สัปดาห์ที่ผ่านมามี 1 Comment ที่ถูกพูดถึงประมาณหนึ่ง นั่นคือการที่ Facebook ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เข้าไป Comment Pages Facebook ที่ชอบแชร์ก็อปคลิปของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง เพื่อดึง Reach และ Traffic มาขายโฆษณาให้กับคนที่สนใจ โดยให้ความเห็นในโพสต์ที่เกี่ยวกับการเอาภาพยนตร์ที่กำลังฉายในในปัจจุบันมาให้คนดู (หนังซูม) ว่า “ไม่น่ารักเลย” สร้างความน่าสนใจให้กับคนบนโลกออนไลน์ แม้กระทั่งสงสัยว่านี่คือ Account หรือ Pages ปลอมมาสร้างสีสันหรือไม่
แต่เมื่อตรวจสอบกันจริงๆ แล้ว Page ที่เข้าไป Comment ว่า “ไม่น่ารักเลย” เป็น Pages ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจริง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่มากๆ กับการที่หน่วยงานไทยเข้ามาในโลกโซเชียลในสไตล์ “บุกเข้าถึงตัว” แบบน่ารักๆ
หากจะให้พูดถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญา เราก็คงคิดถึงภาพการกวาดล้างปัญหาด้านลิขสิทธิ์ที่แก้ยังไงก็ไม่หายไปง่ายๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเรามาอย่างช้านาน นับตั้งแต่มีห้างพันธุ์ทิพย์ที่ขายแผ่นตอนนี้กลายเป็นสิ่งที่หาง่ายบนออนไลน์ผ่านการดาวน์โหลดในช่องทางต่างๆ แล้วเราก็คงไม่ได้หวังว่าจะมีหน่วยงานไหนแก้ได้
เมื่อเราพูดถึงคำว่า “กรม” แล้วทำให้นึกถึงการทำงานในสไตล์ที่เรา “รู้กัน” ส่วนบนออนไลน์ก็คงไม่ต้องคาดหวังว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น คำร้องเรียนก็คงปลิวไปกับสายลม แต่การเข้ามา Comment ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาครั้งนี้ ซึ่งหากจะให้เดาอาจจะเป็นครั้งแรกในการเข้าไป ทำให้บางสิ่งเกิดขึ้นบนหน้า Facebook Page ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อผู้ใช้งาน Facebook เข้ามาที่หน้า Pages ของกรมทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น พร้อมกับข้อความที่เข้ามาโพสต์ที่ Visitor Post เพื่อเข้ามาแจ้งสิ่งที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ จากปกติเป็นการถามตอบปัญหาล้วนๆ เท่าที่เข้าไปดูในเพจก็พบว่าแทบทุกคำถามมีเจ้าหน้าที่หรือผู้ดูแลเข้าไปตอบคำถามนั้นอยู่ด้วย
วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2559) ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้โพสต์ข้อความขอบคุณทุกท่านที่แจ้งรายละเอียด พร้อมด้วยวลี keyword สุดน่ารักของตัวเอง
ขอบคุณทุกท่านที่แจ้งรายละเอียดทั้ง เว็บไซต์ และเฟสบุค ที่ #ไม่น่ารัก ทั้งหลาย ทั้งที่ขายของละเมิด และเผยแพร่ผลงานผู้อื่น…
Posted by กรมทรัพย์สินทางปัญญา on Sunday, February 21, 2016
เท่านั้นไม่พอ การตอบ Comment ก็ยังดูน่ารักและทันสมัย
เรื่องนี้เป็นเรื่องของการทำ CRM บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งสิ่งที่ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาทำ ทำให้ตัวตนที่ดูสูงจนเอื้อมไม่ถึงเปลี่ยนเป็นซอฟท์ลงแบบไม่ต้องใช้สีพาสเทล โดยที่มีความน่าติดตามเพิ่มเข้าไปด้วยว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อมีการตอบคำถามหรือโพสต์อะไรใหม่ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้คนรู้สึกและสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ทำให้ภาพลักษณ์บนออนไลน์ ณ เวลานี้ถือว่าดีมากๆ
โดยส่วนตัวมองว่าการจัดการเปลี่ยนแปลงตัวเองมาเป็นแนวทางนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ไม่ใช่แค่หน่วยงานที่น่าจะหันมาดูแนวทางนี้ บริษัทหรือแบรนด์ต่างๆ ก็อาจจะต้องแอบชำเลืองมองด้วยเช่นกัน แต่ผมไม่ได้บอกว่าให้ทำตาม เพราะความเหมาะสมของแต่ละหน่วยงานและแบรนด์นั้นต่างกัน
เบื้องต้นก็อาจจะต้องถามสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ก่อนว่า เราได้ใส่ใจสิ่งที่คนร้องเรียนหรือนำเสนอเข้ามาแล้วหรือยัง?
แต่ถ้าจะให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาดีขึ้นแบบจับต้องได้ก็คงต้องเป็นการเอาข้อมูลที่มีการแจ้งมาทำให้เกิดประโยชน์และมีผลจริงๆ ไม่ใช่แค่เป็นกระแสบนออนไลน์ให้เกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว
ปล.ก่อนหน้าเรื่องนี้ ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทำการ Share โพสต์ด้านล่าง ซึ่งเป็นโพสต์เกี่ยวกับการขออนุญาตการใช้เพลงในการ Cover บนออนไลน์ซึ่งเป็นปัญหาทีค้างคามานาน โดยมีการทำเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับกรมฯ โดยตรง
แม้ว่าจะไม่ได้ทำการ #coverเพลง เพื่อการค้า แต่การขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรแบบนี้ ถือเป็นบรรทัดฐานที่ดีของเรื่อง…
โพสต์โดย กรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อ วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2016