แม่ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์ แห่งเพจแม่และเด็กชื่อดังอย่าง Little Monster ที่ต้องยอมรับว่าตอนนี้ถือเป็นตลาดใหญ่มากๆ เพราะปัจจุบันมี Influencer แม่และเด็กเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าชื่อของ Little Monster นั้นขึ้นมาอยู่เป็นอันดับต้นๆ ของวงการ
โดยนอกเหนือจากการผลิตคอนเทนต์ดีๆ ยังขยายไปทำธุรกิจในสายที่เกี่ยวข้องกับแม่และเด็กด้วย ซึ่งแม่ตุ๊กจะมาเล่าว่าการทำธุรกิจกับเด็กจนประสบความสำเร็จได้อย่างไร ซึ่งทีม Thumbsup จะมาเล่าให้ฟังค่ะ
มองภาพของตัวเองเป็นแบบไหน ในวงการธุรกิจแม่และเด็ก ?
นิรัตน์ชญา: จริงๆ เราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็น influencer แม่และเด็กนะ แต่มองว่าเราเป็นคนผลิตสื่อคอนเทนต์ ซึ่งนำเสนอตัวเองออกมาในด้านของ ‘ครอบครัว’
ปัจจุบันแบรนด์ในเครือของ Little Monster มีอะไรบ้าง ?
นิรัตน์ชญา: ปัจจุบันจะมีเสื้อผ้า, Flash Card, Cookbook ด้วยความที่เรามีร้านอาหารก็จะมี Little Monster Shop ที่ร้านอาหาร Family Garden ในเร็วนี้ๆ โดยในร้านจะมีพื้นที่บางส่วนที่ทำเป็น Little Monster Shop หรือร้านค้าขายของที่ตกแต่งในสไตล์ของ Little Monster ด้วยฟิกเกอร์ตัวการ์ตูนต่างๆ
ส่วนในร้านก็จะมีผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้น เช่น กระเป๋า ที่ติดกระเป๋าน่ารักๆ และจะมีผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นแบรนด์มากกว่าเป็นของภายใต้แบรนด์ Little Monster หรือตัวการ์ตูนเขียวๆ ที่เราก็คุ้นตากัน
นอกจากออฟไลน์เราก็จะมีออนไลน์ โดยมีช่องหนึ่งก็คือ Little Monster Kids เป็นช่องการ์ตูนแบบไม่มีคน จะเป็นการ์ตูนเสริมสร้างทักษะให้เด็ก แล้วเป็นการ์ตูนพากย์ภาษาอังกฤษ ซึ่งเราเอาเด็กๆ ลูกของเรานี่แหละไปพากย์เสียง นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์อาหารที่เมื่อก่อนใช้ชื่อว่า Little Munchy ที่เราใช้ตัวคาแรคเตอร์มาตกแต่งผลิตภัณฑ์ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น Happy Munchy แล้ว
ทำไมต้องรีแบรนด์ผลิตภัณฑ์จาก Little Munchy เป็น Happy Munchy ?
นิรัตน์ชญา: เราเริ่มรีแบรนด์มาไม่ถึงปี โดยสาเหตุที่เปลี่ยนแปลงคืออยากขยายตลาด ให้กลุ่มวัยรุ่นหันมาเริ่มทานด้วย มากกว่าการเป็นแค่อาหารสำหรับเด็ก ซึ่งพอเราเปลี่ยนรูปลักษณ์ของแบรนด์ก็ทำให้คนซื้อเยอะขึ้นทุกเพศทุกวัย
ในตอนแรกก็คิดว่าบรรจุภัณฑ์เดิมที่มีตัวการ์ตูนของ Little Monster นั้นจะช่วยดึงดูดได้ในเรื่อง Brand Awareness แต่ถ้าเป็นส่วนแบรนด์ Little Munchy จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างมีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย จนคิดว่าคนก็จะมองว่าเป็นแบรนด์ใหม่หรือเปล่า
เราจึงเริ่มค่อยๆ กระจายไปในเพจ เพื่อส่งให้คนเข้าใจว่านี่คือบรรจุภัณฑ์ใหม่นะ ส่วนคอนเทนต์ที่เราลงก็จะไม่ได้เน้นแค่เรื่อง How-to แต่มีการใช้คอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการทำวิดีโอคอนเทนต์ให้ลูกเรากิน ก็จะมีวัยรุ่นที่เห็นแล้วอยากลองทานบ้าง หรือจะมี influencer ด้านสุขภาพมาซื้อของ แล้วก็รีวิวให้ จนเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าของเราไปด้วย
เพราะตัว Little Munchy นั้นเด็กทานได้ ผู้สูงอายุก็ทานได้ และคนรักสุขภาพก็ทานได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็น Low Sugar เรียกได้ว่าเป็นการขยายตลาด จากเดิมที่มันโตยากเพราะจำกัดอยู่แค่ตลาดเด็ก
เริ่มต้นการทำธุรกิจมาจากจุดไหน ?
นิรัตน์ชญา: ธุรกิจตัวแรกที่ทำคือ เสื้อผ้าภายใต้ตัวการ์ตูน Little Monster ตรงนั้นก็มาจากที่เราทำกราฟิก ดีไซน์อยู่แล้ว ตอนออกแบบรู้สึกว่าเราอยากทำให้ลูกใส่ จนเป็นที่มาของการทำเสื้อผ้า
ต่อด้วย Flash Card เพราะด้วยความที่เราอยากให้ลูกพูดภาษาอังกฤษได้ก่อนที่เขาจะต้องไปโรงเรียน เราก็เลยเริ่มต้นคิดว่าจะสอนเขายังไง อย่างการติดโน้ตไว้ตามจุดต่างๆ ของบ้าน
แล้วเราก็รู้สึกว่าไม่สะดวกนัก เราเลยทำเป็นการ์ดขึ้นมา แล้วพอมันเริ่มได้ผลกับลูกของเรา เราก็อยากให้คนอื่นๆ ได้พูดภาษาอังกฤษกับลูกด้วย จนเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ที่วางขาย
สรุปหลักการทำธุรกิจเกี่ยวกับครอบครัวให้สำเร็จ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรา
นิรัตน์ชญา: มองว่ามันต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง ถ้าเราสร้างตัวตนว่าเราเป็นแม่ที่รู้ไปหมดทุกเรื่อง เราก็คงทำแบบนั้นได้ประมาณเดือนหนึ่งจากนั้นสมองจะเริ่มแห้ง เพราะมันไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่ถ้าเรานำเสนอออกมาในด้านของแม่ที่หลุดหรือมีการทำผิดพลาดบ้าง
เช่น คลิปทำอาหารบางทีก็มีพลาด ทำแล้วกินไม่ได้ก็มี บางเรื่องรู้จริงเราก็จะเขียนว่ารู้จริง บางเรื่องไม่รู้ก็คือไม่รู้ ลูกทะเลาะกันก็คือลูกทะเลาะกัน หรือลูกอิจฉากันก็คือเรื่องปกติ
เราค่อนข้างอยู่ในพื้นฐานของชีวิตจริงๆ ด้านที่คนเห็นตามสื่อมันก็เป็นด้านที่ดี ส่วนใหญ่จะเป็นด้านดี และเป็นมุมที่เกิดขึ้นจริง หรือไม่ได้จัดฉาก มันก็เป็นไปในทางเดียวกันกับเรื่องราวที่อยู่ในการ์ตูน
และเพราะนำเสนอออกมาในแง่มุมที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่และอีกหลายๆ คน รวมถึงเป็นการผลิตคอนเทนต์อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงที่เข้าถึงง่าย มันก็เลยเข้าถึงคนได้ง่าย
ซึ่งความยากของการทำงานกับเด็กคือมีสคริปต์เป๊ะๆ ไม่ได้ แต่มันจะมีลำดับ เช่น เราจะเริ่มเล่าเรื่องที่บ้าน แล้วไปจบที่ร้านอาหาร ระหว่างทางก็จะเป็นโครงคร่าวๆมากกว่า เราจะเชื่อมโยงเรื่องราวของเราอย่างไรให้มันเข้ากับวิถีชีวิตของบ้านเราแทน
การทำงานร่วมกันกับเด็กก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ?
นิรัตน์ชญา: ถ้าใครจะมาสร้าง Little Monster จะต้องไม่มีสคริปต์ มีได้แค่ Key Message เพราะเราควบคุมเขาไม่ได้ ซึ่งเราอาจจะบอกเขาได้แค่ว่า ไหนลองบอกวันที่ที่มีโปรโมชัน เขาก็สู้ได้แค่นั้น แต่ถ้าเราบอกว่าไหนกินแล้วหัวเราะแล้วบอกว่าอร่อยซิ เขาก็ทำไม่ได้ เพราะลูกเราเองก็ไม่ใช่นักแสดง
และการที่เราทำงานตรงนี้ มันมีความเครียดที่ลูกไม่ค่อยรู้หรอก เป็นการเครียดในสิ่งที่มันควบคุมไม่ได้ เพราะเราควบคุมเด็กๆ ไม่ได้ บางวันถ่ายไม่ได้ก็ต้องยกกอง ถ้าถามว่าแบ่งชีวิตยังไง ก็ตอบได้ว่าไม่ได้แบ่งชัดเจนว่าพอจบเวลานี้แล้วไม่คิดอะไร แต่เรากลับมามองว่าในเมื่อเรามีสภาพแวดล้อมแบบนี้ในชีวิต เราจะอยู่กับมันยังไงให้ไม่เครียด และมีความสุขในการทำงานมากกว่า
โดยให้มองในมุมที่ว่า ถ้าพลาดก็คือพลาด เพราะถึงพยายามอุดรอยรั่วไว้หมดแล้ว ถ้ามันยังรั่วอยู่ก็คงทำอะไรไม่ได้ ให้เราคิดการเล่าเรื่องเอาไว้ทั้งหมดว่าจะออกมาเป็นแบบไหน แล้วทำให้ลูกสนุกกับสิ่งที่เขาทำได้อย่างไร
บริหารจัดการอย่างไร เมื่อการทำงานกับเส้นชีวิตส่วนตัวใกล้กันมาก ?
นิรัตน์ชญา: จริงๆ มันคือเส้นเดียวกันเลย ในความรู้สึกพี่ ครอบครัวมันกลายเป็นงาน ปัญหาที่เกิดขึ้น คือเราไม่สามารถที่จะแบ่งเวลาได้ สมมติบางคนทำงานห้าวัน เสาร์อาทิตย์เขาเที่ยว แต่ด้วยความที่เส้นแบ่งของเรามันจางเกิน กลายเป็นว่าเราทำงานเจ็ดวัน บางทีงานโฆษณาเข้ามา เราจะต้องอัดคลิปยังไงให้เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่งาน ให้มันผสมผสานกันไปกับชีวิตของเรา เหมือนชีวิตประจำวันของเรา
ไม่ได้มองว่าลูกๆ ต้องมาทำด้วยกันตลอดไป ?
นิรัตน์ชญา: แม้ว่าสิ่งที่เห็นตอนนี้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเด็ก แต่เราทำเพราะว่าเราไม่ได้อยากจะทำในสิ่งที่มันจะต้องยึดตัวตนของลูก เพราะวันหนึ่งเมื่อลูกเราโตขึ้น เขาก็อาจจะบอกเราก็ได้ว่า “คุณแม่คะหนูไม่อยากถ่ายแล้ว”
ทำให้เราคิดทำช่องที่เอาตัวการ์ตูนเป็นตัวนำ หรือการทำร้านอาหารแล้วก็ทำร้านค้าขึ้นมา เพราะเราไม่ได้อยากบังคับเขาว่าจะต้องถ่ายอะไร นอกจากเขาอยากจะถ่ายเอง ซึ่งพี่มองว่าตรงนี้มันเป็นทางเลือกให้เขา แล้วถ้าวันนึงเขาบอกเราว่าเขาอยากเป็น influencer หรืออยากทำช่องตัวเอง เราก็มีต้นทุนให้เขา แต่ถ้าเขาไม่อยากทำก็ไม่เป็นไร
ถ้าสังเกตจะพบว่า Little Monster มีหลายแพลตฟอร์มทั้ง facebook, Youtube, IG, Twitter เพราะเราไม่ได้ยึดลูกเป็นหลักขนาดนั้น แต่การทำสื่อเป็นผลพวงให้เขาเป็นที่รู้จักขึ้นมากกว่า
มุมมองต่อตลาดแม่และเด็กปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง ?
นิรัตน์ชญา: มันมี Demand ค่อนข้างสูงนะ เพราะคนจะมีกำลังซื้อค่อนข้างเยอะ แล้วก็มีคุณแม่หลายท่านมาทำธุรกิจเกี่ยวกับแม่และเด็กเยอะด้วย เรียกได้ว่ามีตลาดใหม่ๆ ที่น่าสนใจเยอะแยะ แล้วยังเป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ด้วย สำหรับในความรู้สึกเรามันจะมีความเฉพาะตัว และจะขยายขอบเขตไปใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
สิ่งที่อยากฝากถึงคนที่สนใจอยากทำธุรกิจในกลุ่มของแม่และเด็ก
นิรัตน์ชญา: อยากฝากว่าก่อนที่เราจะเข้ามาทำธุรกิจตรงนี้ เพื่อความปลอดภัยที่สุดก็ต้องทำการสำรวจเยอะหน่อย เข้าใจกลุ่มลูกค้าของเรา กลุ่มเป้าหมาย ว่าเป็นคุณแม่วัยไหน หรือว่าความต้องการเขาคืออะไร อย่างธุรกิจที่เราทำ ก็ทำการสำรวจกันเยอะ เพื่อดูว่าเกณฑ์ของกลุ่มเป้าหมายเราคืออะไร แล้วเราสามารถทำเกณฑ์ตรงนั้นให้เขาได้ไหม
คล้ายๆ ว่า ปัญหาที่มี อุปสรรคที่เขามีในการเป็นแม่มีอะไรบ้าง แล้วก็อีกเรื่องนึงที่อยากจะฝาก ถ้าใครสนใจทำธุรกิจแม่และเด็ก อยากให้เอาผลสำรวจมาดู ดูตลาด จากนั้นก็ลุยเลย!! อยากให้เต็มที่กับมัน แต่ว่าด้วยความที่มันเป็นตลาดแม่และเด็ก เราก็ควรทำรีเสิร์ชดีๆ ให้รอบคอบและทำให้แน่ใจว่า ทั้งลูกเราและลูกเขาใช้แล้วปลอดภัยจริง
ในปัจจุบันคุณตุ๊กบอกเราว่าทีมงาน Little Monster นั้นมีด้วยกันทั้งหมดรวมทุกแผนก 19 คนแล้ว จากจุดเริ่มต้นที่มีเธอคนเดียวแล้วค่อยๆ เติบโตขึ้น ซึ่งเรามองว่าน่าจะเติบโตได้อีกมาก และเป็นแบรนด์ที่ขยายตัวเองได้น่าจับตาต่อไปในอนาคต