ปัจจุบัน LINE มีบัญชีผู้ใช้งานกว่า 47 ล้านบัญชี แบ่งเป็นการใช้งานผ่านเดสก์ท็อป 7 ล้านราย ที่เหลือเป็นการแชทผ่านสมาร์ทโฟน ผู้ใช้งานเหล่านี้นอกจากการแชทเพื่อสื่อสารแล้ว ยังใช้บริการอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น อ่าน LINE TODAY กว่า 5 ล้านราย เช็ค TIMELINE 19 ล้านราย และใช้งาน LINE TV 18 ล้านราย นั่นจึงเป็นโอกาสของนักการตลาดในการทำความรู้จักลูกค้าให้ดีขึ้น
คุณนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ในอดีต เราเห็นตัวอย่างของเทรนด์ใหญ่ระดับโลก (Megatrends) มากมายที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ทุกธุรกิจคอยเรียนรู้และเร่งปรับตัว ดำเนินรอยตาม Global อยู่เสมอ
แต่ด้วยวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่พลิกโฉมธุรกิจทั่วโลกครั้งใหญ่ไปโดยสิ้นเชิง ทุกภาคส่วนต่างเร่งรับมือกับโจทย์ใหญ่ คือการก้าวขึ้นสู่โลกออนไลน์อย่างรวดเร็วโดยไม่ได้มีสูตรสำเร็จในการใช้ดิจิทัลรับมือวิกฤตครั้งนี้มาก่อน
เราจึงมองว่าการทำธุรกิจแบบ Decentralization ที่ให้ความสำคัญกับภาคส่วนย่อยมากขึ้น สามารถสอดรับการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันนี้ได้เป็นอย่างดี ควบคู่กับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน ทำให้แต่ละภาคธุรกิจต้องนิยามการเติบโตในธุรกิจใหม่เพื่อความอยู่รอดและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอีกครั้งหลังวิกฤตครั้งใหญ่นี้
ผู้บริโภคกับพฤติกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง
จากข้อมูลเชิงสถิติบนแพลตฟอร์ม LINE ในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมใหม่ๆ ของผู้บริโภคและมีจำนวนผู้บริโภคที่นิยมชื่นชอบพฤติกรรมเหล่านี้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ๆ ในสังคมไทย
โดยเราเรียกเทรนด์นี้ว่า “New Human” หรือผู้บริโภคกับพฤติกรรมใหม่ ตัวอย่างเทรนด์นี้ที่เห็นได้ชัดคือกระแสซีรีส์วายพลิกจากความชอบเฉพาะกลุ่มสู่พฤติกรรมกระแสหลักของผู้ชมชาวไทยก่อนจุดติดเป็นกระแสซีรีส์วายฟีเวอร์ทั่วเอเชีย สร้างกลุ่มแฟนตัวจริงหรือ Fandom ที่พร้อมสนับสนุนนักแสดงซีรีส์วายในดวงใจ
ก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ Y-Economy ด้วยการใช้ศิลปิน นักแสดงเป็นกลไกนำไปสู่ความจงรักภักดีต่อแบรนด์และการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากข้อมูลผลสำรวจโดย LINE ประเทศไทยยังพบว่าร้อยละ 80 ของผู้ชมซีรีส์วายชาวไทยคือเกือบ 20 ล้านคนนิยมดูซีรีส์วายผ่านช่องทาง LINE TV เป็นหลัก
ฐานแฟนคลับกลุ่มซีรี่ย์วายนั้น มีความน่าสนใจคือเป็นกลุ่มคนที่พร้อมสนับสนุนไอดอลของตนเอง ทั้งในรูปแบบของการซื้อสื่อ OOH ตามสถานที่ต่างๆ ดังนั้น แบรนด์ที่ทำโฆษณากับคนกลุ่มนี้จะถูกมองว่าเป็นแบรนด์ที่มีความทันสมัยและพร้อมสนับสนุน
แต่ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องนำเสนอให้แยกออกจากเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ เช่นการใช้ศิลปิน นักแสดงในการนำเสนอสินค้าที่พิเศษไปเลย ไม่ใช่มองแค่การวาง Tie In ในซีรี่ย์ เพราะการจดจำแบรนด์ก็จะน้อยลงเช่นกัน
บรรทัดฐานใหม่ในการเก็บข้อมูลไม่พึ่งพาคนกลาง
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา จนเกิดเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการเก็บข้อมูลหรือ “New Rule” ที่อาจส่งผลต่อทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งในฝั่งแพลตฟอร์มและฝั่งแบรนด์
การเก็บข้อมูลโดยตรงจากลูกค้า (First-party data) จึงเป็นทางออกที่ทุกกลุ่มธุรกิจควรให้ความสำคัญ และควรเริ่มเตรียมตัว ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ วิธีดำเนินธุรกิจให้สอดคล้อง รองรับมาตรการเหล่านี้ให้ทันท่วงที ซึ่ง LINE เล็งเห็นความสำคัญของ First-party data และเปิดให้แบรนด์สามารถเก็บข้อมูลโดยตรงจากลูกค้า
ผู้ใช้งานด้วยโซลูชันและเครื่องมือบนแพลตฟอร์ม LINE มานานเกือบ 3 ปีผ่าน LINE Business Connect for CRM (BCRM) ที่ช่วยบริการจัดการฐานข้อมูลลูกค้าบน LINE Official Account และ Mission Stickers สติกเกอร์ที่ผู้ใช้งานจะได้รับเมื่อทำภารกิจตามที่แบรนด์กำหนด
ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา LINE มีฐานข้อมูลสะสมที่ได้รับโดยตรงจากผู้ใช้งานมากกว่า 300 ล้านโปรไฟล์รวมจากทุกแบรนด์ที่ใช้บริการ LINE ยังคงมุ่งเน้นให้ความสำคัญของการเก็บและใช้ประโยชน์ของดาต้าอย่างต่อเนื่อง
ด้วยการประกาศเปิดตัวโซลูชันใหม่ล่าสุด MyCustomer ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ผ่าน LINE OA ให้กับแบรนด์ได้ดีและลึกยิ่งขึ้น ยกระดับระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าแบบครบวงจรหรือ CRM (Customer relationship management) บน LINE ในแบบเดิมๆ
สู่การเป็น CDP (Customer Data Platform) หรือแพลตฟอร์มสำหรับจัดการข้อมูลลูกค้าแบบใหม่ ซึ่งมีแผนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการปีหน้า แต่แบรนด์ที่สนใจก็จำเป็นต้องมี LINE OA ร่วมกันก่อน เพื่อนำข้อมูลของ LINE ไปประกอบหลังบ้าน ร่วมกับแพลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อให้ทำความรู้จักลูกค้าให้ดีขึ้น
อิทธิพลและพลังของเอเชียเหนือทั่วโลก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอเชียได้ก้าวเข้ามาเป็นขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ของโลก เฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มูลค่าการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ใน 3 ไตรมาสแรกมีมูลค่ารวมกว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าทวีปอเมริกาเหนือกว่า 3 เท่า ส่งให้เอเชียกลายเป็น “New Power” ที่อิทธิพลและพลังเหนือภูมิภาคอื่นทั่วโลก
หากวัดเฉพาะผู้บริโภคของไทย ประเทศไทยขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านการช้อปปิ้งผ่านโซเชียลมีเดียมาตั้งแต่ปี 2559 โดยเฉพาะ Chat Commerce ซึ่งมีผลสำรวจเผยว่า เป็นช่องทางการซื้อขายรูปแบบ E-Commerce ที่ดีที่สุดสำหรับเอสเอ็มอีไทย
หากวัดจากผลตอบแทนจากการลงทุนหรือ ROI – Return on Investmentจึงอาจกล่าวได้ว่า Chat Commerce คือช่องทางที่ดีที่สุดสำหรับการขายสินค้าแบบ E-Commerce ที่เหมาะและตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยได้อย่างลงตัว
LINE จึงได้เปิดให้บริการ MyShop เครื่องมือที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพ LINE OA ด้านการขายของ ด้วยระบบหน้าร้านออนไลน์ ระบบจัดการสต๊อกสินค้า เป็นต้น ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยพบว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Merchandise Value) ของ MyShop มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 17 เท่านับตั้งแต่เปิดให้บริการมา