พอพูดถึงนกพิราบ ในความคิดของหลายๆ คน มันก็ไม่ต่างจากหนูที่มีปีก คือมันเป็นสัตว์ที่น่ารำคาญ มีเชื้อโรค ขี้ไปทั่ว สกปรก แต่ตอนนี้มันกลับเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการวัดมลพิษในอากาศให้กับกรุงลอนดอนแล้ว
เมืองลอนดอนทุกวันนี้ มีประชากรประมาณ 8.6 ล้านคน ด้วยเมืองที่โตขึ้น มลพิษจึงมากขึ้นตาม ส่งผลต่อสุขภาพของพลเมือง และเป็นสาเหตุที่ทำให้มีคนตายหลายพันคนต่อปี บริษัท Plume Labs จึงสร้างโปรแกรมที่เรียกว่า หน่วยตระเวนพิราบแห่งสหราชอาณาจักร (Pigeon Patrol U.K.) ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
วิธีการทำงานคือ ผูกเครื่องตรวจจับคุณภาพของอากาศไว้กับตัวนกพิราบ เพื่อวัดระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ในอากาศและติดสัญญาณ GPS ไว้กับอีกตัวที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เพื่อที่จะได้รู้เส้นทางที่มันบินผ่าน สุดท้ายค่าที่วัดได้จะถูกทวิตผ่านบัญชีชื่อ @PigeonAir
And we’re off! The first #PigeonAir patrol flies from Brick Lane, monitoring air pollution as we go! pic.twitter.com/W8KnyrxnCe
— Pigeon Air Patrol (@PigeonAir) March 14, 2016
อุปกรณ์ที่ใช้ติดกับนกมีน้ำหนักเพียง 25 กรัม จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการทารุณสัตว์จนเกินไป นกพิราบยังสามารถบินได้อย่างอิสระเสรี ขอความร่วมมือจากผู้พบเห็นเพียงแค่อย่าไปจับมันก็พอ ถึงแม้ว่ามันจะมาจิกอาหารของเราอยู่ ก็ขอร้องว่าอย่าไปแตะมัน
การใช้นกพิราบให้เป็นประโยชน์ก่อนหน้านี้ก็คงจะเป็นตอนที่ใช้มันสำหรับสื่อสารในช่วงสงคราม เมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัลก็ยังใช้นกพิราบเหมือนเดิม ส่วนตัวเลยรู้สึกว่ามันดูน่ารัก เหมือนว่าทั้งคน ทั้งสัตว์ ต่างก็ปรับตัวไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ถ้าชาวอังกฤษอยากรู้ข้อมูลค่ามลพิษในเมืองไหนเพิ่มเติม ก็สามารถทวิตไปถามที่ @PigeonAir ได้เช่นกัน
ที่มา : digitaltrend