ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของไทยมีความโดดเด่นมาก จากการเกิดขึ้นของคอนโดมิเนียมทุกระดับราคาและโครงการบ้านจัดสรรที่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า และการเกิดขึ้นเหล่านี้ก็ส่งผลให้มีการปล่อยขายหรือเช่า ทั้งแบบทำเพื่อการค้าหรือการโยกย้ายถิ่นฐานของคนต่างจังหวัดเข้าสู่เมือง ทำให้การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เติบโตขึ้น
ดังนั้น จึงเกิดเว็บไซต์ซื้อขายหรือปล่อยเช่าที่อยู่อาศัยมากมาย และรายได้ของผู้ให้บริการเหล่านี้ก็มาจากการโฆษณาหรือตำแหน่งบนเว็บไซต์ที่โดดเด่น ทำให้การเปิดใช้บริการฟรีบนช่องทาง Marketplace ของ Facebook อาจสร้างความสั่นสะเทือนแก่ผู้ที่ประกอบธุรกิจด้านนี้
นายมายังค์ ยาดาฟ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ Marketplace เล่าให้ฟังว่า Facebook ได้เปิดให้บริการ Marketplace เมื่อปลายปี 2016 ในสหรัฐอเมริกาซึ่งในแต่ละเดือนมีการใช้งานถึง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ใช้งานเฟสบุคทั้งหมด ส่วนประเทศไทยที่เรียกว่าเป็นประเทศที่การใช้งานโซเชียลมีเดียเป็นแบบ Mobile First ก็ได้เปิดให้บริการ Marketplace เมื่อพฤศจิกายน 2017 ซึ่งสินค้าที่ขายดีในบริการ Marketplace ยังคงเป็นสินค้ากลุ่มแฟชั่น
ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาค
ด้านตัวเลขการใช้งาน Facebook ของคนไทยอย่างที่ทราบกันคือ 51 ล้านคนต่อเดือน และ 32 ล้านคนต่อวัน ส่วนเพจร้านค้าสำหรับการขายของมากถึง 2.5 ล้านเพจ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเทรนด์ Conversation Commerce นั้น มาแรง ทำให้ไทยเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่เราจะเปิดบริการใหม่นี้ หลังเปิดให้บริการที่แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษและไทย ที่ถือว่าเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีบริการในหมวดย่อยคือ บ้านเช่า (Property for rent)
“ตอนนี้เราเพิ่งเริ่ม Roll Out ในหมวดของ บ้านเช่า ทำให้ยังใช้งาน Filter แบบในอเมริกาไม่ได้ แต่คาดว่าในอีก 3-4 สัปดาห์ จะใช้งานเครื่องมือต่างๆ ได้ดีขึ้น”
ทั้งนี้ การประกาศขายและเช่าบ้านที่มีอยู่ในระบบ Marketplace ของเฟสบุค มาจากพาร์ทเนอร์ 3 ราย คือ dotproperty, hipflat, propertyflow ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านอสังหาริมทรัพย์ และเน้นรูปแบบการเช่าแบบระยะยาวเพื่อการอยู่อาศัย ซึ่งเวอร์ชั่นประเทศไทยจะสามารถใช้งานได้แบบ 2 ภาษาคือไทยและอังกฤษ เป็นประเทศแรก ส่วนการขยายเครื่องมือนี้ไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ นายมายังค์ บอกแค่ว่า “ยังไม่มีแผน”
ความพิเศษของเครื่องมือนี้ คือ มีการนำระบบ AI มาใช้ในการคัดกรองข้อมูลและช่วยตรวจสอบว่าบ้านหรือคอนโดที่ประกาศขายเช่านั้น เป็นของจริงหรือไม่ ซึ่งเจ้าของต้องระบุข้อมูลให้ครบเพื่อที่ผู้ซื้อจะได้มั่นใจว่าคุณเป็นเจ้าของประกาศที่ไว้ใจได้ รวมทั้ง Facebook จะมีการให้ข้อมูลต่างๆ
โดยทาง Thumbsup ได้สำรวจเว็บไซต์ซื้อขายบ้านในประเทศไทยพบว่า ผู้ให้บริการ 3 รายอย่าง DDproperty, Living Insider และ Prakardproperty ต่างก็เป็นเว็บไซต์ยอดนิยมของคนหาบ้าน