ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การใช้ชีวิตแบบดิจิทัลของคนยุคนี้ ต้องมีเรื่องการใช้งาน LINE แพลตฟอร์มการสื่อสารที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่หลากหลาย เพราะนอกจากการส่งข้อความในแบบปกติแล้ว ยังมีเรื่องของการเข้าถึงคอนเทนต์ในรูปแบบซีรี่ส์ ข่าวสาร หรือใช้จ่ายด้วยเพย์เมนท์ และการที่มีหลายแอปพลิเคชั่นที่ตอบสนองให้เลือกมากมาย แต่เพราะมีฐานผู้ใช้งานจำนวนมากทำให้ LINE มีโอกาสเข้าถึงคนจำนวนมากอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาให้บริการในมานานเกือบ 10 ปีนั้น (ในไทย 8 ปี) ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมงานเปิดตัวของไลน์ครั้งแรกในไทย และเห็นการพัฒนาที่น่าสนใจของไลน์ ประเทศไทยมาตลอด ก็เข้าใจว่า ความพยายามในการผลักดันบริการต่างๆ ของไลน์มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งบริการส่วนใหญ่ก็พยายามปรับตัวให้เร็วรับกับสถานการณ์ภายในประเทศ
นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ใน 10 ปีที่ผ่านมา LINE ได้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงคนและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ภายใต้ภารกิจ Closing the distanceและพัฒนากลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานการใช้ชีวิตดิจิทัลให้คนไทย ที่ไม่เพียงตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ระดับบุคคลเท่านั้น LINE เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ดิจิทัลได้ด้วยความง่ายและการเข้าถึงของการใช้งานด้วยคนไทยในทุกเพศ ทุกวัย
และเมื่อเกิดวิกฤตโควิด 19 ขึ้น เรายิ่งได้เห็นการปรับตัวของคนไทยเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเต็มตัวผ่านการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม LINE เพิ่มมากขึ้นในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของ LINE ในการเป็นเครื่องมือทรงพลังที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน
การปรับตัวใช้ดิจิทัลของร้านค้าเพิ่มขึ้น
ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ช่องทางการขายแบบเดิมต้องปิดตัวลงไปเพราะเจอผลกระทบหนัก การส่ังซื้อสินค้าแบบออนไลน์ การส่งสินค้าแบบเดลิเวอรี่ กลายเป็นช่องทางการขายใหม่ที่ทุกแบรนด์ต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงเครื่องมือของแบรนด์ การให้บริการตอบสนองลูกค้าแบบทันทีทันใด รวมทั้งการจัดส่งที่รวดเร็ว เป็นต้น
โดย LINE พบยอดเติบโตของการใช้งาน Digital Banking ผ่าน LINE API ตั้งแต่ปี 2562 มาจนถึงต้นปี 2564 ในรายเดือน (Monthly API Message) เพิ่มขึ้นถึง 80% โดยการให้บริการ Digital Banking service แทนที่การให้ข้อมูลของ Banking service เพียงอย่างเดียวเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากขึ้นถึง 2.8 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของกลุ่มธุรกิจการเงินและธนาคารในไทยในการใช้ LINE OA จากช่องทางการสื่อสารเป็นการให้บริการ Digital Banking และสร้างความคุ้นชินและเตรียมพร้อมให้ผู้บริโภคทั้งประเทศ สู่การบริการ Digital Banking อย่างเต็มรูปแบบในปัจจุบัน
และบางธุรกิจเห็นโอกาส ได้ปรับตัวก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ คือ กลุ่มธุรกิจสินค้าหรูหรา Luxury ในประเทศไทยโดยในช่วงปี 2562 – 2564 ที่ผ่านมา มีแบรนด์สินค้าหรูหันมาเปิดใช้งาน LINE OA เป็นช่องทางในการเข้าถึงฐานลูกค้าคนไทยเพิ่มขึ้นโดยรวมถึง 60% โดยแบรนด์หรูที่เปิดใช้งาน LINE OA มากที่สุดคือ กลุ่มเครื่องสำอางหรู เป็นสัดส่วน 54% ของสินค้าหรูทั้งหมด
ต่อมาคือแฟชั่นหรูในอัตราส่วน 35% และยานยนต์หรูมีการเปิดใช้งาน LINE OA ที่สัดส่วน 11% ทั้งนี้ ยังพบว่า แบรนด์กลุ่มแฟชั่นหรู แม้จะมีจำนวนผู้ติดตามโดยเฉลี่ยต่ำที่สุดเทียบกับแบรนด์กลุ่มเครื่องสำอางและยานยนต์หรู แต่กลับมียอดการพูดคุย สนทนาแบบหนึ่งต่อหนึ่งผ่าน LINE OA สูงที่สุดสูงถึง 5 พันข้อความในหนึ่งวัน มากกว่าแบรนด์กลุ่มแฟชั่นหรูถึง 60%
ชี้ให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยน จากการบริการแบบตัวต่อตัว ในห้าง เป็นการบริการ สนทนาออนไลน์แบบตัวต่อตัว หรือ chat commerce แทน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเฉพาะหลากหลายแบรนด์ดังชั้นนำระดับโลกในโลกตะวันตก สู่บริบทของการทำธุรกิจออนไลน์แบบโลกตะวันออก ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการทำการตลาดของแบรนด์หรูชั้นนำระดับโลกเหล่านี้
ด้วยบทบาทการเป็นแพลตฟอร์มช่วยสร้างความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนสู่ธุรกิจดิจิทัลเพื่อเข้าถึงคนไทย ทั้งสำหรับกลุ่มธุรกิจการเงิน และ สินค้าหรูหรา (Luxury) ในช่วงปีที่ผ่านมาแล้ว ในปี 2564-2565 LINE มุ่งที่จะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยองค์รวม โดยเน้นความสำคัญในส่วนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย
ด้วยส่วนแบ่งใน GDP มากถึง 45% และมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ ผลการสำรวจจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เผยถึง กลุ่มธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดในช่วงวิกฤตโควิด-19 คือ ธุรกิจอาหาร ซึ่งส่งผลต่อ GDP ลดลงถึง 37% รองลงมาคือ ธุรกิจขนส่ง และค้าปลีก ในอัตราส่วนที่ลดลง 21% และ 3.7% ตามลำดับ
ท่ามกลางวิกฤตนี้ LINE พบว่า อัตราการเติบโตของ LINE OA โดยธุรกิจกลุ่มร้านอาหารมีอัตราการเปิดใช้งาน LINE OA เพิ่มขึ้น (YoY) สูงสุดสุงถึง 212% รองลงมาคือธุรกิจกลุ่มค้าปลีกที่ 191% ด้วยเหตุนี้ LINE ประเทศไทยจึงมุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มและเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจไทยเหล่านี้โดยเฉพาะ เพื่อยกระดับการใช้งาน LINE จากแค่เครื่องมือในการสื่อสาร เป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถแข่งขันในโลกยุคหลังโควิดต่อไป
กลุ่มธุรกิจอาหาร LINE ประเทศไทย ออกแบบ MyRestuarant เครื่องมือช่วยเสริมประสิทธิภาพ LINE OA สำหรับธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยโดยเฉพาะ ในการจัดการหน้าร้าน ไปถึงการจัดการหลังร้าน การวิเคราะห์ข้อมูลจากอาหารที่สั่ง และ การเชื่อมถึงการจัดส่งกับบริการ LINE Man โดยตรง
กลุ่มธุรกิจค้าปลีก LINE ประเทศไทย ออกแบบ MyShop เครื่องมือที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพ LINE OA ด้านการขายของ ที่ใช้งายที่สุดเทียบเคียงกับการใช้ LINE ด้วยระบบหน้าร้านออนไลน์ ระบบจัดการสินค้าคงคลัง รองรับการซื้อสินค้าผ่านการพูดคุย หรือ Chat Commerce แบบเต็มรูปแบบ ระบบการชำระเงินเชื่อมต่อกับ Rabbit LINE Pay ระบบการเชื้อเชิญลูกค้ากับ LINE POINT ระบบการโฆษณากับ LINE ADS PLATFORM ระบบขนส่งสินค้ากับทุกบริษัท โดยเฉพาะ ไปรษณีย์ไทย
โดยในปีที่ผ่านมา มีร้านค้าเปิดใช้งาน MyShop เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า มีร้านค้าที่แอคทีฟเพิ่มขึ้นถึง 257% (เปรียบเทียบการเติบโต YoY เดือนเม.ย. ปี 2563 – 2564) และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GMV) อยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท โดยธุรกิจด้านแฟชั่นและเครื่องสำอางค์เป็นกลุ่มสินค้าที่เปิดร้าน MyShop สูงสุด
ทั้งนี้ สำหรับธุรกิจ SME แฟชั่น LINE ยังมีโครงการ LINE FASHION ANNUALE ที่จัดขึ้นในปีนี้ เพื่อผลักดันผู้ประกอบการไทยไปสู่เวทีโลก
นอกจากภาคธุรกิจแล้ว กลุ่มองค์กรที่สำคัญที่สุดต่อการขับเคลื่อนประเทศไทย คือ กลุ่มบริการสาธารณะต่างๆ ด้วยศักยภาพของแพลตฟอร์ม LINE ที่เข้าถึงคนไทยกว่า 49 ล้านคน LINE OA จึงกลายเป็นตัวกลางสำคัญสำหรับกลุ่มบริการสาธารณะ และองค์กรภาครัฐมากมาย ในการอัพเดทข้อมูล ให้ความรู้ และให้บริการให้ด้านต่างๆ แก่ประชาชนคนไทย อาทิ โรงพยาบาล สาธารณูปโภค น้ำ ไฟ การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอ ชุมชนต่างๆ รวมถึงหน่วยงานราชการ
โดยเฉพาะในสถานการวิกฤตโควิด เช่น การนัดหมายโรงพยาบาล การแจ้งและรับชำระค่าไฟค่าน้ำ การรับข้อมูลข่าวสารสำคัญของชุมชน โดยไม่ต้องเดินทางมายังสถานที่ให้บริการ เป็นต้น ซึ่ง LINE เล็งเห็นว่าบริการสาธารณะต่างๆ เหล่านี้ แม้จะไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจ แต่ก็ถือเป็นหัวใจสำคัญต่อประเทศไทยที่ควรผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนสู่โลกดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อองค์รวมของประเทศด้วยเช่นกัน