สถิติล่าสุดชี้คนไทยนิยมซื้อสินค้าด้วยสมาร์ทโฟน สัดส่วนแซงหน้าประเทศอื่นในเอเชียแปซิฟิกหลายประเทศ เป็นรองเพียงอินเดียและจีนที่ขึ้นแชมป์ตลาด m-commerce มาหลายปี ขณะที่สัดส่วนการใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลหรือ digital wallets ของคนไทยยังน้อย เป็นทิศทางเดียวกับประเทศอื่นที่มีการใช้งานแอปพลิเคชันธนาคารหรือ mobile banking มากกว่า
ผลการสำรวจล่าสุดนี้เป็นของ Mastercard บริษัทบัตรเครดิตที่ต้องการชี้ว่าร้านค้าปลีกวันนี้กำลังพบวิกฤติเพราะผู้คนหันไปซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์โดยเฉพาะ mobile shopping ผลกระทบนี้เกิดขึ้นชัดเจนในจีนและอินเดีย ซึ่งพบว่าวงการร้านค้าปลีกซบเซาอย่างน่าเป็นห่วง
แม้ว่าประเทศไทยจะมีสถิติที่นำหน้ากว่าประเทศอื่น แต่ฟิลิปปินส์และมาเลเซียถูกยกว่าเป็นประเทศที่มีอัตราเติบโตมากที่สุดหรือ top growth markets สำหรับตลาด mcommerce คำนวณการเติบโตได้ 12.6% และ 10.1% ตามลำดับ
สำหรับอินเดีย ปีนี้คือปีที่ 2 ที่อินเดียครองแชมป์ตลาดที่มีสัดส่วนผู้ซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนมากที่สุด 75.8% ของกลุ่มตัวอย่าง (ซึ่งซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 3 เดือนก่อนการสำรวจ) รองลงมาคือจีน (71.4%) อันดับ 3 คือประเทศไทย (65%)
ในภาพรวม การสำรวจพบว่าอินเดียคือประเทศที่วงการร้านค้าปลีกได้รับผลกระทบมากที่สุด คำนวณภาวะตกต่ำได้ 10.3% เทียบจากปี 2015 โดยสัดส่วนผู้บริโภคที่มีประสบการณ์ซื้อสินค้ากับร้านค้าปลีกในอินเดียช่วงปี 2016 นั้นอยู่ที่ 44.4% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 45.9% ตัวเลขนี้ลดต่ำจากปี 2015 ที่เคยทำได้ 48.6%
ออสเตรเลียกลับเป็นประเทศที่มี mobile shopper น้อยที่สุด 26% ตามมาด้วยญี่ปุ่น 31%
อีกบทสรุปของการสำรวจนี้คือทั้งจีนและไทยคือประเทศที่เปิดรับการใช้งาน mobile payment บนระบบรับส่งข้อความอย่างกว้างขวาง โดยคนจีนนิยม WeChat Pay ขณะที่คนไทยนิยม Line Pay
การสำรวจนี้ Mastercard รบรวมจากผู้บริโภคมากกว่า 8,738 คนจาก 14 ประเทศ APAC ทำการสำรวจช่วงพฤศจิกายนปีที่แล้ว
ที่มา: Campaignasia