ช่วงนี้ยังอยู่ในบรรยากาศของ Black Friday และ Cyber Monday เลยนำเอาอินโฟกราฟิกจาก MineWhat.com ที่สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชอปปิ้งสินค้าทางอินเทอร์เน็ต และให้คำแนะนำว่าจะกระตุ้นการชอปจากผู้บริโภคเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง
ผลการสำรวจระบุว่านักชอป 81% ลงมือค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก่อนที่จะซื้อ ในจำนวนนี้มี 60% ที่เริ่มต้นจากการใช้ Search Engine ค้นหาสินค้าที่ต้องการ โดยไม่มีการเข้าไปที่เว็บใดเว็บหนึ่งแบบเฉพาะเจาะจง และ 61% จะอ่านรีวิวสินค้าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ โดยเฉลี่ยแล้วผู้บริโภคจะเข้าไปเยี่ยมชมและเปรียบเทียบสินค้าจากเว็บไซต์ประมาณ 3 แห่ง
สำหรับเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์มีหลากหลายสาเหตุ แต่หลักๆ แล้วจะคล้ายๆ กับพฤติกรรมผู้บริโภคในไทย โดยผู้บริโภคจำนวน 69% เลือกที่จะไม่ซื้อเพราะเชื่อว่ากระบวนการเปลี่ยนหรือคืนสินค้ามีความยุ่งยากซับซ้อน และ 54% จะไม่ซื้อเพราะอยากเห็นสินค้าจริงๆ มากกว่ารูปภาพในเว็บ
นักชอป 61% จะออกจากเว็บไซต์ทันทีถ้าพบว่าไม่มีบริการขนส่งสินค้าฟรี นอกจากนี้ ผู้บริโภคจำนวน 51% จะยกเลิกการทำรายการซื้อสินค้าเมื่อพบว่าการขนส่งสินค้าใช้เวลานานเกินไป
6 ใน 10 ของผุ้บริโภคระบุว่าพวกเขากังวลเรื่องความปลอดภัยของบัตรเครดิต จะเห็นว่าแม้แต่ในประเทศที่มีระบบ e-commerce แบบครบวงจร ผู้บริโภคก็ยังไม่สามารถไว้ใจในเรื่องนี้ได้
ในอินโฟกราฟิกยังมีคำแนะนำสำหรับการออกแบบเว็บไซต์เพื่ออำนวยความสะดวกหรือจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ดังนี้
- SEO มีความสำคัญมาก เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังคงค้นหาสินค้าที่ต้องการจาก Google ผลการค้นหาลำดับต้นๆ มักจะถูกคลิกเข้าไปชมมากกว่า และเมื่อเข้ามาชมแล้ว ผู้บริโภคก็ต้องการเห็นราคาได้ชัดเจน และคาดหวังว่าจะมีบริการจัดส่งฟรีด้วย
- ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นหากมีข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเขียนเอาไว้อย่างชัดเจน และเห็นว่ามีการรีวิวจากลูกค้าคนอื่นๆ เช่น การให้คะแนนสินค้าแต่ละไอเทมจากลูกค้าคนอื่นๆ ดังนั้น ผู้ขายควรจะกระตุ้นให้เกิดการรีวิวสินค้าบนหน้าเว็บไซต์ด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ คือเว็บไซต์รับจองโรงแรมที่นอกจากจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับที่พักแต่ละแห่งไว้อย่างละเอียดแล้ว ข้อมูลจากการรีวิวโดยแขกที่เคยเข้าไปพักก็เป็นสิ่งสำคัญ
- รูปประกอบก็เป็นสิ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้ นอกจากจะต้องใช้รูปคุณภาพสูงแล้ว ก็ควรจะมีรูปสินค้าหลายๆ มุมพร้อมกับตัวเลือกซูมอินเพื่อให้เห็นรายละเอียดชัดๆ ด้วย
- อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบราคาของสินค้าชนิดเดียวกันแต่ต่างรุ่นต่างยี่ห้อได้แบบง่ายๆ และแสดงรายการสินค้าที่เกี่ยวข้องเอาไว้ให้เห็นชัดเจน
- สำหรับการบริการหลังการขาย ควรมีการแสดงนโยบายเปลี่ยนหรือคืนสินค้าเอาไว้ในเว็บ และทำให้ขั้นตอนการเปลี่ยนหรือคืนสินค้าสามารถทำได้ง่ายๆ ผู้ขายควรแสดงช่องทางติดต่อโดยตรงเอาไว้ด้วย
- การชำระเงินควรมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ จะเห็นได้ว่าบางเว็บในไทย มีให้เลือกตั้งแต่ PayPal บัตรเดบิต บัตรเครดิต ชำระผ่านเคาเตอร์เซอร์วิส ไปจนถึงวิธีการโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มแล้วแจ้งโอนผ่านเว็บไซต์หรืออีเมล
- ถ้ามีใบรับรองความปลอดภัยของระบบชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิตก็ควรแสดงเอาไว้บนเว็บไซต์ด้วย