Site icon Thumbsup

ศัพท์การตลาด ที่นักการตลาดมือใหม่ควรรู้

นักการตลาดมือใหม่หลายคนที่ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านการตลาดโดยตรงแต่ต้องมารับหน้าที่หรือต้องคุยงานกับฝ่ายการตลาดแล้วมีศัพท์เทคนิคที่เจาะจงทำให้สับสนในการดีลงาน

วันนี้ thumbsup จะมารวบรวมคำศัพท์ที่ต้องใช้ในการทำงานให้นักการตลาดได้นำไปปรับใช้งานกันค่ะ

ศัพท์ที่ต้องใช้ในการทำแอดบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค

สำหรับนักการตลาดหรือคนที่ซื้อแอดบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ อาจจะเน้นหนักที่เฟซบุ๊ก นี่คือศัพท์ที่คนคุยเรื่องแอดจำเป็นต้องรู้

Awareness = การรับรู้

สำหรับคนที่วางแผนเรื่องการทำคอนเทนต์ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งนักการตลาดหลายคนมักคาดหวังให้คอนเทนต์ของแบรนด์ตนเองเข้าถึงวงกว้างเพื่อเพิ่มโอกาสการรับรู้และรู้จักสินค้าของแบรนด์ได้มากขึ้น หรือแม้แต่รู้จักชื่อแบรนด์มากขึ้น นั่นหมายถึงโอกาสในการเข้าถึงสินค้าของคุณมากขึ้น

Engagement = การมีส่วนร่วม

สำหรับการมีส่วนร่วมในมุมของคนทำเพจหรือบริหารโซเชียล จะคาดหวังยอด LIKE, SHARE และ COMMENT ซึ่งการที่ผู้ติดตามมีส่วนร่วมในเพจของเรามากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มยอดการจดจำได้ดีขึ้นเท่านั้น

Click Through Rate (CTR) = อัตราการคลิกผ่าน

เป็นการเข้าใจผลลัพท์ของชิ้นงานโฆษณาว่าจำนวนโฆษณาที่เราลงมือทำนั้น มีการเข้าไปมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน เช่น มีคนคลิกดูภาพเท่าไหร่ กดอ่านเพิ่มเติมเท่าไหร่ หรือมีการกดเข้าไปเพื่อสั่งซื้อจากผู้ใช้เฟซบุ๊กบ้างไหม ซึ่งการทำชิ้นงานโฆษณานั้นจะแบ่งอัตราการคลิกผ่านเป็น 2 แบบด้วยนะคะ คือการแสดงผลในเฟซบุ๊กของกลุ่มเป้าหมาย (Impression) หรือคลิกเข้าไปดูด้วยความสนใจ (CTR) กันเลย

Reach = การเข้าถึง, Impression = การแสดงผล

ทั้งคำว่า Reach และ Impression นั้น มีความหมายคล้ายกันคือ การแสดง หรือการมองเห็น โดยโฆษณาที่เราลงในช่องทางต่างๆ นั้น จะมีการนับจำนวนการแสดงผลและการเข้าถึงชิ้นงานโฆษณาของลูกค้า โดยในการค้นหาของลูกค้าแต่ละครั้งจะมีการนับเป็นจำนวนครั้งที่แสดงผล (Impression) เอาไว้

แต่เมื่อเป็น Reach คือ จะถูกนับที่ตัวบัญชีของผู้ใช้งานแต่ละบุคคล ว่าสามารถเข้าถึงชิ้นงานโฆษณาของเราหรือไม่ จะมีทั้งในรูปแบบแสดงผลขึ้นมาในหน้า Feed หรือมาจากการค้นหาเพจนั้นๆ โดยตรง ซึ่งการแสดงผลนั้นจะเท่ากับ Reach 1 ครั้ง หรือเท่ากับ Impression 1 ครั้งเช่นกัน แต่ถ้ามีการแสดงผล Reach ในบัญชีผู้ใช้งานเดิมไม่ว่าจะอีกกี่ครั้ง ก็นับเป็น 1 ครั้งเท่านั้น แต่ Impression จะนับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 2, 3, 4 แล้วแต่การแสดงผลขึ้นมา

Frequency = ความถี่

ในการโฆษณาแต่ละครั้ง จะมีการพูดถึงความถี่ในการแสดงผล ซึ่ง Frequency จะสอดคล้องการทำงานร่วมกับ Reach และ Impression นั่นคือ อัตราการแสดงผลนั่นเอง โดยอัตราความถี่จะเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีการแสดงผล ซึ่งจะเป็นการนับจำนวนที่มีผลต่อ KPI ด้วย

Organic Reach = การเข้าถึงด้วยตนเอง, Paid Reach = การเข้าถึงด้วยการจ่ายเงิน

สำหรับทั้งสองคำนี้ จะหมายถึง การที่บัญชีผู้ใช้งานถูกเข้าถึงคอนเทนต์ของเพจหรือแบรนด์แบบอัตราปกติ กับ การเข้าถึงผ่านการยิงแอดนั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นปัญหาใหญ่สำหรับนักการตลาดหรือผู้บริหารเพจ เพราะการเข้าถึงคอนเทนต์ของแบรนด์หรือเพจที่เจอปัญหา “จำกัดการเข้าถึง” ของเฟซบุ๊กนั้น ทำให้เพจหรือแบรนด์ต้องเสียเงินโฆษณาจำนวนเยอะมากกว่าจะถึงเป้าที่ตั้งไว้

แต่ถ้าคอนเทนต์ของเพจหรือแบรนด์นั้นเป็นที่พูดถึงและมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือบัญชีผู้ใช้งานจำนวนมากเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ก็ต้องวางแผนให้ดีๆ เลยค่ะ

Conversion = การตอบสนองกลับ

หากแปลตามระบบคำศัพท์อาจจะหมายถึงการแปลง แต่ในแง่ของการทำโฆษณาบนโซเชียลมีเดียนั้น หมายถึงการได้มาซึ่งโอกาสทางการขาย หรือตอบรับจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายนั่นเองค่ะ โดย Conversion (คอนเวอร์ชั่น) นั้น อาจจะไม่ได้หมายถึงในเชิงการซื้อขายเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงผลตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการ เช่น ทำแคมเปญอะไรบางอย่างเพื่อหวังการได้มาซึ่งสมาชิกใหม่ การลงทะเบียนทดลองใช้งานสินค้า หรือแม้แต่การได้รายชื่อของบุคคลเข้าร่วมงานเพิ่มขึ้น ก็เป็นผลจากการตอบสนองกลับมาด้วยการทำแคมเปญหรือกิจกรรมบางอย่างทางโซเชียลเน็ตเวิร์คนั่นเอง

ศัพท์ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งสำหรับนักขาย

สำหรับคนที่จำเป็นต้องขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น จำเป็นต้องคาบเกี่ยวทั้งเว็บไซต์ ตระกร้าสั่งซื้อสินค้าหรือระบบข้อมูลหลังบ้าน ซึ่งเราจะเลือกคำที่จำเป็นต้องใช้งานและนำไปคุยต่อเรื่องงานกันได้

Abandonment Rate = อัตราการละทิ้ง

เป็นสิ่งที่นักการตลาดทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยค่ะ กับอัตราของคนที่เข้าเว็บแล้วไม่ซื้อสินค้า หรือคนที่หยิบสินค้าลงตะกร้ารถเข็นแล้ว แต่ยังไม่ชำระค่าสินค้าให้เสร็จสิ้น ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่นักการตลาดต้องพยายามกระตุ้นให้ลูกค้ายอมจ่ายเงินซื้อจนสำเร็จ

Algorithm

คำนี้ทับศัพท์ได้เลยนะคะ กับ อัลกอริธึ่ม ที่หมายถึงขั้นตอนและวิธีการทำงานของโปรแกรม เช่น Algorithm ของ Google ในการจัดอันดับเว็บไซต์เมื่อมีการค้นหาข้อมูล หรือ Algorithm ของ Facebook ที่คัดเนื้อหาขึ้นมาแสดงให้เราเห็นในหน้า feed ซึ่งระบบเหล่านี้ก็จะมีการคัดกรองความเหมาะสมของกลุ่มเป้าหมายเพื่อมาแสดงผลให้เห็นกัน

Analytics

สำหรับนักการตลาดที่ต้องใช้เครื่องมือในการวัดผลหรือวิเคราะห์ข้อมูล คงรู้จักคำนี้เป็นอย่างดี เพราะมีให้เลือกใช้งานทั้ง Google Analytics, Youtube Studio หรือ Business Suite (Creator Studio) คือ เครื่องมือวิเคราะห์ วัดผล พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่เรายิงโฆษณาไป เพื่อให้รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายมีการใช้งานและตอบโต้อย่างไรทั้งในเว็บไซต์ เพจหรือโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมทั้งเป็นฐานข้อมูลให้ผู้สร้างเว็บไซต์สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ปรับปรุงหรือพัฒนาเว็บไซต์ได้ต่อไป

Affiliate Marketing

คำนี้กำลังกลายเป็นกระแสในช่วงนี้เลย สำหรับคนที่มีบล็อกหรือเว็บไซต์เชิงรีวิว สามารถทำการตลาดผ่านพื้นที่ของคนอื่นได้นะคะ เช่น ฝากสินค้าขายในเว็บไซต์ เพจหรือแชนแนลในยูทูป โดยแบ่งเปอร์เซ็นต์ในการขายสินค้าหรือบริการ (Commission)ให้กับเจ้าของเพจนั้นๆ

Automate Marketing

การส่งจดหมายตอบกลับแบบอัตโนมัติ เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการตลาด ที่มีการทำงานผ่านระบบซอฟต์แวร์หรือระบบส่งอีเมล์ข้อความอัตนโนมัติ เพื่อสร้างกิจกรรมทางการตลาดแบบหนึ่ง เช่น การส่ง E- mail ประชาสัมพันธ์เมื่อมีสินค้าหรือโปรโมชั่นมาใหม่และตรงกับความสนใจที่ลูกค้าเคยแจ้งความต้องการไว้

Backlink

เป็นการนำลิงค์เว็บไซต์ข้อมูลของเราไปฝังอยู่ในเว็บฯ อื่น เวลามีคนคลิกเข้าไปอ่านก็จะส่งยอดคลิกกลับเข้ามาในเว็บไซต์ของเราด้วย โดย Google จะนำไปใช้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการพิจารณาการจัดอันดับการแสดงผลบนหน้าค้นหาของ Google

Bounce Rate

เป็นการนำอัตราส่วนของคนที่เข้าและออกจากเว็บไซต์ไป โดยไม่ได้คลิกเข้าไปดูหน้าอื่นๆ ภายในเว็บไซต์เดียวกัน การคลิกเข้าและออกอย่างรวดเร็วอาจมาจากการที่เว็บโหลดช้า หรือคอนเทนต์ไม่น่าสนใจ ทำให้เปิดและปิดอย่างรวดเร็วจนเสียโอกาสที่ดีไป สำหรับวิธีคิด Bounce rate คือ การนำจำนวนการเข้าชมหน้าเว็บเพจ หารด้วยจำนวนการเข้าชมเว็บไซต์ทั้งหมด จะเป็นค่าเฉลี่ยของการเข้าและออกในแต่ละครั้ง

Cache/Caching

อันนี้จะเป็นศัพท์เทคนิคนิดนึงสำหรับคนที่เป็นสายไอทีอาจจะเข้าใจง่ายทันที คำว่า แคช นั้น หมายถึงฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่เก็บข้อมูลเผื่อถูกเรียกใช้ในอนาคต เวลาผู้ใช้งานเรียกหาข้อมูล ระบบจะส่งข้อมูลนี้มาให้ทันที โดยไม่ต้องเรียกข้อมูลจากต้นทางอีก แต่สำหรับในมุมนักการตลาดคำนี้อาจจะเจอเวลาที่ต้องแก้งานแต่ข้อมูลเดิมยังแสดงผลอยู่ถ้าเราพูดว่า “ยังติดแคชเดิมอยู่หรือเปล่าคะ” แบบนี้ลูกค้าก็อาจจะหัวร้อนกลับมา แคชในที่นี้ถ้าจำเป็นต้องอธิบายง่ายๆ ให้ลูกค้าฟังก็คงต้องบอกว่า “คุณพี่ลองเปลี่ยนเครื่องที่ไม่เคยเข้าลิ้งนี้มาก่อนหรือลบค่าการใช้งานเดิมก่อนนะคะ แล้วจะเจอข้อมูลที่อัพเดทใหม่ละค่า” แบบนี้ก็หมายถึงล้างแคชเดิมหรือเปลี่ยนเครื่องเพื่อเช็คงานไปเลยจ้า

CPA หรือ Cost Per Action

หมายถึงรูปแบบการจ่ายผลตอบแทน การคิดราคาโฆษณาต่อกิจกรรม 1 ครั้ง ที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ เช่น การสมัครสมาชิก การลงทะเบียน การสั่งซื้อสินค้า โดยผู้ลงโฆษณาจะเสียเงินก็ต่อเมื่อลูกค้ามีการตอบรับที่สำเร็จในกิจกรรมนั้นจริงๆ

CPC  (Cost Per Click)

ราคาต่อหนึ่งคลิก (CPC) คือจำนวนเงินที่คุณได้รับในแต่ละครั้งที่ผู้ใช้คลิกโฆษณาของคุณ ผู้ลงโฆษณาเป็นผู้กำหนด CPC สำหรับโฆษณาใดๆ โดยผู้ลงโฆษณาบางรายอาจเต็มใจที่จะจ่ายเงินต่อคลิกมากกว่าผู้ลงโฆษณารายอื่น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่พวกเขาโฆษณา

CPM (Cost Per Mille)

CPM ย่อมาจาก “cost per 1000 impressions” ผู้โฆษณาที่ใช้โฆษณาแบบ CPM จะตั้งราคาที่ต้องการต่อการแสดงโฆษณา 1,000 ครั้ง โดยจะเลือกตำแหน่งโฆษณาที่ต้องการให้แสดงโฆษณา และจ่ายเงินทุกครั้งที่โฆษณาปรากฏ ผู้โฆษณาจะต้องเสนอราคา CPM สูงกว่าโฆษณาแบบ CPC ที่มีอยู่เพื่อที่จะแสดงโฆษณาโฆษณาแบบ CPM สามารถเป็นได้ทั้งโฆษณาแบบข้อความหรือแบบรูปภาพ และจะมีการกำหนดตำแหน่งเป้าหมายเสมอ

Clickbait

เป็นคำเหยียดใช้หมายถึงเนื้อหาเว็บที่มุ่งสร้างผลประโยชน์จากการโฆษณาออนไลน์ โดยเฉพาะเมื่อไม่คำนึงถึงคุณภาพหรือความถูกต้องของข้อมูล แต่อาศัยวิธีพาดหัวแบบเร้าใจเพื่อดึงดูดให้คลิกเข้าไปชมทันทีและเพื่อเชิญชวนให้ส่งเนื้อหานั้นต่อไปในเครือข่ายสังคมออนไลน์ พาดหัวล่อคลิกมักอาศัยประโยชน์จากความสงสัย โดยให้ข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ พอชวนให้ผู้อ่านสงสัย แต่ไม่พอจะขจัดความสงสัยนั้น จนต้องคลิกเข้าไปดูเนื้อหานั้น ๆ

Dashboard

หน้ากระดานที่ใช้แสดงภาพรวมของรายงาน หรือสรุปข้อมูลในมุมมองต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์เชิงวิเคราะห์ใดๆ

DOMAIN

ชื่อของเว็บไซต์ อย่างเช่น www.abc.com คือ ชื่อเว็บไซต์ เอ บี ซี ดอท คอม เป็นต้น

Earned media

สื่อที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าพูดถึงสินค้า หรือบอกต่อเกี่ยวกับแบรนด์ รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นการไลค์, รีทวิต, แชร์, คอมเม้นท์ในสื่อของคุณ รวมถึงการบอกต่อปากต่อปาก ซึ่งถือเป็นการตลาดที่ดีที่สุด

ECommerce

ย่อมาจากคำว่า Electronic Commerce แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือการทำธุรกิจโดยซื้อขายสินค้าหรือโฆษณาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่นิยมคือ วิทยุ โทรทัศน์ และที่มีการใช้งานมากที่สุดในปัจจุบันก็คืออินเทอร์เน็ต โดยสามารถใช้ทั้งข้อความ เสียง ภาพ และคลิปวิดีโอในการทำธุรกิจได้ การทำธุรกิจแบบ E-commerce สามารถเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขวางและทำให้ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินการได้เป็นอย่างดี

Engagement

การมีส่วนร่วมต่อสื่อของทางแบรนด์ เช่น Comment, Share, Like รวมถึงการคลิกที่รูปภาพในโซเชียลมีเดียเฉยๆ ก็นับเป็น engagement เหมือนกัน

Hashtag

เครื่องหมายสี่เหลี่ยม (#) ที่ตามด้วยคำ วลี หรือประโยคที่เราต้องการ โดยต้องพิมพ์เครื่องหมายสี่เหลี่ยมกับคำหรือประโยคติดกัน โดย hashtag (แฮชแท็ก) เป็นเหมือนการบ่งบอกโพสต์ นิยามของโพสต์ จะเป็นบทความ รูปภาพ หรือวิดีโอก็ได้ และช่วยเรียกโพสต์ที่ใส่ hashtag เดียวกันได้

Inbound Marketing

เทคนิคการตลาดแบบดึงดูดกลุ่มเป้าหมายเข้ามาในพื้นที่ของเรา เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย การทำตลาดลักษณะนี้เน้นการสร้างและมอบประโยชน์หรือคุณค่าให้กับลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย เช่น บล็อกหรือบทความที่มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

Keyword planner

เครื่องมือหรือโปรแกรมแสดงข้อมูลการค้นหาในระบบค้นหา ซึ่งข้อมูลตรงนี้มีประโยชน์ต่อการทำการตลาดออนไลน์ ในอดีต Keyword planner (คีย์เวิร์ด แพลนเนอร์) เป็นเครื่องมือที่อยู่ภายใน Google Ads แต่ปัจจุบันมี Keyword planner ให้เลือกใช้บริการมากมาย เช่น Ahrefs, Moz, Ubersuggest  ฯลฯ

Owned  media

ช่องทางการสื่อสาร หรือแพลตฟอร์มที่มีแบรนด์เป็นเจ้าของ หรือแบรนด์เป็นผู้ผลิตขึ้นมา เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค อาทิ Website, Mobile site, ภายในร้านค้า, ป้ายโฆษณา, Mobile Apps, Blog และ Social Media ต่างๆ

Paid Media

สื่อที่ต้องจ่ายเงิน ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์ หรือออฟไลน์ ถ้าต้องการใช้เงินเพื่อซื้อพื้นที่โฆษณา ให้คิดว่าเป็น Paid Media ได้เลย สิ่งที่จะได้เมื่อคุณจ่ายเงินคือ การเข้าถึงผู้คนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำคนเหล่านี้มายัง Owned Media นั่นเอง สื่อที่เข้าข่าย Paid Media ได้แก่ Print Ads, TVC, Display Ads, Paid Search, Promoted Posts on Facebook และ Sponsored Tweets เป็นต้น

Responsive design

Responsive Web Design เป็นเทคนิคการออกแบบเว็บไซต์แบบใหม่ ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนขนาดของเว็บไซต์ให้เหมาะสบกับการแสดงผลบนหน้าจอขนาดต่างๆ และความละเอียดของหน้าจอในอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เป็นต้น

SEM

SEM (Search Engine Marketing) เป็นคำเรียกวิธีการทำการตลาดบน Search Engine โดยมี 2 วิธีการหลักๆ นั่นคือ SEO ดังที่กล่าวไปข้างต้นและ PPC หรือ Pay Per Click คือการซื้อโฆษณาโดยมีการเรียกเก็บเงินในรูปแบบจ่ายตามจำนวนคลิก ซึ่งผู้ทำจะต้องประมูล Keyword เพื่อที่จะให้โฆษณาปรากฎเมื่อมีการค้นหาใน Search Engine นั้นๆ โดยโฆณาจะแสดงที่ตำแหน่งใดนั้นจะถูกกำหนด

SEO

SEO (Search Engine Optimization) คือกระบวนการที่จะช่วยผลักดันให้เว็บไซต์ของคุณขึ้นหน้าแรกของระบบ Search Engine ทั้งหลาย อาทิ Google, Bing, Yahoo เป็นต้น จะใช้คำค้นหาหลัก (Keyword) ที่กำหนดไว้เป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนลำดับ (Ranking) อย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องซื้อโฆษณา แต่ต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆ

Sitemap

Sitemap หรือ “แผนผังเว็บไซต์” หรือ “แผนที่เว็บไซต์” เป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ ที่อธิบายถึงโครงสร้างของเว็บไซต์ได้ทั้งหมด ซึ่ง Sitemap จะเป็นเหมือน “สารบัญ” หรือ “หน้าดัชนี” ของเว็บไซต์ ที่รวม Link ทั้งหมดของเว็บไซต์ไว้ภายในหน้าเดียว และยังช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อ Search Engine (Google,Bring,Yahoo)

Traffic

Traffic คือ จำนวนคนเข้าเว็บไซต์หรือที่เรียกว่า Unique IP Traffic ซึ่งมีผลต่อการจัดอันดับบน Google Search และ Google ได้ให้ความสนใจในเรื่องของการจัดอันดับคะแนนจากการเข้าอ่านบทความหรือตรวจสอบคุณภาพของเว็บผ่านการตรวจสอบค่าของอัตราการตีกลับ Bounce Rate

UI

ย่อมาจาก User Interface คือ พื้นที่ที่การตอบโต้สื่อสารระหว่างผู้ใช้งานและเครื่องมือเกิดขึ้น ภาษาไทยใช้คำว่า ส่วนต่อประสาน ส่วนต่อประสานนี้จะประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนนำข้อมูลเข้าหรือส่วนสั่งงาน (Input) และส่วนแสดงผลลัพธ์หรือส่วนรอคำสั่งจากผู้ใช้ (Output)

UX

ย่อมาจาก User Experience คือ ความรู้สึกหรือทัศนคติของผู้ใช้งานที่มีต่อผลิตภัณฑ์ สินค้า เว็บไซต์ หรือ แอพพลิเคชั่น เช่น ความยากง่ายของการใช้งาน ฟังก์ชั่นครบครันหรือไม่ ความคุ้มค่าของการใช้งานสิ่งนั้นๆ ในบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีส่วนใหญ่มักคิดถึงเรื่องของ UX ควบคู่ไปกับ UI ในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ

 

ที่มา : นินจาการตลาด, weon, Wikipedia, google