Michelle Pfeiffer เป็นนางแบบนักธุรกิจที่เข้าใจว่าสาวทั่วโลกงงกับชื่อส่วนผสมยาวเหยียดบนฉลากครีมบำรุงผิวและเครื่องสำอาง จนไม่รู้ว่า “สารสกัดธรรมชาติ” ที่ถูกใส่ในโฆษณานั้นหมายถึงสารอะไร ความงงนี้กลายเป็นเทรนด์ที่ทำให้ผู้บริโภคในตลาดสินค้าความงามต้องการผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายที่ปลอดภัยกว่าเดิม ทำให้ Pfeiffer เสนอตัวเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมความงาม clean-beauty ที่กำลังเฟื่องฟู โดยมีการคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2025
นอกจากแบรนด์ใหญ่อย่าง Sephora ที่ให้ความสนใจตลาด clean-beauty มากขึ้น บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับ high-profile อย่าง Michelle Pfeiffer คือรายล่าสุดที่เข้ามาร่วมวงในตลาดนี้ โดยข้อมูลระบุว่าสาวอมตะอย่าง Pfeiffer ซึ่งมีอายุเกิน 54 ปีแล้ว ใช้เวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาในการพัฒนาน้ำหอมที่การันตีส่วนผสมโปร่งใสตรวจสอบได้ 100%
Pfeiffer ตั้งชื่อแบรนด์ของเธอว่า Henry Rose จุดขายหลักคือความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายแบรนด์อื่น โดยเฉพาะน้ำหอมที่แบรนด์ส่วนใหญ่ไม่เคยเปิดเผยสูตรลับที่ทำให้คงกลิ่นหอมยาวนาน จุดนี้ทำให้ Pfeiffer มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนตลาดด้วย Henry Rose ซึ่งเป็นแบรนด์ขายตรงสู่ผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ความโปร่งใสขายได้
จากนักแสดงที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้ว 3 ครั้ง พ่วงด้วยดีกรี 1 ใน 50 ผู้หญิงที่สวยที่สุดของนิตยสารพีเพิล วันนี้ Pfeiffer หยิบความโปร่งใสมาเป็นจุดขายในสินค้าของเธอเอง โดยยกตัวอย่างว่าน้ำหอม คือสิ่งที่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง
Pfeiffer กล่าวในงานประชุม Fast Company Impact Council ที่นิวยอร์กโดยเรียกความลับดำมืดของส่วนผสมในเครื่องสำอางว่ากล่องดำหรือ black box โดยบอกว่า black box นี้มีมาตลอดในวงการน้ำหอม และจะยังมีอยู่ต่อไปอีกนานแสนนาน ดังนั้นเธอและทีมงานจึงใช้เวลามากกว่า 10 ปี ค้นคว้าและทดสอบก่อนจะนำ Henry Rose มาลงตลาดได้
Pfeiffer กล่าวระหว่างการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวกับ Jill Bernstein ผู้อำนวยการกองบรรณาธิการของ Fast Company ว่าเธอไม่ได้เป็นแฟนของสินค้าที่ถูกติดคำว่า “Clean” ไว้ด้านหน้า เพราะเธอรู้ดีว่าคำว่า Clean นั้นหมายถึงอะไรก็ตามที่บริษัทหรือแบรนด์ตัดสินใจขึ้นเองว่ามันหมายถึงอะไร จุดนี้เธอกล่าวเสริมถึง buzzwords ยอดฮิตทั่วไปอย่างเช่นคำว่า “natural“ หรือธรรมชาติ คำว่า “organic“ ที่คนมักเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับสารเคมีน้อยกว่า ทั้งหมดล้วนไม่เคยโปร่งใสในวงการเครื่องประทินผิวแบรนด์เนม
Pfeiffer จวกเกมการตลาดที่หยิบคำเหล่านี้มาเป็นสีสันที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จริงในสินค้า เธอบอกว่าคำว่า “natural” นั้นควรจะหมายถึงการไม่เจือปนสารใดเลย เช่นยี่โถขาวหรือ White oleander ถือเป็นสารธรรมชาติ แม้ว่า White oleander จะเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องหนึ่งของเธอ แต่เธอก็ยืนยันว่าจะไม่ใส่ลงในน้ำหอมของเธอเอง
สิ่งที่เธอชอบคือคำว่า “safe” ความปลอดภัยนี้เป็นสิ่งที่ Henry Rose ยึดมั่น โดยน้ำหอมของ Pfeiffer ถูกการันตีผ่านการตรวจสอบโดยคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายความว่าไม่มีสารเคมีใดที่ถูกระบุว่าเป็นกลุ่มอันตราย และเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ Pfeiffer ได้ร่วมมือกับบริษัทน้ำหอมดัง IFF ซึ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ได้อีก
จากนั้น Henry Rose ก็ก้าวไปอีกขั้นโดยได้รับการรับรองจากสถาบันนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ Cradle to Cradle Products Innovation Institute ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานร่วมกับผู้ผลิตเพื่อให้มั่นใจถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน
ผลิตเองเพราะหงุดหงิด
ทั้งหมดนี้ Pfeiffer บอกว่าเธอพัฒนา Henry Rose จากความจำเป็น เพราะรู้สึกหงุดหงิดที่ไม่สามารถหาน้ำหอมที่เธอไว้ใจได้ ที่ผ่านมา เธอพยายามหาทางเลือกน้ำหอมตัวใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ผลลัพธ์ก็น่าผิดหวังเพราะมีส่วนผสมที่มีปัญหากับผิว ผม ผ้า และจมูก ในที่สุดเธอก็ยอมแพ้จนหยุดใช้น้ำหอมมาพักใหญ่
Pfeiffer เล่าถึงช่วงเวลาที่หยุดใช้น้ำหอม ว่าเธอเริ่มมองหาน้ำมันหอมระเหยที่ปราศจากน้ำหอมมาเพื่อใช้ในครอบครัว ทั้งหมดนี้สวนทางกับความเป็นคนรักน้ำหอมและหลงใหลเกี่ยวกับกลิ่น แต่เธอตัดสินใจหยุดใส่น้ำหอมนานกว่า 10 ปี
ปัจจุบัน Pfeiffer วางจำหน่ายน้ำหอม Henry Rose ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทเท่านั้น จุดนี้ Pfeiffer ยอมรับว่าเธอกำลังมองหาวิธีที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นแบบไม่รีบเร่ง เพราะผลิตภัณฑ์หลักนั้นใช้เวลาพัฒนานานมาก
เมื่อถูกถามว่ารู้สึกอย่างไรที่ Henry Rose เริ่มเปิดตลาดแล้ว Pfeiffer ระบุว่าการแจ้งเกิด Henry Rose ก็เหมือนกับการให้กำเนิดบุตรตัวน้อย แม้จะเจ็บปวดแต่ในที่สุดลูกน้อยก็ลืมตาดูโลกโดยที่มีแม่เฝ้ารักและห่วงใย และในไม่ช้า แม่คนนี้ก็จะพยายามค้นหาว่าลูกน้อยจะเป็นอย่างไรบนเวทีที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา.
ที่มา: : FastCompany