วงการสื่อถือเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก ‘Digital Disruption’ สื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ถูกลดบทบาทลงเมื่อคนหันไปเสพสื่อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น แน่นอนว่าเม็ดเงินก็ย้ายไปหาสื่อออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน
ธุรกิจสื่อจึงต้องหันไปพึ่งพาแพลตฟอร์มโซเชียลออนไลน์ (Facebook, YouTube, Twitter) ซึ่งครองเม็ดเงินโฆษณามากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วธุรกิจสื่อจะอยู่รอดอย่างไรหากต้องแข่งขันกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านี้
การต่อสู้ระหว่างสื่อและโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น โดยรัฐสภาออสเตรเลียได้ผ่านกฎหมายที่ชื่อทางการว่า ‘News Media and Digital Platforms Mandatory Bargaining Code‘ เพื่อส่งเสริมให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทำข้อตกลงจ่ายค่าคอนเทนต์ข่าวให้กับองค์กรสื่อในประเทศ
“เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจสื่อจะได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรมในการทำคอนเทนต์ข่าว” Josh Frydenberg รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวในแถลงการณ์
กฎหมายดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และล่าสุดทั้งเฟซบุ๊กและกูเกิลยินยอมจ่ายเงินค่าคอนเทนต์ข่าวให้กับองค์กรสื่อแล้ว โดยได้เริ่มทำข้อตกลงกับสื่ออย่างน้อย 1 แห่งและกำลังอยู่ระหว่างเจรจากับสื่ออื่นๆ เพิ่มเติม
แม้ว่าก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กได้คัดค้านกฎหมายดังกล่าวโดยได้ดำเนินการบล็อกเนื้อหาขององค์กรสื่อและหน่วยงานรัฐในออสเตรเลีย ก่อนที่จะยกเลิกการบล็อกในเวลาต่อมา ส่วนกูเกิลเคยขู่ว่าจะยกเลิกฟังชั่นเสิร์ชในออสเตรเลีย โดยทั้งสองอ้างว่า “แพลตฟอร์มของตนได้ช่วยให้เนื้อหาข่าวได้รับการเข้าถึงและทำรายได้ราว 316 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่แพลตฟอร์มได้ประโยชน์จากข่าวน้อยมาก”
อย่างไรก็ตามการผ่านกฎหมายดังกล่าวของออสเตรเลีย สามารถเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ได้รับประโยชน์จากผู้ใช้ของแต่ละประเทศ รวมถึงบรรดาสำนักข่าวและนักข่าวจะได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมมากขึ้น
ที่มา