มายด์แชร์ เผยภาพรวมการใช้จ่ายสื่อในช่วงโควิด-19 โดยแบรนด์และผู้บริโภคยังคงต้องปรับตัวจากสถานการณ์ในการระบาดของไวรัสที่ยังไม่ได้หายไป แต่ประชาชนก็มีการเรียนรู้และพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น
คุณปัทมวรรณ สถาพร – กรรมการผู้จัดการ มายด์แชร์ (ประเทศไทย) มองว่า หากคาดการณ์ภาพรวมการใช้จ่ายปี 2021 นั้นต้อนย้อนกลับไปปี 2019 ที่เรายังไม่เกิดเรื่องการแพร่ระบาด จะเห็นว่ามีการเติบโตกว่าเทียบกับปี 2020 เล็กน้อย โดยในกลุ่มทีวีที่แม้ว่าจะติดลบแต่ด้วยภาวะโควิดที่คนอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้มีตัวเลขฟื้นกลับมา 3% และคาดว่าปีนี้จะมีการโตที่ค้างจากปีที่แล้ว แต่ภาพรวมการใช้สื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือสื่อดิจิทัล ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องไปยังปี 2021 ที่น่าจะสอดคล้องกับ gdp ของประเทศที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็นตัวเลข 3+
โดยตารางนี้คือตัวเลขคาดการณ์ภาพรวมสื่อโฆษณาของปี 2021 หากมีการเติบโตหรือฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 3% แม้ว่าตัวเลขที่คาดการณ์นี้ยังไม่อาจการันตีได้ว่าจะสะท้อนถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีหรือไม่ แต่มายด์แชร์แนะนำว่าอยากให้แบรนด์ยังคงใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เพราะการรักษาชื่อของแบรนด์ไว้ตลอดจะดีกว่าการเงียบหายและรอเวลาฟื้นทางเศรษฐกิจค่อยมาลงทุน
ทั้งนี้ แบรนด์ที่ยังคงสานต่อการโฆษณาในช่องทางต่างๆ หรือบริหารช่องทางการโฆษณาอย่างเหมาะสม ก็ยังช่วยสร้างการรับรู้และเพิ่มโอกาสซื้อได้ดีกว่า แม้ว่าสื่อ Out of Home (OOH) ในปีที่ผ่านมามีตัวเลขลดลงมาก เพราะคนไม่ค่อยออกนอกบ้าน แต่ปี 2021 น่าจะมีแนวโน้มกลับมาดีขึ้น
ทางด้านของสถิติการรับชมสื่อทีวีในปีที่ผ่านมา มีตัวเลขที่ฟื้นกลับมาดีขึ้นอาจเพราะคนอยู่บ้านเยอะขึ้น และใช้เวลาในการรับชมนานขึ้น อาจเป็นเพราะการเปิดทิ้งไว้เพื่อเป็นเพื่อนแก้เหงาหรือเพื่อรับฟังข่าวสารที่ผู้บริโภคยังคงมองว่าสื่อทีวีน่าเชื่อถือกว่าสื่อประเภทอื่นๆ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ยังคงสานต่อในการโฆษณาและใช้สื่อต่อเนื่องและสร้างโอกาสทางการขายได้ดีขึ้นนั้น เห็นได้จากกลุ่มผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผม อุปกรณ์ทำความสะอาดบ้าน กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับนมและกลุ่มสินค้าบำรุงสุขภาพ
แต่กลุ่มธุรกิจที่เจอปัญหาหรือผลกระทบเยอะที่สุดคือ กลุ่มสินค้าประเภทมอเตอร์ไซต์ กลุ่มภาครัฐ และธุรกิจสื่อ
ทางด้านของมายด์แชร์ก็ได้แนะนำแนวทางสำหรับธุรกิจที่กำลังหาทางออกว่าควรจะโฟกัสในเรื่องใดและมองหาโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ หรือการปรับตัวเพื่อรับโอกาสในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แนวทางทั้ง 5 ข้อดังกล่าวของปี 2021 ไม่ได้แตกต่างจากปี 2020 เท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่คือเน้นในเรื่องของการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม โดยจะอธิบายให้ละเอียดขึ้น ดังนี้
Prioritization : คือการย้อนกลับไปดูแผนหรือแคมเปญที่เคยคิดจะทำว่าแกนธุรกิจของคุณคืออะไร แล้วมีส่วนไหนสามารถนำมาปรับให้เข้ากับยุคสมัยด้วยการใส่นวัตกรรมลงไป หรือเลือกลงทุนในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น เช่น สินค้าเครื่องสำอางค์เริ่มปรับไลน์การผลิตมาผลิตเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ หรือแบรนด์เสื้อผ้าผลิตหน้ากากออกมาขาย เป็นต้น
Audience : “ลูกค้าสำคัญเสมอ” ยังเป็นกฏข้อสำคัญของทุกธุรกิจ เพราะแบรนด์จำเป็นต้องรู้จักลูกค้าของตนเอง รู้จักพฤติกรรมและความสนใจของกลุ่มลูกค้าของเรา เพื่อสร้างโอกาสในการขายและรักษาแบรนด์ให้อยู่รอด
Media : เรื่องของการวางแผนสื่อโฆษณานั้น จะช่วยรักษาโอกาสในการสื่อสารแบรนด์อยู่ เพื่อให้เรายังอยู่ในใจของผู้บริโภคและการจดจำจะดีกว่าหายไปและเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดผ่านไปค่อยกลับมาสร้างแบรนด์ใหม่ จะยิ่งฟื้นฟูยากกว่า
Agile Communication : ด้วยไลฟ์สไตล์ที่คนหยุดการออกนอกบ้าน แบรนด์ควรปรับคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น โดยควรมุ่งเน้นไปกับสิ่งที่เกี่ยวกับการอยู่บ้านและครอบครัว หากจะมีการจัดกิจกรรมใดๆ ก็ควรที่จะเหมาะสมกับสถานการณ์
Ecommerce : เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างกลับมาดีขึ้น อยากให้มองเรื่องของการเข้าสู่โลกออนไลน์ให้มากขึ้น ถ้าพร้อมจากสถานการณ์ต่างๆ อยากให้เชื่อมโยงการขายออนไลน์และออฟไลน์เกี่ยวข้องกัน รวมทั้งวางกลยุทธ์ทางการขายทั้งหมดให้เชื่อมโยงกัน รวมทั้งวิเคราะห์พฤติกรรมการค้นหาของผู้บริโภคด้วยว่ามีความต้องการอะไร ค้นหาสิ่งใด และพฤติกรรมเป็นอย่างไร และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ให้ผู้บริโภคมองเห็นเราทุกช่องทาง เพื่อสร้างโอกาสทางการขายและการอยู่รอดของธุรกิจ