ในยุคที่มือถือครองเมือง แน่นอนว่าไม่ว่าใครก็จะมีแนวคิดอยากจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมาสักตัว เพื่อตอบโจทย์งานบริการ และไม่ต้องแชร์ส่วนแบ่งรายได้ให้ใคร แต่ด้วยความที่จำนวนแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคก็มีจำนวนมากอยู่แล้ว การจูงใจให้ผู้บริโภคโหลดแอพมาติดในเครื่องและใช้งานเมื่อต้องการส่ังอาหาร จึงเป็นงานยากที่ทีมบริหารต้องวางแผนให้ดี
ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์คิง (ประเทศไทย) จำกัดและ ณญาดา วรรณวิไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาดแอปพลิเคชั่นส่งเสริมธุรกิจ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ลูกค้าค่อนข้างคุ้นชินกับการโทรสั่งออเดอร์ผ่านหมายเลข 1112 มาก จนเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางของรายได้ ไม่น้อยกว่า
ทั้งนี้ ก่อนจะปล่อยแอพพลิเคชั่นนี้สู่ตลาดเมื่อวันที่ 14 กพ.ที่ผ่านมา ได้มีการทดลองสั่งอาหารจากสาขาและแบรนด์ต่างๆ ในเครือพร้อมกัน เพื่อดูว่าจะตอบสนองการสั่งซื้อของลูกค้าได้ดีแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม ทางไมเนอร์ก็มั่นใจว่าหลังจากเปิดตัวแอพพลิเคชั่นแล้ว จะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าที่เคยโทรสั่งผ่านโทรศัพท์ 1112 ให้หันมาสั่งอาหารผ่านแอพกัน เพราะบริษัทมีการพัฒนาศูนย์กลางสั่งอาหารให้ทำงานได้ดีไม่แพ้กับคอลล์เซ็นเตอร์แบบเดิม
นอกจากนี้ ลูกค้าที่ใช้งานสามารถมั่นใจได้ว่าพนักงานส่งทุกคนสุภาพ ปลอดภัย เช็คประวัติได้ เพราะเป็นพนักงานที่บริษัทคัดเลือกและตรวจสอบมาแล้ว โดยตอนนี้ใช้งานในกรุงเทพได้เกือบครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว หลังจากนี้จะขยายไปในภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคอีสาน
ตลาดดิลิเวอรี่โอกาสยังสูง
แม้ว่าจะมีภาพของการสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นดิลิเวอรี่เยอะมาก แต่โอกาสของแบรนด์ก็ยังมี เพราะบางคนที่นึกถึงแบรนด์อาหารที่ชัดเจนอย่าง Pizza, Swensen, Dairy Queen, Sizzler ก็จะเลือกเข้ามาสั่งในแอพได้เลย ไม่ต้องไปค้นหาผ่านระบบแอพอื่นๆ ให้วุ่นวาย
ในแง่ของภาพรวมธุรกิจของไมเนอร์ ที่มียอดขายรวมของปี 2561 อยู่ที่ 44,000 ล้านบาท โดยตัวเลขรายได้จากฝั่งดิลิเวอรี่ทำได้ถึง 3,000 ล้านบาท สัดส่วนในช่องทางการขายนี้โตกว่า 50% และได้ตั้งเป้าการสั่งซื้ออาหารจากช่องทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นและดิลิเวอรี่จากคู่ค้า เพิ่มขึ้น 15%
อย่างไรก็ตาม งบประมาณสำหรับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมาไม่ได้เป็นตัวเลขที่สูงมากนัก เพราะบริษัทมีโปรดักชั่นเหล่าน้ีรองรับ งบที่จะใช้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการทำตลาดมากกว่า โดยแต่ละแบรนด์จะแชร์งบมาไว้ในส่วนกลางเพื่อทำตลาดในแอพนี้ คาดว่าทั้งปีจะใช้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท และหลังจากเปิดให้ดาวน์โหลดไป ก็มียอดการดาวน์โหลดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทางด้านของการทำงานเมื่อมีลูกค้ากดแอพเข้ามา ระบบหลังบ้านจะมีการจับคู่ลูกค้ากับสาขาที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้พนักงานส่งสินค้าสามารถเข้าไปรับสินค้าและจัดส่งให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว โดยแต่ละแบรนด์จะจัดส่งได้เร็วช้าต่างกัน เพราะบางสินค้าต้องใช้เวลาในการปรุงอาหาร แต่ภาพรวมของการจัดส่งจะต้องไม่ช้ากว่าการสั่งผ่านคอลล์เซ็นเตอร์แบบเดิม
นอกจากนี้ ช่องทางคอลล์เซ็นเตอร์แบบเดิมก็ยังมีให้บริการอยู่เพราะยังมีลูกค้ากลุ่มเดิมคุ้นเคย การมีแอพแค่ช่วยให้สื่อสารกับลูกค้าได้สะดวกขึ้นเท่านั้น
สะดวกช่องทางไหนก็ไปลองใช้บริการกันค่ะ