาก Uber โดยสิ้นเชิง
“หลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว เราตัดสินใจว่ากรอบการทำงานนี้ (แบบแยกกัน) มีข้อได้เปรียบให้เราสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่และลองใช้แนวคิดใหม่ ๆ ผ่านแบรนด์ที่แข็งแกร่งถึง 2 แบรนด์ ไม่ใช่แบรนด์เดียว โดยที่ทั้ง 2 แบรนด์มีทีมที่แข็งแกร่งอยู่ภายใน”
อย่างไรก็ตาม CEO หนุ่มย้ำว่าในอนาคต Uber จะมีการรวมส่วนต่างๆบนเครือข่ายเข้าด้วยกัน ทำให้ทั้ง 2 แบรนด์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถขยายผลิตภัณฑ์ใหม่โดยไม่ต้องใช้เวลานาน จุดนี้ Dara มีการขยายฝันถึงโครงการยานพาหนะความจุสูง บริการชำระเงิน และการเร่งพัฒนานวัตกรรมอื่นที่โดดเด่นซึ่งจะได้เห็นชัดเจนในหลายภูมิภาค
Dara ยังย้ำว่าการซื้อกิจการนี้ยังต้องรอการอนุมัติด้านกฎระเบียบในหลายประเทศ ทำให้คาดว่าดีลนี้จะยังไม่สามารถปิดได้ก่อนไตรมาสที่ 1 ปี 2020 เบื้องต้น Dara ขอให้พนักงานวางใจว่าจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ และเนื่องจากทั้ง 2 บริษัทจะยังคงดำเนินงานส่วนใหญ่แยกจากกัน ซึ่งหลังจากการซื้อกิจการจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในการดำเนินงานแบบประจำวันของทั้ง 2 ทีม
สิ่งที่ Dara ไม่ลืมคือการหยอดคำหวานว่า ข่าวการรวมกิจการถือเป็นเครื่องยืนยันถึงธุรกิจที่เหลือเชื่อซึ่งเป็นผลงานจากทีม Uber ที่ร่วมกันสร้างมา เชื่อว่าดีลที่เกิดขึ้นเป็นจุดเปลี่ยนที่ดีสำหรับตะวันออกกลาง สำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สำหรับ Careem และสำหรับ Uber
ต้นตื่นเต้น กลางกลมกลืน จบประทับใจแบบนี้ เชิญอ่านต้นฉบับได้จากที่มา
ที่มา: : Fastcompany