เราทุกคนอยู่กับโควิดมา 1 ปี 6 เดือนแล้วนะครับ นับตั้งแต่มีการระบุว่ามีโรคนี้ครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น จากนั้นมันก็ลามเลียไปทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลก ในสถานการณ์โควิด ผมเชื่อว่าชีวิตบางคนก็ ‘รุ่ง’ บางคนก็ ‘ริ่ง’ ใช่ไหมครับ? นักวิเคราะห์หลายๆ สำนักต่างออกมาให้ความเห็นกันในหลากหลายมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง และแม้กระทั่งชีวิตประจำวัน สำหรับผมเองก็เป็นช่วงที่บอกตรงๆ ว่าช่วงแรกในปีที่ผ่านมาก็ ‘ริ่ง’ ทำธุรกิจอยู่ดีๆ ก็เจอ COVIDSRUPTION ซึ่งหนักยิ่งกว่า Digital Disruption เสียอีก
ที่ผมบอกว่ามันหนักกว่า เพราะอย่างตัวผมเอง ชีวิตการทำงานมันเติบโตมาจากการทำงานที่เป็น Digital อยู่แล้ว ผมอยู่กับกระแสการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด เลยเข้าใจว่า Digital มันเปลี่ยนชีวิตคนอย่างไร ก็ยังพอรับมือได้ แถมยังสนุกไปกับมันเสียอีก หรือถ้าเทคโนโลยีตัวไหนที่ผมยังไม่ได้กระจ่างแจ้งมาก ก็ยังโชคดีมีเพื่อนๆ รอบตัว ก็ยังถามไถ่กันได้ว่าเทคโนโลยีแต่ละตัวมันทำงานอย่างไร เราจะเอามันมาใช้อย่างไร ผมเลยเขียนเรื่องเหล่านี้มาเรื่อยๆ จนช่วง 5 ปีหลังมานี่พอมาทำธุรกิจที่ปรึกษา ชีวิตผมอยู่กับการลงมือทำ ทำ ทำ ทำ ทำ แล้วก็ทำ ซึ่งส่วนใหญ่มันก็เป็นการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เหมือนที่ผมกับเพื่อนๆ เขียนกันมา 10 ปีแล้วนั่นล่ะ
แต่พอโควิดมานี่เป็นใครก็ตั้งตัวไม่ทันครับ
มันเป็นครั้งแรกในช่วงชีวิตเรา… ที่เราต้องรับมือกับอาการโรคระบาดร้ายแรงระดับโลก
มันเป็นครั้งแรกในช่วงชีวิตเรา… ที่เราต้องทำงานจากที่บ้าน เพื่อทำให้คนรอบตัวเราและตัวเราปลอดภัย
เป็นครั้งแรกในช่วงชีวิตเรา… ที่เราต้องเห็นคนรอบตัวเราติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตไปทีละคนสองคน
จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เลยทำให้ผมกลับมาคิดเรื่อง start with why แบบที่ Simon Sinek เขาว่าไว้ว่าเราควรจะต้องรู้ว่า เราทำสิ่งที่เราทำอยู่ไปทำไม การเขียนเรื่องต่างๆ ใน thumbsup นี่ก็เหมือนกัน ถ้าผมจะเขียนอะไรสักอย่าง ผมก็อยากจะเขียนให้มันมีประโยชน์กับชีวิตคน ไม่ได้อยากเขียนเพื่อให้คนรับรู้และเข้าใจกระแส Digital อย่างเดียวเหมือนที่เคยทำมา เพราะเอาเข้าจริงๆ ทุกวันนี้ Digital มันกลายเป็นเรื่องปกติ หรือที่เขาพูดกันว่า New Normal ไปหมดแล้ว
แต่ ในโลกดิจิทัล
- ถึงเราจะรู้จัก Automation มากแค่ไหน ถ้าเอามาทำให้ชีวิตคนดีขึ้นไม่ได้ ก็คงไร้ประโยชน์
- ถึงเราจะพูดเรื่อง Data และ AI มากแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าชีวิตคนดีขึ้นไม่ได้
- ถึงเราจะ Boost ad เก่งแค่ไหน ถ้าเอามาทำให้ชีวิตคนดีขึ้นไม่ได้ ก็คงไร้ประโยชน์
- ถึงเราจะทำ Content เก่งแค่ไหนก็สิ้นหวัง ถ้า Content ของเราไม่ได้ทำให้ชีวิตคนดีขึ้นเลย
- ถึงเราจะขายได้มากเท่าไหร่ มันก็เท่านั้นถ้าธุรกิจที่เราทำมันไม่ได้ทำให้ชีวิตคนดีขึ้นเลย
ผมเลยคิดว่า นอกเหนือจากการหาเงินเฉยๆ เราอยู่ในยุคที่เราต้องการธุรกิจที่ดี ยั่งยืน และยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงด้วย
อาจจะฟังดูอุดมคติ แต่โควิดเปลี่ยนวิธีคิดผมไปหมดครับ ผมก็เลยคิดว่าจากนี้ถ้าจะเขียนอะไร ผมคงอยากเขียนในสิ่งที่ผมคิดว่ามันมีประโยชน์ ผมคงอยากเขียนในสิ่งที่มันทำให้ชีวิตคนดีขึ้น ง่ายขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุด มันต้องไม่ทำร้ายใคร มันยังคงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ มันยังคงเกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่มิติที่ผมจะหยิบยกมาคุยกับคุณมากขึ้น คือธุรกิจและเทคโนโลยี และความยั่งยืนที่จะมีผลกระทบเชิงบวกต่อชีวิตคน
ทำไมอยู่ๆ เรื่องชีวิตคน และความยั่งยืนถึงโผล่เข้ามา?
จากรายงานของ IndustryWeek ระบุว่า 54% ขององค์กรทั่วโลกได้ทำกระบวนการ Digital Transformation แล้ว และ 58% กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลง และการมุ่งเน้นไปที่ความเอาใจใส่ในประสบการณ์ของลูกค้าจากการ support ด้านเทคโนโลยี มีความเกี่ยวโยงกับ Customer Experience ที่ทำให้บริษัทต้องมองถึงการสร้าง Empathy ให้มากขึ้น เพื่อที่จะผลักดันไปสู่ next level ของการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ
ในบทความของ The Enterprisers Project ก็มองว่า Empathy หรือการเอาใจใส่คนเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าเราเข้าใจลูกค้า ตลอดจนพนักงานของเราเอง เราก็จะมี insight ที่นำไปปรับปรุงสินค้าและบริการของเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เอาไปปรับให้เราตอบสนองลูกค้าได้ดีขึ้น
หรือพูดง่ายๆ ว่า มันเป็นทั้งเรื่อง ‘คน’ และเรื่อง ‘เทคโนโลยี’ ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นร้านขายของ เราควรให้ความสำคัญกับวิธีที่มนุษย์โต้ตอบกับแพลตฟอร์มขายของแบบอีคอมเมิร์ซของเรา เราจึงต้องปรับ UX, UI ให้มันใช้งานได้ง่าย (หรือจะคิดแบบหลุดคือเป็น Non-UI Commerce สั่งผ่านเสียงเลยก็ได้) ตัวระบบและกระบวนการต่างๆ หลังบ้านก็จะต้องทำให้คนมีชีวิตที่สะดวกขึ้น จัดส่งไวขึ้น และทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงเป็นระดับที่เกินกว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ทำ Brand Communication เพียงอย่างเดียว
นอกเหนือไปจาก trend ของต่างประเทศ เราย้อนกลับมาที่บริบทแบบไทยๆ กันบ้าง
ผมไปเจอบทความน่าสนใจของทางธนาคารแห่งประเทศไทย โดย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านได้พูดถึง ธุรกิจไทยปรับตัวอย่างไร ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก แบ่งออกเป็น 4 เรื่อง ประกอบด้วย
- เทคโนโลยี
- ห่วงโซ่การผลิต
- ภาวะโลกร้อน
- การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
เทคโนโลยี
ดร.วิรไท กล่าวว่าจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการส่งเสริมระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-payment ทำให้คนไทยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการโอนเงินต่างธนาคาร แต่การทำธุรกรรมบนโลกดิจิทัลสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการใช้ชีวิตและพฤติกรรมการใช้จ่ายของคน ทำให้ปัจจุบันสถาบันการเงินเริ่มมีการพูดถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อจากข้อมูลการใช้โทรศัพท์และการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งเริ่มมีเรื่องของ data privacy เข้ามาเกี่ยวข้องรวมถึงความปลอดภัยขอข้อมูลส่วนบุคคล
บทสรุปสุดท้าย ยังคงพูดถึงการส่งเสริมให้คนเร่งปรับตัว รับกับการเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัล
เรื่องแรก คือ เทคโนโลยี ที่กำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมากประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก สามารถตอบโจทย์หลากหลายด้วยต้นทุนที่ถูกลงมาก เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การซื้อของและการทำธุรกรรมทางการเงินมาอยู่บนสมาร์ทโฟน เทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายทำให้เกิดเศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน (sharing economy) ธุรกิจต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพยากรเอง สามารถใช้ร่วมกันได้ นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีอีกมากกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจในโลก ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์สามมิติ Artificial Intelligence (AI) machine learning หรือเทคโนโลยีชีวภาพ เรียกได้ว่าไม่มีธุรกิจใดที่จะไม่ได้รับประโยชน์และผลกระทบจากเทคโนโลยีที่นับวันจะยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น
ห่วงโซ่การผลิต (supply chain)
เมื่อระบบอัตโนมัติ (automation) และหุ่นยนต์สามารถทำงานแทนคนได้เกือบทั้งหมด ทำให้หลายธุรกิจซึ่งเดิมกระจายขั้นตอนการผลิตไปหลายจุดทั่วโลก ย้ายกลับมาผลิตในภูมิภาค (regionalization) มากขึ้นหรือดึงกลับไปผลิตภายในประเทศปลายทาง (onshoring) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้เร็วขึ้น การเปลี่ยนแปลงด้านนี้ สำคัญมากเพราะประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดที่พึ่งพาการ ส่งออก และภาคอุตสาหกรรมไทยก็เป็นส่วนหนึ่งใน supply chain ของโลกด้วย นอกจากนี้ ภาคบริการจะมีบทบาทมากขึ้นใน supply chain ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ ทรัพย์สินทางปัญญา หรือบริการหลังการขาย กิจกรรมบริการจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าทำให้ธุรกิจมีอำนาจต่อรองเรื่องการตั้งราคา
ภาวะโลกร้อน
ในปี 2562 บางพื้นที่ในประเทศไทยประสบทั้งภัยแล้งรุนแรงและน้ำท่วมฉับพลันในเวลาใกล้กัน น้ำสะอาดจะเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในอนาคต เรื่องเหล่านี้เป็นความเสี่ยงโดยตรงต่อธุรกิจและกระทบกับคนทั้งโลก นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทางอ้อมที่อาจเป็นผลต่อเนื่องมาจากกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ และความคาดหวังของสังคมถึงมาตรฐานในการทำธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เรายังสังเกตุได้ว่ามีผลสำรวจของหลายสำนักความคิดต่างยืนยันความคิดเห็นคล้ายๆ กันว่าคนยุคใหม่เริ่มให้ค่ากับแบรนด์ที่ทำประโยชน์ให้กับโลก และมีปัจจัยความยั่งยืนมาเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญในการพิจารณาเลือกซื้อเลือกใช้สินค้าและบริการของแบรนด์นั้นๆ การจะเป็นธุรกิจที่ดีได้ในยุคนี้จึงหลีกหนีการสร้างความยั่งยืนไม่พ้น
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
ในปี 2578 เราจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยมาก (hyper-aged society)1 จะมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นและคนวัยทำงานน้อยลง โครงสร้างแรงงานที่เปลี่ยนไปทำให้การทำธุรกิจรูปแบบเดิมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากอาจไม่เหมาะสมอีกต่อไป โครงสร้างตลาดและการบริโภคของประชาชนก็จะเปลี่ยนไปมากด้วย
– – – – –
จากข้อมูลทั้งหมดที่ร่ายมานี้ ผมเพียงแต่อยากจะบอกว่า เรื่องราวธุรกิจดิจิทัลที่พวกเราในกองบรรณาธิการ thumbsup นำเสนอมาตลอด 10 ปีนั้น เราจะยังคงทำอยู่ แต่แนวทางที่เราจะเดินต่อจากนี้ จะมีเรื่องของคนเกี่ยวข้องมากขึ้น เพราะท้ายที่สุด ไม่ว่าเราจะทำเทคโนโลยีมาสร้างประสิทธิผลให้กับธุรกิจมากเพียงไร เราก็ทำไปเพื่อความสุข ความยั่งยืนของคนอยู่ดี เราจึงต้องการเห็นธุรกิจที่ดี ยั่งยืน และยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง
ขอบคุณที่ติดตามกันมาตลอดครับ