อย่างที่ thumbsup เรานำเสนออย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับกระแสของ Wearable Devices หรืออุปกรณ์ไฮเทคที่สวมใส่ได้ที่กำลังมาแรงเหลือเกิน แต่ส่วนใหญ่แล้วเราจะเห็นแค่แว่นตาหรือนาฬิกา แต่อะไรๆ กำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ตัดสินใจกระโดดลงมาร่วมเกมนี้ด้วย และเตรียมเปิดตัว”ยกทรงไฮเทค”กับเขาบ้าง
Microsoft เองได้เริ่มกระโดดเข้ามาสู่ตลาดของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์มาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นเกม, แท็บเล็ต หรือล่าสุดกับการไปซื้อ Nokia เพื่อเตรียมลุยตลาดโทรศัพท์มือถือเต็มตัว แต่คงไม่มีอันไหนดูน่าแปลกใจเท่ากับการที่ Microsoft ตัดสินใจจะหันมาทำยกทรงด้วย
ยกทรงไฮเทคที่ว่านี้ถูกเรียกง่ายๆ ว่า Smart Bra หรือ High-Tech Bra ได้รับการพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ในทีม Microsoft Research โดยแนวคิดก็คือเพื่อใช้วัดสภาวะอารมณ์ผ่านทางเซ็นเซอร์ที่ถูกฝังอยู่ในยกทรงแล้วนำมาเทียบกับความรู้สึกจากการทานอาหารที่มากเกินไปในครั้งก่อน จากนั้นมันจะส่งสัญญาณเตือนไปที่สมาร์ทโฟนเมื่อพบว่าผู้ใช้งานกำลังจะถึงจุดที่จะทานอะไรไม่ได้อีกแล้ว
ทีมงานผู้พัฒนาได้ระบุว่านี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่อุปกรณ์ไฮเทคแบบสวมได้ หรือ wearable devices สามารถตรวจจับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้ได้ และรูปแบบของอุปกรณ์ที่มาในรูปของยกทรงนั้นมีข้อดีคือมันสามารถตรวจวัดการเต้นของหัวใจได้เพราะอุปกรณ์อยู่ใกล้หัวใจ ซึ่งในขณะนี้กลุ่มผู้ร่วมทดลองต้องถอดยกทรงนี้ทุก 3-4 ชั่วโมงเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ (ซึ่งยังไม่ถือว่ามีประสิทธิภาพมากนัก) จากนั้นข้อมูลที่ยกทรงไฮเทคนี้เก็บรวบรวมได้จะถูกส่งไปยัง Azure Cloud ของ Microsoft ซึ่งในส่วนของการทำงานนี้ถือว่าค่อนข้างน่าพอใจ จากนั้นตัวยกทรงจะสามารถคาดการณ์สภาวะความรู้สึกและอารมณ์ได้โดยปัจจุบันมีความแม่นยำอยู่ที่ 75% (โดยเทียบกับข้อมูลอารมณ์ที่ผู้ใช้ระบุด้วยตัวเองทุกๆ ชั่วโมง)
Microsoft วางแผนที่จะเดินหน้ากับโครงการนี้ โดยสิ่งที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ก็คือ จะทำอย่างไรให้รับมือกับการใช้งานเป็นประจำทุกๆ วันภายใต้ความท้าทายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องแบตเตอรี่, ความสบายในการสวมใส่ และความเหมาะสมทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย และแน่นอนว่าในเวอร์ชั่นของผู้ชายเองนั้นอาจจะต้องมาในรูปแบบของกางเกงในแทน แต่น่าก็ห่างจากหัวใจเกินไป
โจทย์นี้น่ากลับไปคิดเล่นๆ นะครับ ใครมีไอเดียที่น่าจะช่วย Microsoft ได้ ลองมาแนะนำกันดูนะครับ 😀
ความเห็นผู้แปล
อุปกรณ์สวมใส่ได้คงจะเริ่มทยอยมาในรูปแบบใหม่ๆ มากกว่านี้และแน่นอนว่าความสามารถของมันจะหลากหลายและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เราได้เห็นกันในตอนนี้คือรูปแบบการทำงานแบบง่ายๆ นั่นคือเก็บข้อมูลเล็กน้อยตามที่ถูกโปรแกรมไว้เพื่อส่งให้แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หรืออย่างเก่งก็อัพโหลดไปยัง cloud ของผู้ให้บริการ ซึ่งยังถือเป็นการทำงานแบบพื้นฐานมากๆ จนถือได้ว่าอยู่ในก้าวที่ 1 เท่านั้น สิ่งที่เราจะได้เห็นในช่วง 1-3 ปีต่อจากนี้น่าจะเป็นอุปกรณ์สวมใส่ที่ฉลาดและเก่งกาจขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการทำงานและตอบโต้กับผู้ใช้ได้โดยตัวมันเอง การเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์โดยตรง การเตือนและการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้ที่หลากหลายขึ้น ความแม่นยำที่สูงขึ้น รวมถึงการจัดการกับแบตเตอรี่และการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งโดยเฉพาะในประเด็นหลังสุดนี้ ผมว่ามันจะเป็นประตูไปสู่ ecosystem ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา เหมือนครั้งหนึ่งที่การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนสามารถสร้าง ecosystem ที่ใหญ่โตได้และยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกวันนี้
อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวผมเองผมมองว่า Wearable Devices จะไม่เติบโตจนแซงหน้าสมาร์ทโฟนไปได้ ยกเว้นเสียแต่ว่ามันกลายเป็นสิ่งเดียวกันเสียมากกว่า เพราะสมาร์ทโฟนรองรับพฤติกรรมหลักๆ ได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การทำงาน หรือการรวบรวมและเรียกใช้ข้อมูล ในขณะที่ Wearable Devices น่าจะเป็นอุปกรณ์ที่มารองรับพฤติกรรมรองๆ ลงมามากกว่า เช่น สุขภาพ หรือการดูแลความปลอดภัยส่วนบุคคล แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ผู้พัฒนาการใช้งานและแอพพลิเคชั่นทั้งหลาย ต้องติดตามกันต่อไปครับ
ที่มา: Mashable