หากเอ่ยถึงชื่อของ Minor Group หลายคนจะนึกถึงแบรนด์ Pizza Company, Swenzen, Burger King, Dairy Queen ธุรกิจโรงแรมมากมาย ไปจนถึงสินค้าไลฟ์สไตล์อย่างกระเป๋า Anello, GAP, Banana Republic หรือกลุ่มโรงแรมอย่าง Anantara, AVANI, Tivoli, Four Seasons, St.Regis เป็นต้น ยิ่งทำให้การดำเนินธุรกิจยาวนานกว่า 50 ปีของ วิลเลียม ไฮเน็ค มีสีสันที่น่าสนใจมากข้ึน
ด้วยจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจในวัย 17 ปีของเขา จากการเป็นบริษัทโฆษณาและบริการทำความสะอาดสำนักงานด้วยเงินลงทุน 1,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 25,000 บาท มาเป็นธุรกิจที่มีการเติบโต 1.7 แสนล้านบาท และพนักงานกว่า 80,000 คนทั่วโลก จาก 3 คอร์ธุรกิจหลัก คือ โรงแรมและรีสอร์ท จำนวน 549 แห่ง ร้านอาหาร 2,130 สาขา และกลุ่มสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ 429 แห่ง
กลยุทธ์สำคัญเพื่อเดินหน้าธุรกิจ
แม้บริษัทจะดำเนินมายาวนานกว่า 50 ปี ก็ต้องยอมรับว่าเทรนด์หลายอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทั้งพนักงานรุ่นใหม่ ความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้า ไปจนถึงการเข้ามาของเทคโนโลยี ซึ่ง วิลเลียม ยอมรับว่า ความท้าทายของเขาคือการ “จูน” กับทีมบริหารให้ตรงกัน โดยปรับเทรนด์ต่างๆ ตามสมัยและต้องไม่ตกเทรนด์ ถือว่าเป็น core value สำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าอย่างแข็งแรง นั่นคือ
- การมุ่งเน้นให้บริการลูกค้าที่ดีกว่าเดิม
- พัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีความสามารถทันยุค
- สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
- สร้างพันธมิตรใหม่ๆ และรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าเก่าให้มั่นคง
ด้านกลยุทธ์หลักขององค์กร
- ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของแบรนด์ใน Portfolio ให้แข็งแรง
- คำนึงถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้มากขึ้นจากแพลตฟอร์มที่มีอยู่
- เข้าซื้อกิจการใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางรายได้ใหม่ๆ
ทั้งนี้ การทำให้เกิดกลยุทธ์ของบริษัทที่แข็งแรงได้ต้องมีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเป็นตัวเสริม คือ
- มองหาเครื่องมือด้านดิจิตอล เทคโนโลยี และมุ่งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคยุคใหม่
- ปรับโครงสร้างองค์กร เปิดรับคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้องค์กรเดินหน้า
- แม้ว่ากลยุทธ์หลักจะช่วยให้บริษัทมีกำไร และรายได้เติบโตแล้ว ก็ต้องเติบโตได้อย่าง sustainability
ทิศทางและโอกาสเติบโตในอีก 5 ปี
วิลเลียม มั่นใจว่าธุรกิจมีการเติบโตที่ยั่งยืนได้ เพราะมีการประเมิณความเสี่ยงของธุรกิจเดิม และการเปิดรับธุรกิจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการหรือเป็นทีมบริหารที่ช่วยดูแลในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ซึ่งโอกาสเหล่านี้ สามารถเพิ่มรายได้จากหลากหลายช่องทางให้บริษัท
แม้ว่าสัดส่วนรายได้ในปัจจุบันจะปิดที่ 6 หมื่นล้าน สัดส่วนรายได้มาจาก กลุ่มโรงแรม 55% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 38% ไลฟ์สไตล์ 7% และคาดการณ์ว่าสัดส่วนรายได้ของปีหน้าก็จะขยับไม่ต่างกันมาก แต่กลุ่มโรงแรมจะพุ่งขึ้นเป็น 70% เพราะมีรายได้เพิ่มจากการเข้าถือหุ้นของ NH Hotel Group ด้านธุรกิจอาหารจะอยู่ที่ 20% แและไลฟ์สไตล์ก็น่าจะมีสัดส่วนเป็นตัวเลขหนึ่งหลักเช่นเดิม
ทางด้านแผนการเติบโตใน 5 ปีนั้น จะต้องมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 15-20% ต่อเนื่องทุกปี เพราะดูจากธุรกิจที่เข้าไปลงทุนแล้ว มีความเป็นไปได้สูง ส่วนแผนการลงทุนนั้น ได้ตั้งงบไว้ล่วงหน้าคือปี 2017-2022 ไว้ที่ 4-5 หมื่นล้านบาทในการดำเนินธุรกิจ แต่วงเงินนี้จะไม่รวมกับการเข้าไปถือหุ้นใน NH Hotel Group ที่มีอยู่ 45% แล้ว โดยบริษัทมีแผนจะถือหุ้นเพิ่ม ซึ่งจะสรุปข้อตกลงสำเร็จในช่วงไตรมาสที่ 4 อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องการเข้าถือหุ้น 51% ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท
ยังไม่ชัดเรื่องอีคอมเมิร์ซ
แม้ว่า วิลเลียม จะพูดชัดเรื่องการสนับสนุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซ แต่ก็ไม่ได้มีการขยายความที่ชัดเจนว่ามีแผนลงทุนหรือ เข้าไปมีส่วนร่วมด้านนวัตกรรมอย่างไร นอกจากการทำช่องทางอีคอมเมิร์ซเพื่อซื้อขายสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ให้สะดวกขึ้น โดยมีเว็บไซต์หรือหน้าเพจของแต่ละแบรนด์เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้ายุคใหม่
“การสร้างออนไลน์แชนแนล จะช่วยขยายโอกาสใหม่ๆ ให้ ไม่ใช่แค่การขายหน้าร้าน แต่มีแยกข้อมูลและเว็บไซต์ให้แต่ละแบรนด์ โดยร่วมมือกับเจ้าของแบรนด์ในการบริหารจัดการ”