ช่วงต้นเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา thumbsup เคยเสนอข่าวเกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้งานแอพพลิเคชันสุดฮิตในตอนนี้อย่าง LINE ว่ามีผู้ใช้งานผ่าน 60 ล้านคนทั่วโลก?ผ่านมาเพียงแค่ 3 เดือนตอนนี้มีสถิติผู้ใช้งานออกมาให้ทราบล่าสุด โดยมีตัวเลขเกิน 80 ล้านคนแล้ว
ถ้าจะให้นึกถึงแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ที่ถูกใช้งานและพูดถึงมากที่สุดในยุคนี้ก็คงหนีไม่พ้น LINE ที่ซื้อใจผู้ใช้งานด้วยการเล่นอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ (Emotional) ผ่านสติกเกอร์ที่น่ารักจนเราต้องเสียเงินไปกับมันอย่างไม่รู้ตัว (สนับสนุนการซื้อสินค้าอย่างถูกต้องนะครับ) และปัจจุบันมีให้ใช้งานแทบทุกระบบปฏิบัติการ
ล่าสุดมีรายงานจาก NHN Corperation ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแล LINE ในประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศทางผ่านหน้าเว็บไซต์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2555 ว่าตอนนี้ยอดผู้ใช้งานทั่วโลกเข้าสู่ 80 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหากแยกเฉพาะญี่ปุ่นมีผู้ใช้งานโดยคิดเป็น 45% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ใช้งานทั้งหมดเข้าให้แล้ว ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้งาน LINE ทั้งหมด?230 ประเทศ
ถ้าดูจากอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานแล้วจะเห็นได้ว่า ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ (2555) มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา เพิ่งจะมีการฉลองจำนวนผู้ใช้งานครบ 70 ล้านคน และหลังจากนั้นเพียง 5 สัปดาห์ก็เข้าสู่ 80 ล้านคนแบบสบายๆ ซึ่งถ้าคิดแบบเฉลี่ยๆ แล้ว ในหนึ่งสัปดาห์มีผู้ใช้หน้าใหม่เข้ามาลงทะเบียนกับ LINE ถึง 2 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีการรายงานว่าประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้งานเกิน 10 ล้านคนไปแล้ว ซึ่งประชากรในไต้หวันมีอยู่ 23 ล้านคน นั่นก็หมายถึงว่าเราเดินไปตามท้องถนนที่ไต้หวัน เราจะเจอคนที่ใช้งาน LINE กันทุกๆ 2 คน ส่วนในไทยนั้น ทาง NHN ได้จัดให้อยู่ใน 2 ประเทศคู่กับไต้หวันที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลก จากการอ้างอิงในงาน Hello, Friends in Tokyo 2012 Conference ที่จัดไปช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขผู้ใช้งานนั้นไม่มีการพูดถึง แต่คาดการณ์กันว่าน่าจะใกล้เคียงกับไต้หวัน ซึ่งก็คงเกือบๆ 10 ล้านคน (จำนวนผู้ใช้ Facebook ในไทยปัจจุบันอยู่ที่ 17.7 ล้านคน อ้างอิงจาก Socialbakers.com)
จาก Chat สู่ Platform จากสติกเกอร์สู่แบรนด์สติกเกอร์
จาก LINE ที่มีไว้ใช้งานเพื่อคุยหรือใช้เป็นโทรศัพท์คุยผ่านบัญชีรายชื่อได้โดยตรง (หลายๆ คนอาจไม่ทราบว่า LINE เป็นพจนานุกรมแปลงภาษาได้อีกด้วย) ในตอนนี้ LINE ได้ผันตัวเองสู่ความเป็น Platform มากขึ้นด้วยการสร้างแอพพลิเคชันต่างๆ หรือเปิดให้แบรนด์ต่างๆ เข้ามาเชื่อมต่อเชื่อมโยงกับ LINE ทำให้มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ก็ยังคงไม่ทิ้งความเป็น Emotional ที่เป็นเอกลักษณ์ของตน?และความหลายหลายนี่เองก็เลยทำให้มีช่องทางที่จะทำรายได้เพิ่มมากขึ้น
จากเมื่อก่อนเป็นแค่การขายสติกเกอร์ที่มาจากทาง LINE เองผลิต ก็กลายเป็นตลาดการขายสติกเกอร์ที่ได้จากคนที่สนใจจะเอามาขาย (ตัวอย่างที่เราเขียนถึงคือ น้องมะม่วง) รวมถึงการขายผูกกับแบรนด์ต่างๆ ที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำมากกว่าเดิม แถมกำใหญ่กว่าเดิมเสียอีก
ซึ่งในไทยที่เห็นได้ชัดคือการที่เราจะเห็นการแจกสติกเกอร์แบบฟรีๆ ในประเทศไทย ซึ่งก็เป็นของแบรนด์ต่างๆ โดยเบื้องหลังแล้ว แบรนด์ต่างๆ จะต้องจัดงบในหลัก “ล้าน” เพื่อการจัดการโดยมีระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3 เดือนตามสัญญาของทาง NHN ในการโปรโมทแบรนด์นั้นๆ บน LINE โดยการโปรโมทนั้นก็จะทำผ่านการส่งข้อความด้วยการแลกกับการเพิ่มเข้าบัญชีรายชื่อของแบรนด์นั้นให้มาอยู่ในรายชื่อทั้งหมดของเรา ซึ่งก็หมายความว่าเราตกอยู่ในสภาวะยินยอม(หรือจำยอม) รอรับข้อความโปรโมชันต่างๆ ที่ทางแบรนด์นั้นๆ ที่จะส่งมาให้นั้นเอง ซึ่งในทางแบรนด์นั้นก็เป็นช่องทางที่จะสื่อสารและเข้ากับกลุ่มผู้ใช้งานได้โดยตรง
ปรากฏการณ์ LINE POP
นอกจากนั้นแล้วในช่วงนี้เริ่มมีแอพพลิเคชันที่ออกมาใช้งานร่วมกับ LINE เพิ่มมากขึ้นและสติกเกอร์ที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมาจะเห็นเกมที่ทาง LINE เปิดตัวออกมา 4 เกมล่าสุดมาให้ผู้ใช้งานได้เล่นกันด้วยการใช้งานบัญชีรายชื่อของ LINE โดยเกมที่สร้างปรากฏการณ์และถูกพูดถึงกันอย่างมากในตอนนี้นั่นคือ LINE POP ซึ่งสร้างสถิติการดาวน์โหลดในวันแรกสูงถึง 3 ล้านครั้ง และเกมอื่นๆ ก็มียอดดาวน์โหลดหลักล้านครั้งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในแง่การผูกให้คนมาใช้งานใน Platform ของ LINE ด้วยเกมที่เล่นไม่ยาก ไม่ซับซ้อนมากนัก และแน่นอนว่ามีการเชื่อมต่อกับการแชทในการขอทำภารกิจต่างๆ ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าน่ารำคาญอยู่บ้างก็ตาม…
รูปแบบของธุรกิจของแอพในประเภทเกมนี้ คงหนีไม่พ้นการใช้ระบบ in-app purchase หรือการซื้อของภายในเกม ซึ่งเป็นช่องทางเดียวที่สามารถทำรายได้ในส่วนของเกม
อีกไม่นานทาง LINE จะเข็นเกมใหม่ๆ ให้ออกมาได้ดาวน์โหลดและเล่นกันอย่างแน่นอน ก็มารอดูว่าจะมีคนสนใจมากเท่า LINE POP หรือไม่ และ LINE POP จะอยู่ได้อีกนานขนาดไหน…
LINE Cafe ร้านพูดคุยนั่งเล่นในโลกของ LINE
อีกแอพพลิเคชันที่เพิ่มเปิดบริการในไทยนั่นคือ LINE Cafe ซึ่งถ้าจะพูดว่ามันคือโซเชียลเน็ตเวิร์กของ LINE เองก็คงไม่ผิดนัก เพราะนี่คือห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ที่มีการแบ่งซอยย่อยเป็นหัวข้อตามต้องการ โดยถ้าเทียบกับเว็บไซต์ก็คงหนีไม่พ้น pantip.com ของบ้านเรานั่นเอง โดยตอนนี้ส่วนใหญ่แล้วยังเป็นคนญี่ปุ่นที่ใช้งานในคาเฟ่แห่งนี้เป็นหลักอยู่
ก้าวต่อไปสู่ LINE ร้อยล้าน!
ถ้าเทียบเป็นการวิ่ง นี่คือระยะ 100 เมตรสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัยหลัก 100 ล้านคนสำหรับ LINE Platform ซึ่งจะสะดุดล้มขาตัวเองก่อนเข้าเส้นชัยในตอนนี้ก็บอกได้ว่าโอกาสเกิดนั้นยากเหลือเกิน
ด้วยศักยภาพตอนนี้ LINE ถือว่าพัฒนาตัวเองเป็น Platform ได้แทบจะสมบูรณ์แล้ว เหลือก็เพียงแค่ระบบหรือแอพต่างๆ ที่เอาเข้ามาเชื่อมต่อกับ LINE Platform เพื่อให้ใช้งาน, เกิดประโยชน์สูงสุดและมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นตัวกำหนดรายได้ที่จะได้เพิ่มมากขึ้นขนาดไหนนั่นเอง
ดัวยอัตราการเพิ่มของผู้ใช้งานปัจจุบัน เชื่อว่าไม่เกินกลางเดือนมกราคม 2556 นี้ (ถ้าโลกไม่แตกไปเสียก่อน) คงได้ยินข่าว LINE ร้อยล้านอย่างแน่นอน
แล้วมาลุ้นกันนะครับ…