บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (Minor International: MINT) ประกาศเข้าลงทุนในธุรกิจร้านอาหารสไตล์เกาหลีอย่าง “บอนชอน” (Bonchon) ทั้ง 40 สาขาในประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้ดำเนินการของบริษัท ชิคเก้น ไทม์ จำกัด ในสัดส่วน 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท
แม้ว่าการลงทุนดังกล่าวจะไม่รวมสิทธิแฟรนไชส์ในการเปิดสาขาใหม่ แต่ MINT ยืนยันว่ากำลังเจรจากับสิทธิแฟรนไชส์หลัก โดยจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจเพื่อให้มีสิทธิในขยายสาขาในไทยต่อไป
MINT ถือว่าเป็นผู้ดำเนินการด้านร้านอาหารรายใหญ่ใน 26 ประเทศ ซึ่งมีอยู่ 2,200 สาขา ใน ภายใต้เครื่องหมายการค้าเดอะ พิซซ่า คอมปะนี, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, ริเวอร์ไซด์, เบนิฮำนำ, ไทย เอ็กซ์เพรส, บอนชอน, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เลอร์, แดรี่ ควีน และเบอร์เกอร์ คิง อีกทั้งยังเป็นผู้นำด้านการจัดจำหน่ายและรับจ้างผลิตสินค้าไลฟ์สไตล์ ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ภายใต้เครื่องหมายการค้าอเนลโล่, โบเดิ้ม, บอสสินี่, บรูคส์ บราเธอร์ส, ชาร์ล แอนด์ คีธ, เอสปรี, เอแตม, โจเซฟ โจเซฟ, โอวีเอส, แรทลีย์, สโกมาดิ, สวิลลิ่ง เจ. เอ. เฮ็งเคิลส์ และไมเนอร์ สมาร์ท คิดส์ รวมถึงยังมีธุรกิจโรงแรมใน 55 ประเทศอีกด้วย
ส่วนบอนชอนเป็นร้านอาหารเกาหลี ที่มีเอกลักษณ์คือไก่ทอดสไตล์เกาหลี ซึ่งมีซอสเป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบันบอนชอนมีสาขาทั้งในสหรัฐอเมริกา, บาห์เรน, คูเวต, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, กัมพูชา, เวียดนาม, พม่า และไทย ซึ่งบอนชอนสาขาแรกในไทยตั้งขึ้นเมื่อปี 2554
ข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยจากข่าวประชาสัมพันธ์ของ Minor และมีการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อย่างเป็นทางการแล้ว
คาด Minor เสริมแกร่ง แต่บอนชอนยังยื้อ
ข้อมูลที่แจ้งกับ SET ระบุว่า บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งบริษัทย่อยในชื่อ “บริษัท ไมเนอร์ฟูด โฮลดิ้ง จำกัด” แล้วเข้าถือหุ้น 99.73 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นก็นำ “บริษัท ไมเนอร์ฟูด โฮลดิ้ง จำกัด” เข้ามาถือหุ้นใน “บริษัท ชิคเก้น ไทม์ จำกัด” ในสัดส่วน 100 เปอร์เซ็นต์
ที่ผ่านมา Minor ประกาศว่าไตรมาส 3 ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 4,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 347 เปอร์เซ็นต์จากกำไรสุทธิ 1,020 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2561 สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยรายใหญ่ๆ ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
เห็นได้จากก่อนหน้านี้ที่ร้านอาหาร MK ที่ไม่ได้มีแค่ร้านสุกี้ ได้เข้าซื้อกิจการของ “แหลมเจริญซีฟู้ด” ซึ่งฝ่าย MK ก็ต้องการหนีภาวะอิ่มตัวของธุรกิจตนเอง ส่วนแหลมเจริญซีฟู้ดต้องการความช่วยเหลือเรื่องการขยายสาขาและการขนส่งวัตถุดิบ
ซึ่งในเคส Minor และบอนชอนก็คงไม่ต่างกัน เพราะ Minor ก็มีธุรกิจร้านอาหารอยู่หลายตัว ซึ่งอาจจะกำลังเข้าสู่จุดอิ่มตัวเพราะแบรนด์เริ่มเป็นที่คุ้นชินเช่นกัน จึงต้องการธุรกิจอื่นมาเสริมทัพในธุรกิจของตนเอง
แต่บริษัทแม่ของบอนชอนยังคง “ยื้อ” สิทธิการขยายสาขาอื่นๆ ไว้ที่ตัวเองอยู่ แต่ยกแค่ 40 สาขาที่อยู่ให้ Minor ดูแลกิจการ ซึ่ง thumbsup คาดว่า Minor คงไม่ยอมพลาดโอกาสในการซื้อธุรกิจชื่อดังอย่างบอนชอนแบบ “เบ็ดเสร็จเด็ดขาด” เพื่อให้ได้สิทธิขยายสาขามาอยู่กับตัวเองอย่างแน่นอน