ด้วยสถานการณ์การติดเชื้อที่ยังคงแพร่ระบาดและตัวเลขผู้ป่วยใหม่ก็ยังสูงขึ้นทุกวัน ทำให้ภาคธุรกิจยังไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตตามปกติได้ ธุรกิจสื่อก็จำเป็นต้องใช้หลักการรีรันละครและรายการทีวีประเภทต่างๆ ไปก่อนเพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาด ซึ่งประเภทของรายการข่าวเป็นประเภทรายการเดียวที่ยังสามารถออกอากาศสดได้ เพราะประชาชนยังต้องการความน่าเชื่อถือและตรวจสอบข่าวสารที่เป็นความจริงในสถานการณ์แบบนี้
คุณภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด กล่าวว่า ในสถานการณ์การรับมือโควิดที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าการสื่อสารจากภาครัฐ สับสน ไม่ชัดเจน ขาดการบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกได้ว่าเป็นการสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อข้อมูลที่ภาครัฐพยายามสื่อสาร และเกิดความสูญเสียในวงกว้าง
การสื่อสารระหว่างภาครัฐกับประชาชน จำเป็นต้องได้รับการพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นนัยยะ โดยเฉพาะการสื่อสารในหัวข้อดังต่อไปนี้
- การสื่อสารเรื่องการกระจายวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีน
- การสื่อสารเรื่องมาตรการต่างๆที่จะบังคับใช้เพื่อควบคุมการระบาดหนัก ควบคู่แผนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
- การสื่อสารเรื่องการเข้าถึงระบบสาธารณะสุขของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรอง การรักษาผู้ติดเชื้อในระดับต่างๆ
เหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วิกฤตโควิดระลอกที่1 เมื่อต้นปีที่แล้วเปรียบเหมือนมรสุมที่ซัดอุตสาหกรรมติดลบหนักสุดในรอบ 20ปี คือติดลบไปเกือบ 20% มูลค่าเม็ดเงินหดตัวเหลือ 75,000 ล้านบาท (ประเมินมูลค่าโดย MI) สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น การระบาดระลอก 3-4 เหมือนเป็นมรสุมลูกใหญ่ยักษ์ที่ซัดคนไทยเกือบทุกคน ไม่เว้นอุตสาหกรรมนี้อย่างไม่ยั้ง กินเวลายาวนานมากกว่า 4 เดือน และมีแนวโน้มลากยาวต่อไป
การประเมินสถานการณ์และการตั้งรับในครั้งนี้ พวกเราจำเป็นต้องมองโลกในแง่ร้ายที่สุด และอยู่กับความจริงที่สุด เพื่อออกแบบแผนตั้งรับและเอาตัวรอดให้ได้ยาวนานและยั่งยืนที่สุด โดยเราประเมินว่าตัวเลขสิ้นปีจะอยู่ที่ 72,138 ล้านบาท ซึ่งใช้ตัวเลขจากหน่วยงานต่างๆ มารวมกับเม็ดเงินคาดการณ์ของ MI เพื่อสะท้อนภาพคาดการณ์ที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่สุด
ทั้งนี้ ตัวเลขการติดลบ 3-5% นั้น มาจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขของปี 2020 ที่มีตัวเลขการปิดปีอยู่ที่ 75,168 ล้านบาท และในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 72,138 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ภาพความขัดแย้งในสังคมที่หลายคนกังวลว่าจะฉุดให้ธุรกิจกังวลเกี่ยวกับการใช้จ่ายในช่วงนี้หรือไม่ คุณภวัต มองว่า ด้วยสถานการณ์การบริหารจัดการที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังย่อมส่งผลให้คนที่ออกไปประท้วงและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดมองว่าพวกเขากำลังลำบากและการประท้วงก็คือการส่งสัญญาณและความพยายามดิ้นรนของประชาชน เพราะเหตุการณ์ไม่ได้ลากยาว คนที่ออกไปก็จบการประท้วงตามช่วงเวลาที่กำหนด
ดังนั้น หากวัคซีนไม่สามารถมาตามเป้าในช่วง ตค-พย นี้ได้ย่อมส่งผลให้มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมและสถานการณ์จะยิ่งแย่ลงไปอีก
นอกจากนี้ ภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปีนี้ ถือว่าเป็นปีที่เงียบเหงามากเมื่อเทียบกับในอดีต หลายแบรนด์เลือกที่จะไม่ขอผูกแบรนด์ไปกับโตเกียวโอลิมปิกเพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นไม่ยอมรับการแข่งขันในปีนี้ ทำให้การสื่อสารไม่เหมือนเดิม ไม่คึกคัก รวมทั้งไม่มีตัวกระตุ้นอุตสาหกรรมนี้ด้วย ยิ่งทำให้ตัวเลขอุตสาหกรรมสื่อน่าจะซบเซาหนัก
อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินสื่อที่เราคาดการณ์นั้น รวมถึงกระแสความเชื่อถือของคุณสรยุทธ์และคุณกรรชัยแล้ว แม้ทั้งคู่จะเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือประชาชนได้ แต่ก็ยังไม่สามารถดึงดูดให้แบรนด์กล้าใช้จ่ายเงินมากเท่าเดิม อาจเพราะยังต้องการตุนเงินไว้ก่อน จึงไม่คึกคักอย่างที่เป็นมา
ทั้งนี้ หากต้องการเรียกความเชื่อมั่นกลับมา เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าวัคซีนเป็นทางออกเดียวเท่านั้นที่สามารถการันตีการฟื้นตัวของทุกอุตสาหกรรม และไม่อาจปฏิเสธเช่นเดียวกันว่า ก่อนที่เราจะได้วัคซีนที่เหมาะสม ในระหว่างทางนั้น การสื่อสารของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้กำหนดชีวิตของเราทุกคนต้องมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่
ทุกการกระทำ ทุกการตัดสินใจ ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งภาคธุรกิจและประชาชน ซึ่งถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ วิกฤตโควิดคงไม่ดำเนินมาถึงสถานการณ์โคม่าและสาหัสเท่านี้