ในงานสัมมนาทางวิชาการ miniBizIT (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ทางทีมงาน thumbsup ได้รับเกียรติไปเป็นวิทยากรพิเศษ?ภายใต้หัวข้อ “Mobile Trend” และได้นำ slide มาแบ่งปันให้กับผู้อ่าน thumbsup ไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น ในที่สุด (จนกระทั่งป่านนี้ ^^”) ก็หาโอกาสมาเขียนขยายความเพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้กับผู้ที่สนใจต่อแล้วค่ะ
โดยข้อมูลจะถูกแบ่งออกเป็นหลายตอน เพราะมีเนื้อหาค่อนข้างเยอะพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ทิศทางของสมาร์ทโฟน , เศรษฐกิจของแอพฯ, ชีวิตการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต, Mobile Cloud, การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้สำหรับ Mobile Marketing ไม่ว่าจะเป็น NFC, Location-Based รวมถึงคำที่น่าสนใจอย่าง Augmented Economics, ทิศทาง Commerce กับการนำ NFC มาใช้? อย่างไรก็ตามบางหัวข้อถ้าทางทีมงาน thumbsup ได้เคยนำเสนอในรายละเอียดไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้เราก็จะทำการลิงค์อ้างอิงไปอีกทีนะคะ จะได้ไม่เป็นการมาเล่าซ้ำ สำหรับคราวนี้จะขอเริ่มกันที่ 2 หัวข้อแรกก่อนแล้วกันค่ะ
เกริ่นด้วยเรื่องของตลาดสมาร์ทโฟนเสียหน่อย…
นาทีนี้คงจะบอกว่าหุ่นกระป๋องเขียว Android ไม่แรงไม่ได้แล้ว สำหรับใครที่ชอบนั่งดูสถิติภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนโลกแล้วหล่ะก็ หนึ่งใน source ที่ไม่ควรพลาดคือ Gartner นั่นเอง โดยจะมีสรุปข้อมูลดีๆ มาให้ดูกันทุกไตรมาสเลยทีเดียว ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีก่อน Android ยังมีส่วนแบ่งการตลาดยังไม่ถึง 20% เลย แต่มาปีนี้กระโดดขึ้นมากินส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่งแล้วด้วยตัวเลข 43.4% และถ้ารวมกับค่ายผลไม้ Apple ที่พัฒนา iOS แล้วหล่ะก็กินส่วนแบ่งมากกว่า 60% เข้าไปแล้ว สำหรับอดีตแชมป์อย่าง Symbian ก็หล่นลงมาเกือบครึ่งเหลือแค่ 22.1% ซึ่งไม่ได้เป็นที่น่าแปลกใจเพราะผู้สนับสนุนหลักอย่าง Nokia ก็มีแผนที่จะ phase out Symbian ในปี 2016 ที่จะถึงนี้ สำหรับปีหน้าเราก็ต้องมาดูถึงการจับมือกับฟาก Microsoft อย่างเต็มตัวกันหล่ะว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ สิ่งหนึ่งที่เราได้รับรู้กันก็คือ นวัตกรรมโลกโทรคมนาคมถูกเปลี่ยนขั้วและนำทีมโดยบริษัทจากฟากโลกอินเตอร์เน็ตมาสักพักแล้ว ไม่ใช่ผู้ผลิตอุปกรณ์หรือผู้ผลิตโครงข่ายดังเช่นในอดีต
(ในงานสัมมนามีการยกกรณีศึกษา : ยุครุ่งเรืองของ Motorola กับโทรศัพท์อนาล็อก และทำไมถึงถูก Nokia มาแซงในยุคโทรศัพท์ดิจิตอล เรื่องราวของ Symbianไม่สามารถก้าวข้ามสู่ความสำเร็จในตลาดสมาร์ทโฟนได้ จนกระทั่ง iOS มา แต่ทั้งหมดนี้คงจะไม่เล่าย้อนหลังนะคะ เพราะชื่อบทความคือ Mobile Trend ถ้าสนใจเรื่องนี้ก็มาสนทนากันนอกรอบได้ค่ะ ^^)
อยากได้สมาร์ทโฟนราคาเบาๆ ? Android ราคาสบายกระเป๋ามีเยอะแยะ
ก่อนที่ Eric Schmidt จะก้าวลงจากตำแหน่ง CEO เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา หนึ่งในสิ่งที่เค้ากล่าวทิ้งไว้คือ ตลาดของสมาร์ทโฟน แบบจอสัมผัส เล่นอินเตอร์เน็ตได้จะกลายเป็นสินค้าที่ราคาไม่แพงดังเช่นในอดีต ไม่ต้องมองไปที่ไหนไกลในงาน Mobile Expo บ้านเราช่วงหลังๆ ที่ผ่านมาเราจะเห็นโทรศัพท์หลายรุ่นที่ใช้ระบบปฏิบัติการณ์ Android และสามารถหาซื้อกันได้ในราคาสบายกระเป๋า สัก 4-5,000 บาทก็สามารถหาซื้อรุ่นที่ถูกใจวัยโจ๋ขา Chat, Like ment facebook ได้
แหล่งผลิตโทรศัพท์ OEM ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างจีน ทำเครื่องต้นทุนต่ำออกมาให้ทั้งแบรนด์ดังโซนเอเชีย และแบรนด์ท้องถิ่นของหลายประเทศนำไปขายต่อกันเพียบ เล่นเอาแบรนด์ฝรั่งหลายรายที่พยายามกลับมาฟื้นในตลาดนี้ด้วย Android แต่ตั้งราคาไว้สูง จะจับตลาดบนก็ใช่ง่าย จะจับตลาดล่างก็ยาก พาเอาเครียดเหมือนกัน
Android ราคาสมน้ำสมเนื้อกำลังเป็นที่แพร่หลายและผู้ใช้หลายคนก็ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าตัวเองใช้เจ้าหุ่นกระป๋องเขียวนี้อยู่ รู้แค่ว่าใช้แล้วมันตอบโจทย์ไลฟ์สไตร์ฉันก็พอ
เศรษฐกิจแอพพลิเคชั่นยังบูม
แอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คนที่ปลุกผี เอ้ย! พลิกฟื้นเห็นจะหนีไม่พ้นค่ายผลไม้ Apple นี่เอง ที่มองการไกล ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามีปัจจัยต่างๆ ที่สนับสนุนกันอยู่
เริ่มกันตั้งแต่พัฒนาอุปกรณ์ที่ดึงดูดคนให้มาใช้ได้อย่าง iPhone เมื่อสินค้ามันพร้อมอยู่แล้ว มีลูกค้าต้องการใช้มัน ในขณะเดียวกัน Apple ก็มีแพลตฟอร์มที่มาแก้โจทย์อันเป็นอุปสรรคของการ distribute แอพฯ ในอดีตอย่าง Appstore? ที่มาพร้อมการชำระเงินที่แสนสะดวก ในปัจจุบันถือว่าเป็น Ecosystem ที่พร้อมที่สุดแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่นักพัฒนารายเล็ก รายใหญ่จะหันมาลองหารายได้ หรือพัฒนาแอพฯ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด
ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา แอพฯ ที่ active บน Appstore มีสูงถึง 466,675 แอพฯ? และ IDC ยังคาดการณ์ว่าสิ้นปี 2015 ยอดการดาวน์โหลดแอพฯ บนโทรศัพท์ (จากหลายๆ แพลตฟอร์ม) จะสูงถึง 182,000 ล้านเลยทีเดียว
ทิศทางของแอพฯ ประเภทไหนที่ไปได้สวย?
นับตั้งแต่ Apple ได้เปิดให้มีการหารายได้ภายในแอพฯ อย่าง In-App Purchase รูปแบบของแอพฯ ที่ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ และสร้างรายได้อันดับต้นๆ ติดอันดับ Top Grossing Games คือรูปแบบของ Freemium Game (ตัวแอพฯ นั้นฟรี และมี In-App Purchase ในเกมอีกที)
ใครๆ ก็อยากมี App Store
แต่อย่างที่กล่าวไว้ Apple ไม่ใช่ผู้คิดค้นหรือทำ Appstore ในโลกธุรกิจนี้ยังมีกลุ่มต่างๆ อีกมากมายที่หันมาสร้าง Ecosystem แบบนี้กันอีกเพียบ และก็จะยังเห็นไปเรื่อยๆ ค่ะ แต่จะสำเร็จไม่สำเร็จ ก็ต้องดูกันเป็น case-by-case
- ?กลุ่ม OS vendors เช่น Google ก็มี Android Market
- ?กลุ่ม OEM (Apple ก็จัดเป็นกลุ่มนี้) อย่าง Nokia ก็มี Ovi Store (จะรีแบรนด์เป็น Nokia Store), RIM ก็มี BlackBerry App World
- กลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมเองเลย อย่าง China mobile, Verizon, Vodafone เป็นต้น เค้าเรียกว่าเป็นยุค Telco2.0 คือ ยุคที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมไม่ได้หวังเป็นแค่ท่อหรือช่องทางให้กับ Service Provider เท่านั้น ด้วย 2 Sided Business Model เดิมที่มีรายได้จากด้านผู้บริโภคทั่วไป จะเพิ่มช่องทางการหารายได้อีกด้านโดยการวางตัวเป็นแพลตฟอร์มเปิดระบบให้ 3rd party นำ resource ไปใช้เพื่อสร้างบริการต่างๆ ที่หลากหลาย (ตามทฤษฎี The Long Tail เหมือนโลก Web 2.0 เช่นกัน)
- และกลุ่มอิสระไปเลย ที่ดังๆ ก็อย่างเช่น GetJar รวมแอพฯ มันทุก Mobile OS เลยค่ะ
ในแง่ของนักพัฒนาทั่วไป
อย่างไรก็ตามการพัฒนาแอพฯ และให้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่านั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ คงต้องฝ่าฟันกันอีกมาก จะเกิด Rovio (ผู้พัฒนา Angry Birds) รายที่ 2 รายที่ 3 เมื่อไหร่ก็ไม่รู้นะคะ การพัฒนาแอพฯ ที่มีเทคโนโลยีเจ๋งๆ ก้าวล้ำแต่ไม่ตอบโจทย์ว่าทำไมลูกค้าต้องใช้ หรือแม้เป็นแอพฯ ที่ดีแต่มี User Interface ที่ซับซ้อนยุ่งยาก เท่ากับปิดประตูให้กับตัวเองเพราะโอกาสที่ลูกค้าจะกลับมาใช้อีกก็น้อยแล้ว และยังต้องมีหัวทางการตลาดในการโปรโมตแอพฯ อีกว่าจะเจาะตลาดอินเตอร์อย่างไรดีนะ ฟังดูแล้วยากจัง… ทั้งหมดนี้มันก็คือธุรกิจๆ หนึ่งค่ะ ที่ต้องมีทั้งแรงบันดาลใจ ความตั้งใจจริงที่อยากประสบความสำเร็จ การสร้างสรรค์ ไอเดีย ความสามารถทางการตลาด? ก็ขอเอาใจช่วยคนไทยด้วยกันนะคะ แต่ถ้าการทำธุรกิจแบบ B2C (Business to Consumer) ยังรู้สึกว่ายากอยู่สำหรับบ้านเรา ก็อาจลองหันมามองการพัฒนาแอพฯ เชิง B2B (Busines to Business) คือรับทำให้กับแบรนด์ต่างๆ ดูก็ได้เช่นกันค่ะ
สำหรับคราวหน้า ไปดูเทรนด์ที่ต่างประเทศเค้าคาดการณ์ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า ไลฟสไตร์, ประสบการณ์ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเราจะเป็นเช่นไรกันนะคะ