ทุกวันนี้บอกได้ว่าเรามี Co-Working Space เกิดขึ้นมากมาย เพียงแต่ว่า Co-Working Space แต่ละแห่งก็มีเอกลักษณ์ของตัวเองแตกต่างกันไป บางแห่งอาจสร้างขึ้นมาสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัป บางแห่งอาจสร้างขึ้นมาสำหรับกลุ่ม Social entrepreneur ฯลฯ ด้วยเหตุนี้คนดิจิทัลอย่าง “รุ่งโรจน์ ตันเจริญ” แห่งลีฟ เลิร์น ลิงค์ จึงมองเห็นโอกาสว่า การมี Co-Working Space สำหรับคนในสายงานดิจิทัลเพิ่มขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีไม่น้อย และนั่นจึงนำไปสู่การถือกำเนิดของ “LINK Collaboration Space” ในย่านบรรทัดทอง อีกหนึ่งเขตชุมชนที่สำคัญของกรุงเทพมหานครขึ้นมาเป็นทางเลือกของคนดิจิทัลด้วยอีกแห่งหนึ่ง
โดยสิ่งที่รุ่งโรจน์มองเห็นก็คือ ตลาดการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลในครึ่งปีแรกของปี 2560 นั้นเติบโตกว่า 29% และคาดว่าตัวเลขรวมทั้งปีจะมีมูลค่าสูงกว่า 12,000 ล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้น การเติบโตในระดับนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า
ในขณะที่คนทำงานสายดิจิทัลนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า “ขาดแคลน” เมื่อเทียบกับความต้องการของตลาด ในมุมของรุ่งโรจน์จึงเห็นว่า หากมีพื้นที่ศูนย์กลางโดยเฉพาะสำหรับคนสายดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น Freelance, พนักงานองค์กร, เอเจนซี, แบรนด์ต่าง ๆ เอาไว้เป็นที่สร้างสรรค์แรงบันดาลใจในการทำงาน แบ่งปันองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงต่อยอดทำสิ่งใหม่ ๆ ด้วยกันก็น่าจะเป็นพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี
บริการที่แตกต่าง
เมื่อตั้งใจจะให้ LINK Collaboration Space เป็นศูนย์รวมของคนดิจิทัลแล้ว สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นตามมาคือบริการที่สามารถสร้างความแตกต่างและตอบโจทย์ได้ชัดเจน ดังนั้น สิ่งที่จะมีให้บริการแก่ผู้ที่สมัครสมาชิกของ LINK Collaboration Space จึงประกอบด้วย
- พื้นที่ส่วนกลางที่โปร่งโล่ง (สูง 12 เมตร) และต้นไม้ในส่วนกลางเหมาะสำหรับนั่งคิดงานที่สามารถรองรับได้ประมาณ 30 ที่นั่ง โดยเปิดให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง และมีบริการพิมพ์เอกสารด้วย
- เจ้าหน้าที่ให้บริการทุกวันระหว่าง 9.30 – 19.30 น.
- ห้องประชุมสำหรับการคุยงานต่าง ๆ ที่รองรับได้ตั้งแต่ 4 – 30 คน มีจอทีวี ลำโพง ไวท์บอร์ดทุกห้อง
- พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมที่รองรับได้มากที่สุด 100 คน
- บริการ Social Insight Monitoring จาก Zanroo สำหรับสมาชิกได้เข้าใช้งานฟรี
- ห้อง Studio สำหรับรองรับผู้ที่ต้องการสร้างสรรค์งาน โดยมาพร้อมกับกล้องถ่ายภาพ ชุดไฟ ฉาก รวมถึงรองรับการทำ Facebook Live, YouTube Live, รองรับการอัดเสียง Podcast และบริการทีมงาน Post-Production สำหรับตัดต่อหลังการถ่ายทำ
- กิจกรรม Meetup – Workshop ต่าง ๆ ที่จะจัดขึ้นทุกสัปดาห์ (ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป) และหลักสูตรเสริมศักยภาพสำหรับคนดิจิทัลทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Accenture, Content Shifu เป็นต้น
- บริการ LINK Creator สำหรับช่วยเหลือบรรดา Online Creators ที่อาจถนัดสร้างชิ้นงาน แต่ไม่ถนัดด้านงานเซลล์, งานเอกสาร, งานวางแผนการตลาด ฯลฯ ก็จะมีทีมจาก LINK Creator เข้ามาช่วยให้ Creators สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้
- ฐานข้อมูลสำหรับคนดิจิทัล สำหรับหาเพื่อนร่วมงานในแขนงต่าง ๆ หรือสำหรับส่งต่องานจากลูกค้า ฯลฯ
- ห้องนอนสำหรับไว้พักผ่อนสายตา
- ร้านกาแฟสำหรับเติมพลัง
- ห้องอาบน้ำสำหรับผู้ใช้บริการ
นอกจากนี้ “LINK Collaboration Space” ก็คือพื้นที่ที่เราจะได้พบกันในงาน Digital Matters ครั้งที่ 9 ในวันที่ 14 กันยายนนี้ด้วยค่ะ เลยขอนำแผนที่มาฝากกันสำหรับท่านที่ต้องการวางแผนการเดินทางค่ะ