คอนเทนต์การ์ตูนบนช่องทางออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งช่องทางการอ่านที่คนไทย Gen Z หันมาอ่านกันมากขึ้น แม้ว่า LINE WEBTOON จะเปิดให้บริการมากว่า 5 ปี แต่ก็ต้องยอมรับว่าจำนวนนักเขียนยังไม่ได้มากเท่า การเขียนคอนเทนต์แบบนิยาย เพราะสร้างสรรค์ได้ง่ายกว่าและไม่ต้องเสียเวลาวาด
ทำให้ระยะเวลานานถึง 5 ปี นักเขียนการ์ตูนชาวไทยบน LINE WEBTOON ยังมีจำนวนเพียง 45 คน จากทั่วโลกที่มีกว่าหลักพันคน ซึ่งเหตุผลที่นักวาดยังไม่ค่อยใช้ช่องทางนี้มากนัก อาจเพราะต้องใช้เวลาในการทำงานมากกว่าการเขียนเพียงอย่างเดียว รวมทั้งการจินตนาการออกมาเป็นภาพไม่ได้ง่ายนัก สำหรับคนที่มีใจรักงานเขียนแต่ไม่เก่งด้านการวาดภาพ
ทำความรู้จัก LINE WEBTOON
คุณฮานา ชา หัวหน้าธุรกิจเว็บตูน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่าให้ฟังว่า LINE WEBTOON เริ่มต้นที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยมีนายคิม จุนกู เป็นผู้ก่อตั้ง เมื่อปี 2557 มีจุดกำเนิดมาจากบริการด้านคอนเทนต์ ของ Naver ซึ่งเป็นเว็บให้บริการสืบค้นข้อมูลหลักของประเทศ
หลังจากนั้น LINE WEBTOON ได้เริ่มเปิดให้บริการไปทั่วโลกและประสบความสำเร็จในหลายๆประเทศ โดยมีผู้อ่านทั่วโลกมากกว่า 60,000,000 คนต่อเดือน ด้วยคอนเทนต์ให้เลือกอ่านมากกว่า 1,300,000 เรื่องทั่วโลก ขณะที่ในประเทศไทย มีผู้ใช้งานกว่า 16,800,000 คน
นอกจากนี้ LINE WEBTOON ยังต่อยอดให้กับแพลตฟอร์มเอนเทอร์เทนเมนท์อื่นๆ ทั้งในธุรกิจภาพยนตร์ โทรทัศน์ รวมทั้งการทำสินค้าลิขสิทธิ์ นับเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ LINE WEBTOON ทำให้ความนิยมและวัฒนธรรมการบริโภคเว็บตูนบนเว็บ / แอพ แพร่หลายมากขึ้น
LINE WEBTOON กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มียอดผู้อ่านเติบโตสูง โดยยอดผู้อ่านต่อวันเติบโตกว่า 4,448 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่ปี 2557
ขณะเดียวกัน LINE WEBTOON ไม่เพียงมอบประสบการณ์ใหม่ให้เฉพาะสำหรับผู้อ่านเท่านั้น แต่ยังเป็น Ecosystem อุตสาหกรรมเว็บตูน ขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้กับครีเอเตอร์ทุกคนด้วย อีกทั้งมีเป้าหมายที่จะผลักดันกลยุทธ์ทางธุรกิจ ไปยังคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมสากลไปพร้อมกับการสนับสนุนครีเอเตอร์ท้องถิ่นด้วย
“จุดแข็งของครีเอเตอร์ท้องถิ่นคือ เข้าใจในบริบทของประเทศนั้นๆ ได้ดีกว่านักเขียนที่มาจากต่างประเทศ แต่ครีเอเตอร์ท้องถิ่นก็ต้องเจอความท้าทายในเรื่องของการใช้ฟีเจอร์ที่ LINE ออกแบบมา ให้ง่ายต่อการใช้งานของลูกค้าเช่นกัน”
นอกจากนี้ ครีเอเตอร์ชาวไทยเรียกว่ามีฝีมือและโอกาสในการเติบโตอย่างมาก จนเรียกได้ว่าเป็น HUB ของนักอ่านภูมิภาคนี้ได้เลย แม้ว่าผู้อ่านคอนเทนต์การ์ตูนชาวไทยจะเติบโตถึง 16 ล้านราย แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตมีการเติบโตได้มากขึ้นเรื่อยๆ
แนวทางการสร้างรายได้
LINE WEBTOON มีโมเดลธุรกิจที่จะสนับสนุนและพัฒนาครีเอเตอร์ให้ก้าวไปสู่ระดับมืออาชีพ โดยครีเอเตอร์ทุกคนทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพสามารถที่จะเข้าเผยแพร่ผลงานลงบน “แคนวาส” หากมีคอนเทนต์ใดที่น่าสนใจ ทางเราจะต่อยอดผลงานนั้นไปสู่ระดับโลก ซึ่งปัจจุบันมีครีเอเตอร์เผยแพร่ผลงานลงบนแคนวาสแล้วมากกว่า 77,047 เรื่อง
เคสตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของครีเอเตอร์ไทย คุณพีรพัชร เลขกุล จากเรื่อง “คุณแม่วัยใส” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมียอดผู้ติดตามกว่า 2,400,000 คน ยอดผู้อ่าน 235,000,000 วิว และ ได้รับการแปลเป็นภาษาเกาหลี ญี่ปุ่น และภาษาอื่นๆ อีกหลายภาษา
อีกทั้งยังถูกนำไปสร้างเป็นซีรีย์บนหน้าจอโทรทัศน์ สะท้อนให้เห็นว่าเว็บตูนสามารถสร้างงานให้กับครีเอเตอร์ผ่านแอปฯ LINE WEBTOON ยิ่งไปกว่านั้น เฉพาะในปี 2562 นี้ ครีเอเตอร์ท่านนี้ ยังได้รับค่าตอบแทนจากเว็บตูน มากกว่า 2,800,000 บาท
LINE WEBTOON พร้อมเดินหน้าในการสร้างระบบ Ecosystem ให้เป็นสังคมคอมมิคออนไลน์ขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งส่งเสริมครีเอเตอร์เว็บตูนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพวกเขาจะไม่ได้มีชื่อเสียงเพียงแค่ในประเทศเท่านั้น
แต่จะผลักดันให้สร้างชื่อเสียงไปไกลระดับโลก เพื่อเป็นโอกาสและการสร้างรายได้ให้กับพวกเขา ซึ่งหลังจากที่ LINE WEBTOON เปิดบริการให้ผู้อ่านได้ซื้อตอนเว็บตูนอ่านล่วงหน้า
เมื่อปลายปี 2561 ยอดรายได้เติบโตกว่า 11,485 เปอร์เซ็นต์ ตอกย้ำว่าอาชีพครีเอเตอร์เว็บตูน เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าจับตามอง ซึ่งตอนนี้เรามีเนื้อหาคอนเทนต์ที่มีคุณภาพขยายออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้เข้ามาใช้งานแอปฯ LINE WEBTOON มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การกระตุ้นธุรกิจอื่นๆ ของเว็บตูน
“บริการหลักของเราเป็นการให้ใช้งานฟรี แต่ก็มีผู้อ่านบางท่านต้องการที่จะอ่านตอนต่อไปก่อนและยอมจ่ายเงินแบบ Fast Past มากขึ้น แต่ยังมีสัดส่วนเพียง 10% ซึ่งในปีหน้าทาง LINE จะผลักดันส่วนนี้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับนักเขียน”
ทางด้านมุมผู้เขียนก็ต้องปรับตัวในการเขียนเรื่องให้เร็วขึ้นและสต็อกจำนวนมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทางรายได้แบบ Fast Past นี้ โดยบริษัทจะมีการเทรนนิ่งผู้เขียนในเรื่องของการพัฒนาฟีเจอร์ จากทีมนักเขียนชื่อดังจากเกาหลี เพื่อให้นักเขียนไทยเข้าใจในแนวทางและสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเขียนเรื่องให้ได้หลากหลายมากขึ้น
นอกจากนี้ ทาง LINE WEBTOON ยังพัฒนาเรื่องของอีโคซิสเต็มในการชำระเงินให้กับผู้ที่อยากอ่านตอนถัดไป ให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น
“รายได้หลักของนักเขียนจะมาจากการลงโฆษณาของแบรนด์และ Fast Past ที่เราจะผลักดันอย่างหนักในปีหน้า เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางรายได้ของนักเขียน จะได้มั่นใจว่าอาชีพครีเอเตอร์สามารถเป็นอาชีพหลักได้ในอนาคต เช่นเดียวกับครีเอเตอร์ที่ทำสติกเกอร์ผ่านแพลตฟอร์มของ LINE”
ทางด้านของการคัดกรองเนื้อหานั้น ทางทีมหลังบ้านของ LINE จะมีการคัดกรองเรื่องราวที่เหมาะสมก่อนนำขึ้นระบบทุกครั้ง เพราะไม่อยากให้คอนเทนต์บน LINE WEBTOON มีปัญหาในเรื่องของความรุนแรง เรื่องเพศและอื่นๆ เนื่องจากแพลตฟอร์มของเราเข้าใช้งานได้ทุกเพศและทุกวัย
เห็นได้จากคอนเทนต์ที่ติดตลาดและได้รับการยอมรับจากผู้อ่านนั้น ส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องราวหวานแหวว สะท้อนสังคม ดราม่า ระทึกขวัญ แฟนตาซี เป็นต้น ซึ่งคอนเทนต์เหล่านี้ สนุกและโดนใจผู้อ่านโดยไม่ต้องมีเรื่องของเพศหรือความรุนแรงเข้ามากระตุ้นก็มีผู้อ่านติดตามต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ความพิเศษของฟีเจอร์ใน LINE WEBTOON คือการรับชมแบบมีอินเทอร์แอคทีฟ คือ เสียงประกอบหรือการโต้ตอบกับผู้อ่าน ทำให้เป็นจุดแข็งที่ผู้อ่านยังใช้งาน LINE WEBTOON
แคมเปญกระตุ้นคนอ่าน ผลตอบรับดีขึ้น
เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี ในประเทศไทย LINE WEBTOON จึงได้จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อขอบคุณแฟนๆ ตัวจริงของเว็บตูน กับการค้นหาแฟนพันธุ์แท้ใน “Game of Toons” ชิงรางวัลพิเศษ รวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท
ซึ่งในกิจกรรมนี้ ยังมีนักแสดงวัยรุ่นชื่อดังหลายคนมาร่วมเป็นกัปตันทีมอีกด้วย อาทิ เจเจ กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม กัปตันทีม Darkness แบงค์ ธิติ มหาโยธารักษ์ กัปตันทีม Fighters ไอซ์ พาริส อินทรโกมาลย์สุต กัปตันทีม LOL และฟรัง นรีกุล เกตุประภากร กัปตันทีม Sweet Heart
หลังจากเปิดตัวและทำการคัดเลือกเพื่อหาตัวแทน 100 คน เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็ได้รับความสนใจจากผู้ใช้เว็บตูนอย่างมากมาย และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมตอบคำถามควิซออนไลน์ Game of Toons กว่า 410,000 รายชื่อ โดยผู้เข้ารอบสุดท้าย 100 คน จากทั้ง 4 ทีม จะมาแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ที่บริเวณ ลานด้านหน้า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 นี้
ขณะเดียวกันภายในงานนี้ยังมีกิจกรรมมากมาย รวมทั้งเปิดโอกาสให้สาวกเว็บตูนได้พบปะกับครีเอเตอร์ชื่อดังทั้งไทยและเกาหลีอีกหลายคน โดยเฉพาะ ปาร์ก แท จุน นักเขียนจากเรื่อง Lookism’ และ Meow นักเขียนจากเรื่อง ‘ความลับของนางฟ้า’
โดยผลตอบรับของแคมเปญต่างๆ ที่จัดมาตลอดระยะเวลา 3 ปีนั้น เรียกว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างการจัดงานครั้งแรกของ LINE WEBTOON ร่วมกับทาง Thailand Comic Con 2017 ซึ่งเป็นการสร้างการรับรู้ที่ดี ต่อมากับการจัดงาน FanSign ของนักเขียน LINE WEBTOON ชาวเกาหลี ในปี 2018 ก็พบว่ามีผลตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าผู้อ่านตอบรับและยอมรับผลงานของนักเขียนคอนเทนต์บนระบบของ LINE WEBTOON
ทั้งนี้ การจัดแคมเปญในปี 2019 ก็มีคนลงทะเบียนร่วมกิจกรรมกับทาง LINE WEBTOON มากถึง 4 แสนคน ถือว่าเป็นการตอกย้ำความแข็งแรงของเราและขอบคุณแฟนๆ ที่อยู่กับเรามาตลอดระยะเวลา 5 ปี เชื่อว่าต่อจากนี้จะมีทั้งผู้เขียนและผู้อ่านมากข้ึนอย่างแน่นอน เพราะตอนนี้ในไทยมีนักเขียนเพียง 45 คนจากทั่วโลกรวมกันมีหลักพันคน ซึ่ง LINE พยายามที่จะให้มีตัวเลขทั้งสองกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ