ฉลองครบ 28 ปีในไทย โลตัส ยืนหนึ่งในวงการโมเดิร์นเทรด ต่อยอดสู่นิว สมาร์ต รีเทล ควบรุกออนไลน์และร้านสาขารูปแบบใหม่ พร้อมทุ่มงบกว่า 200 ล้านบาทส่งแคมเปญขอบคุณลูกค้าทั่วประเทศ
สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย เป็นแม่ทัพขับเคลื่อนค้าปลีกโลตัสมาตั้งแต่เริ่มต้น หรือทำงานเทียบเท่าเส้นทางเติบโต การเปลี่ยนแปลงของ โลตัสเช่นกัน เท้าความอดีตธุรกิจค้าปลีกยุค 1.0 เมื่อมีห้างสมัยใหม่เกิดขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเอาใจบรรดานักช้อป ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย จนแห่ใช้บริการคับคั่งเหมือน “ตลาดแตก”
พอเข้าสู่ค้าปลีกยุค 2.0 ห้างร้านมีความทันสมัยมากขึ้น เป็นมอลล์ขนาดเล็ก-กลาง ตอบโจทย์ชุมชน ครั้นเข้าสู่ยุค 3.0 “ออนไลน์” มีบทบาทมากขึ้นราว 10 ปีแล้ว ซึ่งโลตัส เป็นหนึ่งค้าปลีกรายแรกที่เปิดเกมบุกตลาด ขณะที่ปัจจุบันคือรีเทลยุค 4.0 รูปแบบร้าน การชอปปิงเป็นมีความเป็น “มัลติฟอร์แมท” มากขึ้น ทั้งร้านใหญ่ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ มินิซูเปอร์มาร์เก็ต และออนไลน์ เป็นต้น
นอกจากนี้ การชอปปิง 4.0 ผู้ประกอบการค้าปลีกต้องมุ่งสร้างแพลตฟอร์มค้าขายเป้น “ออมนิชาแนล” เชื่อมโลกออฟไลน์-ออนไลน์ ให้กลุ่มเป้าหมายซื้อสินค้าแบบไร้ร่อยต่อมากขึ้น
การเติบโตจากวันแรกสู่ปีที่ 29 สิ่งที่เป็นกุญแจ “ความสำเร็จ” ของโลตัสมาตลอด สมพงษ์ ยกให้เป็นเรื่องของ Agile หรือเคลื่อนค้าปลีกด้วยความยืดหยุ่น คล่องแคล่ว ว่องไว ภายใต้บริบททางธุรกิจการแข่งขัน ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“การเคลื่อนธุรกิจค้าปลีกยากทุกยุค แต่ยุคต้นมีความง่ายตรงที่ผู้บริโภครอคอยอยู่แล้ว ผู้ประกอบการแค่วางแผนขยายร้าน ตอนนี้การแข่งขันสูง จึงต้องปรับตัวเร็ว เพราะความยากยุคนี้คือความเร็วหรือ Speed”
เป้าหมายใหญ่ โลตัส มุ่งสู่การเป็น “New SMART Retail” โดย 4 กลยุทธ์ที่ต่อยอดการเติบโต ได้แก่ 1.จะปรับเปลี่ยนห้างค้าปลีกให้เป็นจุดหมายปลายทางของนักช้อป(Destination) รวมถึงยกระดับห้างกว่า 2,700 สาขา เติมเต็มการซื้อสินค้า โดยเฉพาะเป็นจุดที่เสริมแกร่ง “ชอปปิงออนไลน์” ที่พฤติกรรมผู้บริโภคต้องการ “ความเร็ว” มากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นจิ๊กซอว์ผลักดันยอดขายออนไลน์แตะ 20% ใน 3 ปี จากปัจจุบันมีเพียง 5%
“กระแสโลกแข่งขันการส่งมอบสินค้าถึงมือลูกค้าให้เร็วสุด ใครอยู่ใกล้กลุ่มเป้าหมายย่อมได้เปรียบ” ทั้งนี้ โลตัสกว่า 2,700 สาขา จึงพร้อมเป็นเสมือนคลังสินค้า(Fulfilment Center)ที่ป้อนให้กลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าต้องการอะไร ขายให้หมด โดยไม่ต้อง “สต๊อก” สินค้าไว้ที่หน้าร้าน เพราะที่ผ่านมาสินค้าบางอย่างลูกค้าซื้อไม่ได้ เนื่องจากหน้าร้านไม่มีพื้นที่สต๊อกสินค้า
2.เปลี่ยนรูปแบบห้างเดิมให้เป็น “สมาร์ท คอมมูนิตี้ เซ็นเตอร์” หรือมอลล์ ที่เติมเต็มร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ สถานที่ออกกำลังกาย ฯ ตอบ “ไลฟ์สไตล์” ของผู้บริโภคมากกว่าแค่การมาซื้อสินค้า โดยโมเดลใหม่ดังกล่าว ประเดิมสาขาแรกที่ “นอร์ธปาร์ค” ราชพฤกษ์ จะเปิดให้บริการเดือนพฤศจิกายนนี้
สำหรับโมเดลมอลล์ จะมีขนาดตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร(ตร.ม.) ไปจนถึงหลัก “หมื่น” ตร.ม. ขึ้นกับทำเลและกลุ่มเป้าหมาย ส่วนการลงทุนมีตั้งแต่ 20 ล้านบาท จนถึงกว่า 100 ล้านบาทต่อสาขา
“อดีตการพัฒนาห้างค้าปลีกสร้างฟอร์แมทแมส ขยายได้เร็ว แต่ปัจจุบันต้องมีดีไซน์มากขึ้น ซึ่งภายใน 3 ปี จะปรับ 146 สาขาให้เป็นสมาร์ทคอมมูนิตี้เซ็นเตอร์ ซึ่งจะใช้งบลงทุนราว 3,000 ล้านบาท รูปแบบใหม่จะทำให้ลูกค้าใช้เวลานานขึ้น 1-2 ชั่วโมง เทียบกับห้างรูปแบบเดิมใช้เวลาราว 30 นาทีเพื่อซื้อสินค้า”
3.นำเทคโนโลยี เสริมแกร่งบิ๊กดาต้า เนื่องจากโลตัส มีฐานสมาชิก “มายโลตัส” กว่า 23 ล้านบัญชี จะนำมาวิเคราะห์ และทำการตลาด นำเสนอสินค้าตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะคนหรือ Personalized มากขึ้น นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI)มาช่วยในการนำเสนอสินค้า โปรโทชั่นให้ตรงความต้องการแต่ละคน รวมถึงการปรับร้านให้เหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น
และสุดท้าย 4.ห้างค้าปลีกเป็นเรื่องของการค้าขายสินค้าให้กับผู้บริโภค การเลือกสินค้ามาตอบกลุ่มเป้าหมายสำคัญมาก อนาคตสินค้าแต่ละสาขาจะ “แตกต่าง” กัน และจะเห็นการอัพเกรดเฮ้าส์แบรนด์ขยายสู่พรีเมียมมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเดิมใน 10 สาขา
ในแต่ละปีโลตัส มีการใช้งบลงทุนราว 12,000-15,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งขยายสาขา ลุยเทคโนโลยี ดิจิทัลต่างๆ ที่สำคัญแผนดังกล่าว จะผลักดันยอดขายโลตัสให้มีอัตราการเติบโต “เร็ว” ขึ้น ซึ่งปกติยอดขายเติบโตระดับ 2 หลักต่อปี
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสโลตัสครบรอบ 28 ปี ได้ ทุ่มงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท จัดแคมเปญใหญ่ทั้งในสาขาและช่องทางออนไลน์ด้วยการลดราคาแรงสูงสุด 40% ตั้งแต่ 29 กันยายน ถึง 2 พฤศจิกายน 2565 เพื่อตอบสนองลูกค้า