Site icon Thumbsup

ฝันวัยเด็กนำทาง Maryellis Bunn ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์ไอศกรีม”

เพราะเคยฝันว่าอยากกระโดดลงสระว่ายน้ำที่เต็มไปด้วยเกล็ดน้ำตาล sprinkles หลากสี ฝันนี้จึงนำทางให้ Maryellis Bunn กลายเป็นผู้ประกอบการและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ เพื่อสร้าง Museum of Ice Cream (MOIC) ขึ้นมาให้โลกได้ร่วมสนุกแบบอินเทอร์แอคทีฟ และมีความสุขกับรสชาติไอศกรีมเอ็กซ์คลูซีฟที่ส่งไปจำหน่ายนอกพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย

สิ่งที่น่าเรียนรู้จาก Maryellis Bunn คือการสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งที่ทุกคนรู้จักและชื่นชอบ ตั้งแต่ MOIC เริ่มแจ้งเกิดปี 2016 ในรูปป๊อปอัปขนาดเล็กที่นิวยอร์กซิตี้ MOIC เป็นที่นิยมจนต้องขยายสาขาใหม่ 5 สาขาทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งไมอามี่ ลอสแองเจลิส และซานฟรานซิสโก ล่าสุด MOIC สามารถปักหลักให้บริการถาวรแล้วที่นิวยอร์กซิตี้อย่างเป็นทางการ

MOIC ไม่เพียงมอบความสนุกให้กับผู้เข้าชมผ่านการจัดแสดง Sprinkle Pool สระว่ายน้ำที่ผู้ชมสามารถลงไปแหวกว่ายในเกล็ดน้ำตาล หรือ Pop Rocks Cave ถ้ำอมยิ้มที่เต็มไปด้วยลูกอมสีสดตามจินตนาการ แต่ยังจำหน่ายไอศครีมรสแปลกเช่น Churro Churro, Chocolate Crush และ Vanillionaire ไอศกรีมเหล่านี้ถูกส่งไปจำหน่ายที่ร้าน Target เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ซื้อไอศกรีมคิดถึง MOIC แม้จะไม่ได้เดินทางมา

MOIC ยังโดดเด่นมากบนโซเชียลมีเดีย เป็นที่ชื่นชอบของชาว Instagram จนดึงให้มีสถิติผู้เข้าชมมากกว่า 1,500,000 คน ในจำนวนนี้มีคนดังอย่าง Beyoncé, Katy Perry และ Kim Kardashian รวมอยู่ด้วย

สนุกสนานและมีความสุข

การที่ MOIC กำลังจะเปิดบริการถาวรที่นิวยอร์ก หลังจากเปิดประสบการณ์ในรูปป็อปอัปครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อน ทำให้ Maryellis Bunn ผู้มีตำแหน่งเป็น cocreator และ CEO ของพิพิธภัณฑ์ไอศกรีมออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเพราะลูกค้าถามหา โดยยืนยันว่าลูกค้าต้องการสถานที่ที่สามารถไปได้หลายครั้ง และสามารถเดินทางมาชมการจัดแสดงของบริษัทได้ต่อเนื่อง

“เมื่อเราใช้โมเดลป๊อปอัป เราจะไม่มีพื้นที่ให้ชุมชนของเรา ดังนั้นการเปิดให้พวกเขาได้มีสถานที่จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อพวกเรา”

ตำแหน่งที่ตั้ง flagship แห่งใหม่ของ MOIC นั้นอยู่ในย่านโซโหของแมนฮัตตัน พื้นที่ใจกลางไข่แดงนิวยอร์กนี้ทำให้ MOIC ถูกมองว่าไม่ธรรมดาเพราะการวางจุดยืนเป็นบริษัทค้าปลีกประสบการณ์หรือ experiential retail แนวโน้มของตลาดนี้มีทิศทางสวยงามเพราะ Figure8 บริษัทแม่ของ MOIC สามารถระดมทุนได้ 40 ล้านเหรียญในรอบซีรีส์ A ซึ่งนอกจาก Museum of Ice Cream จะขยายไปสู่คอลเล็กชั่นค้าปลีกที่ Target แต่ยังมีความร่วมมือในวงการเครื่องสำอางกับ Sephora ด้วย

Maryellis Bunn บอกว่าเป้าหมายของ MOIC คือการสร้างพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อมนุษย์เข้ากับมนุษย์ และดึงมนุษย์มาเข้ากับสถาปัตยกรรม พันธกิจของ MOIC จึงเป็นการสร้าง การทำความเข้าใจ แล้วก็กลับมาสร้างใหม่อีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมา MOIC สามารถสร้างพื้นที่ แล้วทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น จนได้รับผลตอบรับเป็นผู้เยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก

แม้จะมีเป้าหมายสร้างสาขาถาวรมาตลอด แต่ Bunn ย้ำว่าบริษัทต้องอยู่ในจุดที่ MOIC มีข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงมีแค่บริษัทที่ต้องการสร้าง แต่ทั้งโลกจะต้องการมันด้วย

แน่นทุกตารางนิ้ว

Museum of Ice Cream ในนิวยอร์กซิตี้จะครอบคลุมพื้นที่เกือบ 25,000 ตารางฟุต อาคาร 3 ชั้นจะมีการจัดแสดงผลงานใหม่ 13 ชุดซึ่งจะถูกสร้างและออกแบบในบริษัททุกชิ้น ประเด็นนี้ Bunn ระบุว่า “ความฝันจากมุมมองที่สร้างสรรค์” ทำให้บริษัทสามารถสร้างงานดีไซน์ทุกตารางนิ้วจน MOIC มอบประสบการณ์ล้ำสมัยได้แบบที่ไม่เคยมีใครทำได้ ในสภาพแวดล้อมที่คนทั่วไปไม่สามารถมีได้

สิ่งที่เราได้จากแนวคิดของ Bunn คือการให้ค่ากับความฝัน เพราะพิพิธภัณฑ์ไอศกรีม MOIC นั้นสามารถตอบโจทย์ชาวโซเชียลด้วยสีชมพูหวานสดใส พร้อมกับส่วนประกอบสีลูกกวาดที่ทำให้มีภาพ MOIC เต็มฟีด Instagram ตลอด 3 ปีที่เริ่มให้บริการ คนดังทั้ง Beyoncé และ Kim Kardashian West เดินทางมาถ่ายภาพใน MOIC จนสร้างกระแสฮอตมากท่ามกลางรายชื่อ waiting list รอเข้าชมอยู่ถึง 200,000 คน ขณะที่ตั๋วสำหรับเข้าชมสาขาลอสแองเจลิสนั้นจำหน่ายหมดเกลี้ยง ท่ามกลาง waiting list ที่เพียงพอสำหรับการขายตั๋วได้ถึงปีหน้า

Bunn ให้สัมภาษณ์ทิ้งท้าย Fast Company ว่าแท้จริงแล้ว สิ่งที่ MOIC สร้างขึ้นคือกลุ่มการพัฒนาที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งทำให้บริษัทสามารถพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เน้นประสบการณ์เป็นหลัก (experience-first properties) ได้ทั่วโลก โดย MOIC จะเน้นใช้แนวทางใหม่ในวงจรการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ และจะเน้นการคำนึงถึงแนวคิดและอารมณ์ของสิ่งที่บริษัทกำลังสร้าง

ที่สำคัญ Bunn มองว่าคู่แข่งของ MOIC คือ Netflix และ Instagram เนื่องจากเป็นบริการที่ทำให้ลูกค้าใช้เวลาด้วยมากที่สุด ซึ่ง Bunn มองว่า MOIC ต้องการให้ผู้คนออกนอกบ้านไปสำรวจและมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ผ่านงานออกแบบที่น่าหลงใหลและเติมเต็มในโลกแห่งความเป็นจริง.

ที่มา: : FastCompany