ในเมื่อไม่สามารถเติบโตในตลาดอื่นได้ทันใจ สิ่งที่ LINE ลงมือทำในเวลานี้คือการเสริมแกร่งและใส่เกียร์ลุยตลาดในพื้นที่ที่ LINE มีฐานลูกค้ารออยู่แล้ว ล่าสุด LINE เพิ่งประกาศตั้งหน่วยวิจัยและพัฒนา (research and development unit) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้ใช้งาน LINE มากอันดับ 2 ของโลก
แม้ LINE จะเปิดสำนักงานในกรุงเทพฯอย่างเป็นทางการตั้งแต่มีนาคม 2014 แต่การตั้งทีม R&D ถือเป็นก้าวใหม่เพราะนี่คือครั้งแรกที่ LINE มีการตั้งทีมงานวิจัยและพัฒนาในพื้นที่นอกญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท โดยข้อมูลจาก Bangkok Post ระบุว่า LINE ประกาศรับวิศวกรจำนวนมากเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการสำหรับผู้ใช้ Line ในเมืองไทยโดยเฉพาะ เบื้องต้น คาดว่า LINE จะเปิดให้บริการแอปพลิเคชันใหม่สำหรับคนไทยได้ในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ใช้ LINE ในจำนวนรวม 212 ล้านคนต่อเดือนนั้นเป็นคนไทยจำนวนเท่าใด เนื่องจากบริษัทไม่เปิดเผยตัวเลขล่าสุดหลังจากเคยเปิดเผยเมื่อตุลาคมปี 2014 ครั้งนั้นไทยถูกประกาศว่าเป็นตลาดที่มีผู้ใช้ LINE มากเป็นอันดับ 2 ของโลกด้วยสถิติ 33 ล้านคน จากผู้ใช้ทั้งหมดในเวลานั้นคือ 170 ล้านคน
สถิติผู้ใช้ LINE ในไทย 33 ล้านคนนั้นมีนัยสำคัญ เนื่องจากไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือราว 40 ล้านคน แปลว่าผู้ใช้กว่า 82% ล้วนใช้งาน LINE
สถิติล่าสุดที่ LINE เปิดเผยเกี่ยวกับตัวเลขผู้ใช้งานคือ 65% ของผู้ใช้รวมนั้นมาจาก 4 ตลาดคือญี่ปุ่น ไทย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย โดย LINE ประกาศตัวเลขนี้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
4 ตลาดนี้ถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปจาก 1 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่ง LINE เคยยกให้สเปนเป็นตลาดที่มีผู้ใช้งานมากเป็นอันดับ 4 ด้วยตัวเลขผู้ใช้ 18 ล้านคนต่อเดือน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ LINE เริ่มเสื่อมความนิยมในเมืองกระทิง โดยการสำรวจพบว่า LINE ไม่ติดอันดับ top 100 free app หรือแอพพลิเคชันฟรีที่ชาวสเปนนิยมดาวน์โหลดมากที่สุด 100 อันดับทั้งบนอุปกรณ์ Android และ iOS
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ LINE นั้นมีอัตราการเติบโตในตลาดโลกค่อนข้างคงที่ โดยในช่วงมิถุนายนถึงกันยายนที่ผ่านมา LINE สามารถเพิ่มฐานผู้ใช้ได้เพียง 1 ล้านราย แต่คู่แข่งอย่าง WhatsApp กลับสามารถเพิ่มฐานผู้ใช้มากกว่า 100 ล้านรายในช่วง 5 เดือน (เมษายนถึงกันยายน) โดยขณะนี้ WhatsApp ประกาศฐานผู้ใช้จำนวนมากกว่า 900 ล้านคนแล้ว
ที่มา : Tech in Asia