เปิดตัวเลขการใช้สื่อครึ่งปีแรก (มกราคม – มิถุนายน 2017) ของไทย พบหลายธุรกิจ เช่น ยานยนต์, เครื่องดื่ม Non-Alcohol และกลุ่มโทรคมนาคมใช้จ่ายน้อยลง ด้านสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทยชี้สิ้นปีมีแนวโน้มติดลบ 11% เหตุจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
เป็นตัวเลขที่อาจผิดคาดไปบ้างจากการประมาณการณ์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (Media Agency Association of Thailand : MAAT) ได้ออกมาเปิดตัวเลขของอุตสาหกรรมสื่อในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2017 พบว่า ภาพรวมของทั้งอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ถึงแม้ว่า GDP จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.3% แล้วก็ตาม โดยการใช้สื่อโดยรวมยังคงติดลบ -5% ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ตามสื่อแล้วพบว่า กลุ่มที่เติบโตลดลงได้แก่
- กลุ่มสื่อโทรทัศน์ (ดิจิทัลทีวี เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม) เติบโต -10%
- วิทยุ เติบโต -18%
- หนังสือพิมพ์ เติบโต -19%
- นิตยสาร เติบโต -37%
โดยทาง MAAT เผยว่า ภาพดังกล่าวเป็นการปรับตัวตามเทรนด์ โดยเฉพาะในกลุ่มหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่ได้รับความนิยมน้อยลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่นิตยสารมีการปิดตัวไปหลายฉบับในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่กลุ่มสื่อที่สวนกระแสมีการใช้จ่ายมากขึ้นได้แก่
- สื่อในห้าง (In-Store) เติบโต 38%
- สื่อ Transit เติบโต 27%
- สื่อโรงภาพยนตร์ เติบโต 25%
- สื่ออินเทอร์เน็ต เติบโต 24%
- สื่อนอกบ้าน เติบโต 16%
ในส่วนนี้ ทาง MAAT อธิบายเพิ่มเติมว่า อาจเห็นการเติบโตของสื่อโรงภาพยนตร์ก็จริง แต่เป็นผลมาจากการขยายจำนวนโรงภาพยนตร์ที่มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตัวเลขออกมาเป็นบวก ส่วนตัวเลขสื่ออินเทอร์เน็ตนั้นเป็นตัวเลขที่มาจากสองแหล่ง ได้แก่ Nielsen และ DAAT
ทั้งนี้เมื่อแยกเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายน้อยลงเป็นตัวเลขสองหลักเมื่อเทียบในช่วงเวลาระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน ปี 2016 และ 2017 ได้แก่
- Bank ลดลง 11.7%
- Daily Products & Dairy Substitute Product ลดลง 13.2%
- Travel & Tours ลดลง 13.3%
- Communications ลดลง 15.5%
- Vitamin & Supplementary Foods ลดลง 16.7%
- Government & Community Announcement ลดลง 19.4%
- Skincare Preparations ลดลง 20.9%
- Retail Shops/Stores ลดลง 21.4%
- Toiletries ลดลง 24.9%
โดยในกลุ่มธนาคาร (Bank) นั้น สมาคมมีเดียฯ ระบุว่า เป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ธนาคารออกผลิตภัณฑ์ใหม่น้อยลง รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบไปอยู่บนอุปกรณ์โมบายล์ และการขายตรงมากขึ้น ทำให้ภาพรวมของกลุ่มธนาคารปรากฏในลักษณะดังกล่าว ส่วนกลุ่มโทรคมนาคมนั้น พบว่ามีการ Shift ไปสู่สื่อดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ภาพรวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนในครึ่งปีหลังนั้น ทาง MAAT คาดการณ์ว่า จะยังไม่ใช่ช่วงที่สดใสเท่าไรนักเช่นกัน โดยคาดการณ์ว่าการใช้สื่อโดยรวมจะยังลดลง -11% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2016 ซึ่งสื่อต่าง ๆ อาจยังไม่มีการลงทุนเพิ่มเพราะยังรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ โดยอาจต้องดูสถานการณ์ในเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมอีกครั้งจึงจะเห็นภาพรวมของทั้งปีและคาดการณ์ของปีหน้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น