LINE เปิดตัวเป็น Official Partner รายแรกของเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพมหานคร โดยมีพิธีลงนามเซ็นสัญญาพัฒนาบริการ “LINE TAXI” อย่างเป็นทางการในวันนี้ ตั้งเป้ายกระดับมาตรฐานการให้บริการ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนขับแท็กซี่ให้ดีขึ้น คาดพร้อมใช้งานได้ภายในปีนี้แน่นอน
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวที่น่าติดตามทีเดียวสำหรับ LINE ประเทศไทย กับการหันมามองปัญหาใหญ่ที่คนกรุงเทพฯ ต่างส่ายหน้า ผู้มีอำนาจต่างส่ายหัว แล้วก็เดินจากกันไป ไม่มีใครลงมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง กับปัญหา “แท็กซี่ไทย” ที่ทุกวันนี้มีภาพลักษณ์ติดลบในหมู่ผู้บริโภค
โดยการเข้ามาเป็น Official Partner กับเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพมหานครของ LINE ในครั้งนี้ คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทยเผยว่า มาเพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิมของวงการแท็กซี่ไทยให้ดีขึ้น ทั้งในเรื่องการปฏิเสธผู้โดยสารที่ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งไม่พอใจอยู่บ่อยครั้ง และทำให้ต้องใช้เวลาในการเรียกรถนานขึ้น หรือปัญหาในด้านความปลอดภัยที่ผู้โดยสารเองก็อยากได้ความมั่นใจจากผู้ให้บริการ ไปจนถึงปัญหาของฝ่ายผู้ขับแท็กซี่เองที่ปัจจุบันพบกับการแข่งขันรอบด้าน ซึ่งคู่แข่งต่างมีพร้อมในเทคโนโลยีอันทันสมัย ในจุดนี้ LINE มองว่า การพัฒนาเทคโนโลยีให้เข้าถึงผู้ใช้งานกลุ่มคนขับแท็กซี่จะเป็นทางออกที่ดี และสามารถคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ในอดีตที่เคยมีมาได้
“ทุกวันนี้เรามีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 44 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เข้าใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ แต่ตัวเลขนี้กำลังแสดงให้เห็นว่าอีกด้านหนึ่งก็คือโลกออฟไลน์ ก็ยังมีคนอีกกลุ่มใหญ่มาก ซึ่งคนเหล่านี้อาจเป็นกลุ่มร้านอาหาร กลุ่มผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ ฯลฯ ที่ไม่มีศักยภาพ หรือความรู้มากพอที่จะเข้ามาในโลกออนไลน์ แต่ด้วยพลังของเทคโนโลยี จะทำให้เราสามารถดึงลูกค้า Online ไปหาลูกค้ากลุ่มออฟไลน์ได้แล้ว และเทคโนโลยีนั้นก็คือ แอปพลิเคชัน LINE MAN”
โดยก่อนหน้านี้ บริการของแอปพลิเคชัน LINE MAN นั้นมีอยู่ 4 บริการหลัก ได้แก่ บริการสั่งซื้ออาหาร (Food Delivery), บริการแมสเซนเจอร์ (Messenger), บริการสั่งของสะดวกซื้อ (Convenience Goods) และบริการจัดส่งพัสดุ (Postel) ซึ่งการมาถึงของ LINE TAXI จะเข้ามาเป็นบริการในลำดับที่ 5 ของ LINE MAN นั่นเอง
อย่างไรก็ดี การจะเข้ามาแก้ปัญหาบริการแท็กซี่ไทยนั้นไม่ง่าย ซึ่งจากการศึกษาของ LINE ประเทศไทยพบว่า ความต้องการจากฝั่งผู้บริโภคมี 3 ข้อหลัก ๆ คือ
- อยากเรียกแท็กซี่แล้วไม่ต้องรอนาน ซึ่งสถานการณ์จริงนั้น บางชั่วโมงเร่งด่วนหรือช่วงที่ฝนตก การเรียกแท็กซี่สักคันทำได้อย่างยากลำบากมาก แม้จะใช้แอปพลิเคชันที่มีอยู่เดิมในท้องตลาดก็ยังต้องรอนานอยู่ดี
- อยากเรียกแท็กซี่แล้วแท็กซี่ไม่ปฏิเสธ
- อยากขึ้นแท็กซี่แล้วมั่นใจได้ว่าปลอดภัย
ขณะที่ฝั่งผู้ขับแท็กซี่เองก็มีปัญหาสะสมอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขับรถด้วยจำนวนชั่วโมงต่อวันที่ยาวนาน (บางรายอาจต้องขับถึงวันละ 12 ชั่วโมง) ขณะที่รายได้ของคนขับแท็กซี่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มากพอจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยอาจมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 400 บาทต่อวันเท่านั้น
นอกจากนั้น คุณอริยะเผยด้วยว่า ผู้ขับแท็กซี่ยังมีค่าใช้จ่ายในการเป็นผู้ขับแท็กซี่ที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่มากมาย เช่น ค่าใช้จ่ายในทำใบขับขี่สาธารณะ ค่าเช่ารถ หรือค่าผ่อนรถ ค่าตรวจสุขภาพ ฯลฯ
ในจุดนี้ LINE มองว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้ปัญหาของทั้งสองฝั่งมาบรรจบกันที่ตรงกลางได้ และความแตกต่างของบริการใหม่อย่าง LINE TAXI กับผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ก็คือ ฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิมของทั้งสององค์กร เช่น LINE ก็มีฐานลูกค้ามากกว่า 40 ล้านคน และฝั่งเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพมหานครก็มีสมาชิกเครือข่ายไม่ต่ำกว่า 60,000 ราย จากจำนวนแท็กซี่ที่ให้บริการทั้งหมด 90,000 กว่าราย หรือคิดเป็น 67% ของจำนวนรถแท็กซี่ที่ให้บริการทั้งหมดในเขตกรุงเทพฯ
แต่จุดเด่นสำคัญที่ทำให้คู่แข่งจุกไปตาม ๆ กันก็คือการที่ LINE TAXI สามารถประกาศได้ว่าเป็นบริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย สอดคล้องกับนโยบายของกรมการขนส่งทางบก และทำให้ LINE มีบทบาทสำคัญในฐานะแบรนด์ที่นำพาอุตสาหกรรมแท็กซี่ไทยเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 นั่นเอง
อย่างไรก็ดี สำหรับ Business Model และคุณสมบัติต่าง ๆ ที่จะมีให้ใช้งานใน LINE TAXI นั้นยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ โดยคุณอริยะเผยแต่เพียงว่าอาจไม่แตกต่างกับผู้ให้บริการรายอื่นในท้องตลาดมากนัก เช่น ในส่วนของคุณสมบัติด้านความปลอดภัย ผู้โดยสารอาจสามารถแชร์ได้ว่าอยู่บนรถแท็กซี่คันไหน เป็นต้น (ในจุดนี้ต้องรอความชัดเจนในงานแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ)
ความท้าทายต่อจากนี้ก็คือ การจะเชิญชวนอย่างไรให้สมาชิกของเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ฯ เข้ามาลงทะเบียนใช้งานเทคโนโลยีนี้กันให้มาก ๆ เพื่อให้มีรถแท็กซี่ในระบบเพียงพอต่อการให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งคุณวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพมหานครเผยว่า ตั้งเป้าไว้ที่ 20,000 – 30,000 คันในระยะเริ่มต้น
โดยคุณสมบัติของแท็กซี่ที่จะเข้าร่วมให้บริการกับ LINE TAXI ในระยะเริ่มต้นนั้น คุณวิฑูรย์ระบุว่า ต้องประกอบด้วยปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ รถที่นำมาให้บริการต้องอยู่ในสภาพดี และคนขับต้องเข้ารับการอบรมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ การมาถึงของ LINE TAXI นั้นอาจไม่ได้มาแล้วทำให้ปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารหมดลงในทันทีทันใด แต่คุณอริยะชี้ว่าวิธีการแก้ปัญหาที่ LINE กำลังจะทำก็คือ การทำให้ระบบของ LINE TAXI มีคนขับในระบบให้มาก ๆ ยิ่งมีคนขับมาก โอกาสที่ลูกค้าจะถูกปฏิเสธก็ยิ่งมีน้อยลงนั่นเอง
“เราอยู่ในยุค Disruption ก็จริง แต่ผมคนหนึ่งที่เชื่อว่าเราไม่ต้อง Disruption ไปเสียทุกอย่างหรอก เราจับมือกันบ้างก็ได้” คุณอริยะกล่าวทิ้งท้าย