แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เผยทิศทางตลาดแ และการปรับตัวของแรงงานในปี 2564 ชี้ผลพวงวิกฤตไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลตลาดงาน-แรงงานเปลี่ยนวิถี รูปแบบการทำงานและมองภาพปี 2564 เป็นปีแห่งฟื้นตัวสู่การฟื้นฟู พร้อมจัดอันดับงานมาแรง 10 อันดับที่ตลาดงานต้องการ และ 10 อันดับงานที่แรงงานพร้อมลุย เพื่อเป็นการลดช่องว่างและเติมเต็มตลาดงานในปัจจุบัน
นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เปิดเผยต่อว่า แนวโน้มในปี 2564 ตลาดงานในส่วนขององค์กรธุรกิจมีการกลยุทธ์และการออกแบบการทำงานในรูปแบบใหม่ เพื่อการลดต้นทุนจะถูกนำมาใช้ในองค์กรต่างๆ มากขึ้น ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลให้รูปแบบการจ้างงานมีความยืดหยุ่นจากการจ้างงานแบบประจำมาเป็นรูปแบบการจ้างงานระยะสั้น ทั้งการจ้างงานชั่วคราว การจ้างงานแบบสัญญาจ้าง และการจ้างงานในรูปแบบเอาท์ซอร์ส (Outsource)จะเป็นที่นิยมแพร่หลายตอบโจทย์การขาดแคลนกำลังคนได้ตามความต้องการ
นอกจากนี้ เรากำลังเห็นแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีในการทำให้ขั้นตอนบางอย่างเป็นอัตโนมัติและดิจิตัล โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นบางส่วนจนถึงทั้งกระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและเพิ่มทักษะการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่แรงงานต้องเตรียมพร้อมให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล
เราพบการมีพนักงานที่หลากหลายและมีกลุ่มคนทำงานหลายช่วงอายุในองค์กร (Multi-Generational Pool of Workers) ซึ่งปัจจุบัน แต่ละเจนเนอเรชั่นมีสัดส่วนที่เป็นกำลังแรงงานที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปีในส่วนของ Gen X กับ Y มีมากสุด และในกลุ่ม Gen Z จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามการเริ่มต้นเข้ามาในตลาด ซึ่งคนแต่ละรุ่นมีวิธีคิดและการทำงานที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพนักงานที่จะต้องเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันและประสบความสำเร็จด้วยกันต่อไป
อีกหนึ่งแนวโน้มที่จะเห็นในโลกของการทำงาน กลุ่มแรงงานจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างทางเลือกเพื่อสร้างรายได้ เพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มคนทำงานประจำยังคงรักษาความมั่นคงในอาชีพและจะมีการสร้างรายได้เสริมจากการรับงานอิสระประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายงานหรือเป็นเรื่องที่ถนัด เช่น ทำขนม ทำอาหารขายออนไลน์ หรือการขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น
ทางด้านกลุ่มแรงงานที่ทำงานอิสระจะรับทำงานที่หลากหลายมากขึ้น บางคนผันไปเป็นรายได้หลักและการสร้างความมั่นคงจากงานระยะสั้นหลายๆงาน โดยสามารถบริหารจัดการและเลือกทำงานพร้อมๆ กันได้หลายอย่าง นอกจากนี้ กระบวนการเรียนรู้และการเสริมทักษะต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถในระดับบุคคลจะเป็นตัวเชื่อมโยงแรงงานและอาชีพต่างๆ ให้สามารถทำงานได้หลากหลายรูปแบบทั้งงานปัจจุบันและงานในอนาคตได้
สำหรับภาพรวมทิศทางตลาดแรงงานปี 2564 มีความสอดคล้องกัน 8 ใน 10 สายงาน แต่ลดลงมาจากปีที่แล้วร้อยละ 10 เนื่องจากตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะชะลอตัวทำให้บางสายงานโตสวนกระแส บางสายงานความต้องการลดลงถึงคงที่จากผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและโควิด-19 โดยจากผลสำรวจจากกลุ่มลูกค้าของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย 10 อันดับสายงานที่ตลาดงานต้องการและ 10 อันดับสายงานที่แรงงานต้องการ ดังนี้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าตลาดงานและแรงงานยังมีความสอดคล้องในสัดส่วนความต้องการของตลาดกับแรงงาน อีกทั้ง ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าสายงานขนส่งและโลจิสติกส์มีอัตราการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ 4.83% ตามทิศทางธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ, ค้าขายออนไลน์ และธุรกิจเดลิเวอรี่ ทางด้านงานขายและการตลาดขึ้นอันดับ 1 มา 5 ปีต่อเนื่องกันซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความต้องการเติบโตทางธุรกิจให้ความสำคัญกับบุคลากรที่เป็นตัวกลางในการนำเสนอสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าความงาม และสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ
“ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในตลาดงานและแรงงานในปีนี้ต่อไปจนถึงอนาคต การทำงานของแรงงานจะต้องตอบโจทย์ตลาดงาน มีทักษะที่มีความหลากหลาย พร้อมกับการพัฒนาตนเองด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป แม้ในยามวิกฤตที่เกิดขึ้น หากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและแรงงานเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง ปรับตัว ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ เราจะสามารถค้นพบ ‘ทางเลือกสู่ทางรอดแรงงานไทยปี 64’ เท่าทันยุคเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็วได้ต่อไป” นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล กล่าวทิ้งท้าย