เรื่องของเทคโนโลยีกับภาคธุรกิจนั้น ต้องยอมรับว่าธุรกิจไทยในยุคนี้มีการปรับตัวนำหลายนวัตกรรมที่น่าสนใจมาปรับใช้ในเชิงธุรกิจมากขึ้น โดย Microsoft ผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์มได้มาเล่าถึงความก้าวหน้าของการเลือกใช้เทคโนโลยีของธุรกิจยักษ์ใหญ่ให้เราได้ฟังกันค่ะ
คุณวสุพล ธารกกาญจน์ Cloud and Enterprise Business Group Lead Marketing and Operations, Microsoft Thailand เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจมีความสนใจด้านเทคโนโลยีกันมากขึ้น หลายรายเลือกที่จะนำไปพัฒนาระบบให้เหมาะสมกับลูกค้า บางรายอาจจะใช้สำหรับระบบในองค์กร แต่ภาพรวมจะเห็นว่าผู้บริหารมีแนวคิดอยากจะใช้งานเทคโนโลยีกันมากขึ้น
มองธุรกิจไทยกับเทคโนโลยี
“ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ลูกค้าภาคธุรกิจหลายรายเริ่มสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI และ Cognitive มากขึ้น”
วสุพร อธิบายว่า เมื่อปีที่แล้ว ถือว่าเป็นปีแห่งการปรับตัวที่ภาคธุรกิจเข้าสู่การใช้งาน Cloud และ Big Data พอมาปีนี้คือการเข้าสู่ยุคของการนำดาต้าไปพัฒนาอีกขั้น คือ เอาข้อมูลที่มีมาปรับและพัฒนา เพื่อเชื่อมประสบการณ์ให้ลูกค้า อย่างแสนสิริ เขาจะรู้ปัญหาเกี่ยวกับการเข้าเยี่ยมชมห้องตัวอย่างของลูกค้าอาจไม่สะดวกอีกต่อไป หากต้องเดินทางก็นำเทคโนโลยี AI และ VR มาเสริมในเรื่องของการรับชมห้องตัวอย่างผ่านกล้อง VR ซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้
หรืออย่าง การบินไทย ที่พบปัญหาเรื่องการสื่อสารและให้บริการลูกค้าจึงพัฒนา Chatbot มาเสริมเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ภาคธุรกิจต้องทราบและมองเห็นปัญหาของตนเองให้ชัดก่อนว่าขาดเรื่องอะไรค่อยนำเทคโนโลยีไปเสริมและจะเกิดประโยชน์ที่คุ้มค่าต่อการลงทุนแน่นอน และคิดว่าด้วยเทรนด์เทคโนโลยี AI และ Cognitive ก็ยังน่าจะเป็นตัว Drive ธุรกิจต่อเนื่องในปีหน้า
“ปีหน้าก็ยังจะเห็นการนำ 2 เทคโนโลยีนี้ไปใช้เพื่อเติมเต็มบริการของลูกค้าให้ดีขึ้นต่อเนื่อง”
สตาร์ทอัพ Local เข้าใจคนได้ดีกว่า
การแข่งขันในธุรกิจ AI และ Cognitive นั้น แน่นอนว่ายังคงมีคู่แข่งอีกมากมาย เพราะเทคโนโลยีนั้นเปิดกว้าง อยู่ที่ว่าใครเด่นเรื่องใด อย่าง Microsoft เรายอมรับว่าเก่งเรื่องภาพและการวิเคราะห์อารมณ์ของบุคคล จึงมีการเข้าซื้อกิจการของสตาร์ทอัพ 2 ราย เพื่อเข้ามาเสริมด้านประสบการณ์และเหมาะสมต่อการทำงานร่วมกันดีขึ้น
“เรามองว่าการเลือกสตาร์ทอัพแบบ Local จะช่วยให้เข้าใจวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตของคนในประเทศนั้นๆ ได้ดีกว่า”
อย่างทีม Frontis จะเก่งด้านการวิเคราะห์อารมณ์และสีหน้าคน ทำให้ภาคธุรกิจที่ต้องการทราบความรู้สึกของลูกค้านำไปปรับใช้งานได้ เช่น ร้านกาแฟมีลูกค้ากำลังจะเดินเข้าร้าน กล้องจะจับภาพสีหน้าและวิเคราะห์อารมณ์ของเขา จากนั้นประมวลผลออกมาให้พนักงานเลือกนำเสนอเมนูที่คาดว่าจะเหมาะกับลูกค้าแต่ละคนได้ หากบางคนสีหน้าดูเหนื่อยล้า ก็แนะนำเมนูกาแฟเย็นหรือปั่นเพื่อคลายร้อนได้ เป็นต้น
อีกทีมหนึ่งคือ Digital dialogue ทำระบบ chatbot สำหรับ HR ที่เข้าไปช่วยดูแลพนักงานในองค์กร โดยระบบจะเข้าไปเช็คข้อมูลหลังบ้านของพนักงานแต่ละคน และนำเสนอในสิ่งที่พนักงานต้องการ เพื่อวิเคราะห์และช่วยให้พนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้น ยกตัวอย่าง นาย A ทำงานเหนื่อยมาก และดูจะไม่อยากทำงานแล้ว ระบบจะเข้าไปนำเสนอทางเลือกให้เขา เช่น คุณ A ยังมีวันลาพักร้อนเหลือ ต้องการจะไปพักผ่อนไหม ระบบจะคัดเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้ เป็นต้น
การเข้าไปดูแลสวัสดิการพนักงานลักษณะนี้ จะช่วยให้เขารู้สึกว่ามีคนสนใจเขาและช่วยเหลือในยามที่พวกเขามีปัญหา นอกจากลดความเครียดและกังวลของพนักงานก็ยังช่วยลดภาระของทีม HR ได้ด้วย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
สิ่งที่น่าประทับใจคือภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่เองก็รู้จักปรับตัวนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้งานให้เหมาะสมทั้งเรื่องธุรกิจและพนักงานมากขึ้น ถือว่าเป็นการเอาใจใส่ลูกน้องและลูกค้าของตนผ่านเครื่องมือที่ดีกว่ารูปแบบเดิมๆ