Mercedes Benz สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งแรกในไทย รวมทั้งหวังเพิ่มกำลังผลิตอีก 12,000 คัน มั่นใจยังคงเป็นเบอร์หนึ่งในกลุ่มตลาดรถหรูยาวนาน 17 ปี โดยการที่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ เดินหน้าเสริมศักยภาพด้านการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาค
โดยนับจากนี้จนถึงปี 2563 ทางบริษัทฯ จะทุ่มเงินลงทุนรวมกว่า 100 ล้านยูโร เพื่อขยายการผลิตในไทยร่วมกับพันธมิตรในประเทศ คือ ธนบุรีประกอบรถยนต์ โดยเม็ดเงินดังกล่าวจะใช้เพื่อขยายโรงงานรถยนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่แห่งใหม่ขึ้นในที่ตั้งเดียวกัน เพื่อเป็นหลักประกันว่าโรงงานในไทยจะมีเทคโนโลยีอันล้ำหน้า สำหรับรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว (Battery Electric Vehicle – BEV) ผลิตขึ้นที่ไทย
ไมเคิล เกรเว่ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กล่าวว่า การขยายโรงงานและการผลิตแบตเตอรี่ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเปิดตัวโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทยแห่งแรก และเป็นแห่งที่ 6 ของทั่วโลก ซึ่งการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตนั้น เป็นเพราะ demand ในตลาด ทำให้การลงทุนนี้เกิดขึ้น และเป็นการช่วยสร้างงานให้กับคนในประเทศเช่นกัน ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการผลิตที่นี่มาเกือบ 40 ปีแล้ว เชื่อว่าพาร์ทเนอร์ของบริษัท จะสามารถทำได้เช่นกัน รวมทั้งจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 12,000 คัน ด้วย
“การเปิดตัวในส่วนของโรงงานใหม่นี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวช่วยให้เราเดินหน้าตาม Milestone ถัดไปเช่นกัน”
ทางด้านของการเติบโตในกลุ่มธุรกิจรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นไปได้ดี ซึ่งก็มองเรื่องการผลิตในไทยเช่นกัน โดยปีก่อนหน้านี้มีตัวเลขการเติบโตเป็นเลขสองหลัก ขายไปมากกว่า 14,000 คัน ทำให้มองเรื่องการผลิตในประเทศเช่นกัน รวมทั้งรุ่นที่น่าจับตามองที่สุดอย่าง E-Class, C-Class และ CLA ก็ต้องคอยติดตาม
บริษัทมีการลงทุน 100 ล้านยูโรในเรื่องการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วย ถือว่าเป็นการลงทุนทำสิ่งใหม่ๆ ช่วยให้เราก้าวไปอีกขั้น รวมทั้งยังช่วยสร้างงานกว่า 300 ตำแหน่ง ซึ่งสัดส่วนการลงทุนนั้น ถือว่าเป็นการร่วมมือกันคนละครึ่งกับทาง ธนบุรีประกอบรถยนต์ รวมทั้งความสามารถของที่นี่ก็ยังผลิตรถยนต์รุ่น hybrid ได้ด้วย ถือว่าตอบโจทย์ระดับภูมิภาคนี้ได้เลย
อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2565 บริษัทฯ จะผสานระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเข้ากับรถยนต์ของ เมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างทั่วถึง เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า อย่างน้อย 1 รุ่นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่รถยนต์จากแบรนด์สมาร์ทไปจนถึงรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดใหญ่ รวมถึงบริษัทฯ กำลังวางแผนจะนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 50 รุ่นย่อยอีกด้วย ในขณะเดียวกันเมอร์เซเดส-เบนซ์ยังสนับสนุนการพัฒนารถยนต์ ปลั๊กอินไฮบริดและการแจ้งเกิดของระบบ 48 โวลท์ พร้อมด้วยรถยนต์รุ่นแรกในตระกูล EQ ซึ่งใช้ชื่อว่า EQC ที่จะเข้าสู่สายการผลิตในปี 2562 ที่เบรเมน ประเทศเยอรมนี ทั้งนี้ EQ เป็น แบรนด์เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์ CASE ซึ่งประกอบด้วยเสาหลักเชิงกลยุทธ์ที่ผสานกันอย่างชาญฉลาด ได้แก่ การเชื่อมต่อ (Connected), การขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Autonomous), ความยืดหยุ่นในการใช้งาน (Shared & Services) และระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (Electric)
โรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งที่ 6ของเมอร์เซเดส-เบนซ์
โรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ โดยจะผลิตเพื่อรองรับความต้องการในประเทศและเพื่อส่งออกเดมเลอร์ใช้เงินลงทุนรวมกว่า 1,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 1 พันล้านยูโร) ในเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าว ซึ่งยังมีโรงงานทั้งในเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และจีนอีกด้วย เครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่นี้จะตอบสนองความต้องการในตลาดอย่างยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับการผลิตรถยนต์ ซึ่งกลยุทธ์นี้จะทำให้มีเทคโนโลยีแบตเตอรี่อันทันสมัยจากศูนย์กลางการผลิตในแต่ละพื้นที่ ทั้งยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกาไว้พร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นตามแผนงานรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ทั้งนี้ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยมีแผนจะเริ่มเดินสายการผลิตภายในปี 2562