ที่ผ่านมา สังคมไทยอาจคุ้นเคยกับข่าวอุบัติเหตุบนท้องถนนจากรถบรรทุกกันมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายรวมถึงต่างประเทศมีการประกาศตัวเลขว่าไทยแลนด์ 4.0 นั้นยังเป็นประเทศที่ความปลอดภัยบนท้องถนนต่ำผ่านค่าสถิติต่าง ๆ ล่าสุดก็มีความพยายามจากภาคเอกชนพัฒนาระบบจำลองการขับรถบรรทุกเพื่อฝึกสอนคนขับรถบรรทุกให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญมากกว่าเดิมนั่นก็คือ “ล็อกซเล่ย์ ซิมูเลชั่น” ที่ใช้เครื่องซิมูเลเตอร์แบบ 6DOF เคลื่อนไหวอิสระ 6 ทิศทาง พร้อมมีสถานการณ์จำลองและปรับการฝึกอบรมตามความต้องการของลูกค้า โดยหวังเป็นส่วนหนึ่งช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนให้น้อยลง
โดยในช่วงแรกนี้ บริษัทได้สร้าง “ศูนย์ฝึกขับรถบรรทุกจำลอง” (LoxSim Driving Simulation Center) ขึ้นมาเพื่อเป็นต้นแบบศูนย์ฝึกอบรมการขับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ตลอดจนเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีซิมูเลเตอร์ด้านความปลอดภัยอย่างมืออาชีพ โดยใช้เทคโนโลยีจากบริษัท ออโต้ซิม (AutoSim) ผู้นำด้านระบบซิมูเลเตอร์จากนอร์เวย์ ซึ่งบริษัทฯ ได้รับสิทธิให้เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
โดยศูนย์ฝึกขับรถบรรทุกจำลอง ตั้งอยู่ในบริเวณสำนักงานล็อกซเล่ย์ สาขาบางเขน บนพื้นที่ 130 ตารางเมตร ใช้งบลงทุนกว่า 30 ล้านบาท จุดเด่นอยู่ที่เครื่องฝึกขับรถบรรทุกรุ่น AS1600 ที่พัฒนาโดย บริษัทออโต้ซิม ประเทศนอร์เวย์ ส่วนเครื่องซิมูเลเตอร์เป็นหัวรถบรรทุกแบบ 6DOF Motion Platform เคลื่อนไหวอิสระ 6ทิศทาง ซึ่งใช้หลักการเดียวกับเครื่องฝึกนักบิน สามารถจำลองเป็นรถบรรทุก รถบรรทุกกึ่งพ่วง หรือ รถบรรทุกของเหลว และสามารถตั้งค่าเครื่องยนต์ การบรรทุกน้ำหนัก ชนิดของวัตถุ เกียร์ ฯลฯ ได้ตามความต้องการของลูกค้า
รวมถึงกำหนดและปรับเปลี่ยนสถานการณ์ต่างๆ เช่น สภาพลมฟ้าอากาศ สภาพถนนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศไทยได้เบ็ดเสร็จ ทำให้ผู้เรียนสามารถฝึกขับรถบรรทุกในสถานการณ์ที่ฝึกขับจริงไม่ได้ อาทิ ถนนลื่น ผิวถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ การเบรคกะทันหันในขณะที่บรรทุกของเต็มคัน การเข้าโค้งด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้เรียนและเพิ่มทักษะเมื่อเจอสถานการณ์จริง
สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของศูนย์ฝึกได้แก่ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ต้องมีการขนส่งน้ำมัน สารเคมี วัตถุอันตราย วัตถุไวไฟ ปูนซีเมนต์ รวมถึงยานพาหนะฉุกเฉิน เช่น รถพยาบาล รถฉุกเฉินกู้ชีพกู้ภัย รถดับเพลิง เป็นต้น รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านลอจิสติกส์ หรือต้องการวิจัยด้านพฤติกรรมการขับขี่ต่างๆ