เราคงเคยได้ยินเคสที่ประสบความสำเร็จของแบรนด์สินค้าแฟชั่นที่เขยิบจากโลกออฟไลน์มาสู่โลกออนไลน์ในช่วงไม่กี่ปีมานี้กันมากมายจนจำไม่หวาดไม่ไหว แต่มาร์เก็ตเพลสสำหรับเสื้อผ้าแฟชั่นที่สร้างโดย “ซอฟต์แวร์กราฟิก” เพื่อจำหน่ายให้กับ “อวาตาร์” ในเกมต่าง ๆ นั้น ปี 2018 อาจเป็นปีที่จะตัดสินชะตาของธุรกิจนี้ว่าจะอยู่หรือไปก็เป็นได้ค่ะ
โดยเจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง Linden Lab ซึ่งเป็นผู้พัฒนากมเวอร์ชวลที่มีผู้เล่นหลักล้านคนอย่าง Second Life ได้พัฒนา Sansar ขึ้นมาในฐานะ “next-generation virtual world” และได้เชิญนักสร้างคอนเทนต์สามมิติที่มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะแพลตฟอร์มด้าน Social VR เมื่อไม่นานมานี้ โดยสิ่งหนึ่งที่ Sansar จะเป็นได้สำหรับ Linden Lab ก็คือการเป็นมาร์เก็ตเพลสสำหรับคนที่รักในโลกเวอร์ชวลให้สามารถสร้าง แชร์ หรือขายผลงานเหล่านั้นบนโลก Virtual Reality ได้อย่างสะดวกมากขึ้น
เพื่อการนั้น Sansar ได้จับมือกับ Marvelous Designer เทคโนโลยีสำหรับการออกแบบงาน CG เพื่อสร้างชิ้นงานเสื้อผ้าสามมิติชื่อดัง ผลงานของบริษัท CLO Virtual Fashion ที่ปัจจุบันก็มีการใช้งานอย่างกว้างขวางในหลาย ๆ อุตสาหกรรม เพื่อให้ชิ้นงานที่ออกแบบด้วย Marvelous Designer สามารถ export เข้ามาใน Sansar และสามารถนำชิ้นงานเสื้อผ้าสามมิตินั้นไปให้ตัวอวาตาร์ได้สวมใส่ ซึ่งไม่ได้แค่ใส่ตามที่ออกแบบมาได้อย่างเดียว แต่ถ้าเราอยากพับแขนเสื้อให้ตัวอวาตาร์ก็สามารถทำได้ หรืออยากจัดแต่งผ้าพันคอในแบบที่เราอยากทำก็ทำได้เลยเช่นกัน ผลก็คือ ช่วยให้อวาตาร์บนแพลตฟอร์มมีบุคลิกภาพที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น
แต่เมื่อถามถึงความคุ้นเคยของคนในยุคนี้กับการใช้แพลตฟอร์ม VR อาจดูได้จากตัวเลขบนเกม Second Life ที่แม้จะเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2003 แต่ปัจจุบันก็มี Active Users ที่รักในแพลตฟอร์มเหนียวแน่นประมาณ 900,000 คนต่อเดือนเท่านั้น (หรือในยุคที่พีคมาก ๆ เคยทะลุไปถึง 1.1 ล้านคน) และมีตัวเลขว่า Second Life สามารถดึงเงินจากโลกจริงเข้ามาใส่ในเวอร์ชวลเกมได้ปีละ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนภายในเกมก็มีเงินหมุนเวียนประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งแม้จะมีข่าวดีว่าดีไซเนอร์บนแพลตฟอร์มนี้บางรายสามารถทำเงินได้นับล้านเหรียญสหรัฐจากการขายเวอร์ชวลไอเท็ม แต่จำนวนผู้เล่นที่ไม่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญ แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีหลายภาคส่วนที่แสดงความสนใจในเกมเวอร์ชวลอย่าง Second Life ให้เห็นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น องค์กรไม่แสวงกำไรชื่อ TechSoup ก็เคยเข้ามาจัดประชุมพนักงานประมาณ 50 คนบน Second Life หรือมหาวิทยาลัยบางแห่งในเท็กซัสก็เคยจัดเลคเชอร์บน Second Life และเปิดให้ใครก็ได้ที่สนใจเข้าร่วมฟัง หรือแม้กระทั่ง IBM ก็เคยใช้แพลตฟอร์มนี้จัดการประชุม
การเปิดตัว Sansar ในฐานะ Social VR ตัวใหม่นั้น จึงอาจมองได้ทั้งการเป็นโอกาสของทาง Linden Lab ที่จะสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการแบบที่เคยสร้างมาแล้วกับ Second Life เมื่อ 14 ปีก่อน แถมในยุคนี้ยังมีอุปกรณ์อย่าง HTC Vive และ Oculus Rift ให้การสนับสนุนเพื่อให้ผู้เล่นได้สัมผัสประสบการณ์ที่เรียลมากขึ้น หรือในอีกทางหนึ่งก็อาจเป็นความเสี่ยงของทุกฝ่ายในระบบ หากความต้องการในเกม VR ลักษณะนี้ไม่สามารถเขยิบขึ้นสู่ระดับเมนสตรีมได้ และยังคงมีผู้เล่นที่คงตัวประมาณหนึ่งล้านคนแบบที่ผ่านมา
อ่านเพิ่มเติมได้ที่