LINE ScaleUp 2019 จัดอบรมให้ความรู้สตาร์ทอัพทั้ง 6 ทีมที่ผ่านการคัดเลือก เกี่ยวกับวิธีการช่วงชิงความสนใจจากนักลงทุน ซึ่งวิทยากรใน LINE ScaleUp Camp เตือน เมื่อสตาร์ทอัพเข้าสู่ช่วง Growth Stage ต้องมีรายได้และกำไรที่ชัด แนะโมเดลธุรกิจของสตาร์ทอัพต้องแข็งแรงและทำให้เห็นถึงโอกาสเติบโตของธุรกิจ เพื่อทำให้สตาร์ทอัพมีโอกาสรับเงินจากนักลงทุนได้ง่ายขึ้น และกลายเป็นยูนิคอร์นในอนาคต
LINE แพลตฟอร์มผู้ผลักดันวงการสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ LINE ScaleUp พร้อมประกาศสานต่อ LINE ScaleUp 2019 เป็นปีที่ 2 โดยคงคอนเซปต์การสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพไทยให้เดินหน้าสร้างฝันที่เป็นจริง นั่นคือการทำให้สตาร์ทมอัพไทยไปสู่การเป็น “ยูนิคอร์น” และ “สตาร์ทอัพระดับโลก” โดย LINE เชิญกลุ่มสตาร์ทอัพผู้ผ่านการคัดเลือกทั้ง 6 ทีม ได้แก่
- Choco CRM ระบบจัดการหน้าร้าน (POS) และระบบพัฒนาความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM)
- Claimdi แพลตฟอร์มจัดหาผู้ช่วยสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ
- Finnomena แพลตฟอร์มผู้ให้บริการและคำปรึกษากับนักลงทุน
- Gowabi แพลตฟอร์มสำหรับจองบริการเกี่ยวกับสปาและบริการเสริมความงามต่างๆ
- Seekster แพลตฟอร์มสำหรับจัดหาผู้ให้บริการด้านการทำความสะอาด ซ่อมแซม และต่อเติมอสังหาริมทรัพย์
- Tellscore ระบบจัดการ Influencer โดยทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มกลางระหว่างแบรนด์หรือเอเจนซี่ กับ Influencer
โดยทั้ง 6 ทีมจะได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมของแคมป์ที่อัดแน่นผ่านการ Coaching เชิงลึก ส่วนหัวข้อที่น่าสนใจในกิจกรรมครั้งนี้ คือ “How to Secure Investment?” ซึ่งมีกูรูที่คร่ำหวอดในตลาดทุนเอเชียและตลาดโลก มาเล่าถึงกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นแนวทางให้ว่าที่ยูนิคอร์นปูพื้นฐานก่อนนำวิธีคิดไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจสตาร์ทอัพของแต่ละทีม
เตือนเมื่อสตาร์ทอัพเข้าสู่ช่วง Growth Stage ต้องมีรายได้-กำไรที่ชัด
ผู้ที่มาให้ความรู้กับ 6 สตาร์ทอัพไทย คนแรก คือ Andy Zain ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Kejora Venture มาเล่าถึงภาพรวมตลาดเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย ซึ่งมีสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จระดับโลก เช่น GO-JEK, Tokopedia และ Traveloka ซึ่งภาครัฐและเอกชนสนับสนุนให้เกิดการสร้างยูนิคอร์นเป็นอย่างมาก
Andy ชี้ให้เห็นความสำคัญของตลาดอาเซียนที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยกตัวอย่างจุดแข็งของภูมิภาคอาเซียนที่มีทั้ง จำนวนประชากร, การเติบโตของ GDP, การขยายตัวธุรกิจ SME รวมถึงพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลที่มีแนวโน้มทะยานสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียถูกยกให้เป็นตลาดอันดับต้น ๆ ของการพัฒนายูนิคอร์นสัญชาติอาเซียน นั่นคือการมองโอกาสจากพฤติกรรมของลูกค้า, เจาะตลาดตรงจุด และสร้างความเข้มแข็งครอบคลุมธุรกิจ FinTech, E-Commerce, การเดินทาง-ท่องเที่ยว รวมทั้งเรื่องการขนส่งคมนาคม ตลอดจนมีการขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนมากขึ้นผ่าน Venture Capital ของประเทศ และมี Community รวมตัวสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งอย่างมาก
ซึ่ง Andy เผยอีกว่าสตาร์ทอัพไทยต้องพลิกวิธีคิดเพื่อสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ได้เงินลงทุนมา ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงสเตจของสตาร์ทอัพ
หากสตาร์ทอัพในช่วงตั้งไข่หรือเริ่มต้น นักลงทุนจะพิจารณาจาก
- แนวคิด ไอเดีย และส่วนแบ่งการตลาดของสตาร์ทอัพก่อน
- ตามมาด้วยตัวตนของทีมสตาร์ทอัพนั้น ๆ ว่าทีมมีศักยภาพในการทำให้ไอเดียเหล่านั้นสำเร็จได้แค่ไหน
- ตัว Product มีแนวโน้มในการเติบโตมากเพียงใด โดยเรียงลำดับจากล่างขึ้นบน
ในทางกลับกัน ถ้าเป็นสตาร์ทอัพในช่วง Growth Stage ปัจจัยที่นักลงทุนสนใจมักจะมีลำดับที่ตรงกันข้าม โดยต้อง
- เริ่มต้นมองจากเรื่องรายได้และกำไรมาก่อน โดยธุรกิจนั้นต้องให้ผลตอบแทนที่สูงดึงดูดใจเท่านั้นจึงจะเชิญชวนให้คนมาลงทุนได้
- แล้วมาวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้บริการทั้งในแง่ปริมาณที่มีความต้องการใช้เป็นจำนวนมากและแนวโน้มการขยายตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ
- จากนั้นค่อยนำไปสู่การพัฒนา Product ต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับแนวคิดและความเติบโตของธุรกิจ
- สุดท้ายจึงมาคิดเรื่องทีม เพื่อนำไปสู่การนำเสนอความคิดไอเดียต่าง ๆ รวมถึงการตลาดที่เหมาะสมกับธุรกิจด้วย
หนึ่งในทีมผู้เข้าร่วมอบรมอย่าง กสิณ สุธรรมมนัส ซึ่งเป็น Chief Operating Officer (COO) จาก Finnomena กล่าวว่าการเข้าอบรมในหัวข้อการลงทุนนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่รู้กันว่าตลาดอินโดนีเซียเป็นสมรภูมิปราบเซียนของเหล่าสตาร์ทอัพ มีขั้นตอนและระบบต่าง ๆ มากมาย
โดยทีมของ Finnomena มองว่าได้เรียนรู้แนวทางในการเข้าถึงแหล่งทุนต่าง ๆ เห็นแนวโน้มเทรนด์ตลาดทุน และสามารถนำมาปรับใช้ในอนาคต เนื่องจาก Finnomena ก็มีการวางแผนที่จะเจาะตลาดอาเซียนเร็ว ๆ นี้อยู่แล้วเช่นกัน
แนะโมเดลธุรกิจของสตาร์ทอัพต้องแข็งแรง-เห็นโอกาสโต
ส่วนอีกคนที่มาให้ความรู้กับ 6 สตาร์ทอัพไทย คือ Simon Baek จาก InterVest Star Venture เผยถึงเหตุผลของการเลือกสตาร์ทอัพเข้าตาเหมาะแก่การร่วมลงทุน พร้อมเล่าเคล็ดลับต่างๆ พิชิตใจนักลงทุน
เขาชี้ให้เห็นว่านักลงทุนทั่วโลกมีความสนใจสตาร์ทอัพภูมิภาคอาเชียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เห็นได้ว่าที่ผ่านมา InterVest Star Venture สนใจร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพสาย EduTech, FinTech, E-Commerce, Logistics, Drone และอื่นๆ ด้วยเม็ดเงินมากกว่าร้อยล้านเหรียญสหรัฐ
Simon วิเคราะห์ต่อว่า ตลาดอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเปรียบเทียบตลาดของประเทศจีนและเกาหลีใต้ว่ามีความคล้ายคลึงกับตลาดอาเซียน แต่ปัจจุบันโครงสร้างตลาดทุนในอาเซียนยังมีไม่เพียงพอ ยังขาดกองทุนสนับสนุนธุรกิจที่น่าสนใจจำนวนมาก
จึงไม่สามารถผลักดันให้สตาร์ทอัพอาเซียนไปสู่ระดับโลกได้มากเท่าที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกันด้านตัวผู้ลงทุนเองก็ยังต้องเผชิญความท้าทายใหม่ ไม่ง่ายนักที่จะใช้มาตรวัดเดิม ๆ มาตัดสินใจในการลงทุน
อย่างไรก็ตามเขาก็พร้อมให้กำลังใจว่าที่ยูนิคอร์นไทย โดยให้คำแนะนำเพิ่มเติมถึงเคล็ดลับที่จะนำพาธุรกิจเข้าไปอยู่ในใจนักลงทุนได้ คือโมเดลธุรกิจต้องแข็งแรง, เป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตยั่งยืน, การประเมินศักยภาพของธุรกิจต้องอยู่บนพื้นฐานเหตุและผลที่ฟังขึ้นและยอมรับได้ รวมถึงมีความพร้อมแข่งขันท่ามกลางการเกิดขึ้นของกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เป็นต้น
โครงการที่ดีต้องให้ทั้งเงินทุนและความรู้
โดย LINE ScaleUp Camp ในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการสนับสนุนความรู้ต่างๆ ให้กับสตาร์ทอัพไทยแบบเต็มที่ ทั้งการให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิค, ด้านธุรกิจและการหาแหล่งเงินทุน เพื่อให้ได้โอกาสรับเงินทุนและเข้าถึงตลาดต่างประเทศ
ดึงเอาผู้คร่ำหวอดในวงการตลาดทุนและทีมสตาร์ทอัพมืออาชีพระดับโลกมาให้คำแนะนำและ Coaching เชิงลึก ทั้งด้านเทคโนโลยี, ธุรกิจ และการลงทุน อีกทั้งยังให้สิทธิ์ใช้แพลตฟอร์ม LINE และ LINE Messaging API อีกด้วย
นอกจากนี้ LINE ScaleUp 2019 ยังเดินหน้าสนับสนุนให้สตาร์ทอัพไทยเข้าใกล้ความสำเร็จเร็วขึ้น โดยวางแผนจัดทริปพิเศษเพื่อพบปะ-เรียนรู้จากสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในต่างประเทศ เพื่อบ่มเพาะให้สตาร์ทอัพทั้ง 6 ทีมนำความรู้, ประสบการณ์และทักษะที่ได้มา นำมาพัฒนาธุรกิจตนเองให้ไปสู่ระดับยูนิคอร์น
ซึ่งทาง LINE จะทำการคัดเลือกเพื่อหาทีมสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2562 ต่อไป พร้อมเงินอัดฉีดสนับสนุนมากกว่า 20 ล้านบาทอีกด้วย