Site icon Thumbsup

คุยกับ MyCloudFulfillment กับเทรนด์อีคอมเมิร์ซและการระดมทุนครั้งล่าสุด ที่จะสร้างโอกาสสู่การเป็นยูนิคอร์น

แม้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยสูงขึ้นถึง 42% คิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับภาพรวมในภูมิภาคเอเชียที่มีมูลค่ามากถึง 45 ล้านล้านบาท เรายังคงเป็นที่สองรองจากอินโดนีเซียที่มีประชากรเยอะกว่า

แต่เมื่อเทียบมูลค่าการใช้จ่ายต่อบิลนั้น อินโดนีเซียอยู่ที่ 6,856 บาทต่อคนต่อปี ส่วนไทยอยู่ที่ 6,752 บาทต่อคนต่อปี นั่นแสดงให้เห็นว่าเม็ดเงินที่คนไทยยอมจ่ายผ่านช่องทางออนไลน์นั้นสูงขึ้นอย่างน่าสนใจ

บุกตลาดอีคอมเมิร์ซ

นิธิ สัจจทิพวรรณ กรรมการผู้จัดการ และผู้ร่วมก่อตั้ง MyCloudFulfillment บริษัท อี-เอ็มพาวเวอร์เมนท์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซทั่วโลก ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก Statista คาดการณ์ปี 2563 มูลค่าตลาดทั่วโลกจะอยู่ที่ 75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% จากปี 2562 มีจำนวนผู้ใช้งานมากถึง 3,468 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9.6% จากปี 2562 เช่นกัน

ความน่าสนใจในตลาดอีคอมเมิร์ซ คือรายได้ของทั่วโลกในปี 2563 มาจากภูมิภาคเอเชียมูลค่าอยู่ที่ 45 ล้านล้านบาท เติบโต 29% จากจำนวนผู้ใช้ถึง 2,133 ล้านคน คิดเป็น 61.5% ของผู้ใช้ทั่วโลก สะท้อนขนาดตลาดที่ใหญ่สุดในโลก

หากมองเจาะลึกลงไปในภูมิภาคเอเชีย ยังพบว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่มูลค่าอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงสุดถึง 44%  ซึ่งมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท โตขึ้นมาถึง 42% จากปีที่แล้ว โดยตลาดที่มีกำลังซื้อยังคงเป็นกลุ่มเอเชีย

ทั้งนี้ คนที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงอันดับหนึ่ง ได้แก่ คนอินโดนีเซีย มีอัตราการใช้จ่ายผ่านอีคอมเมิร์ซต่อผู้ใช้ต่อปีที่ 219 เหรียญสหรัฐ คิดเป็น 6,856 บาทต่อคนต่อปี และที่รองลงมาก็คือ คนไทย 215.67 เหรียญสหรัฐ คิดเป็น 6,752 บาทต่อคนต่อปี

แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีอัตราคาดการณ์ของการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ต่ำกว่าอินโดนีเซียอยู่มาก  นั่นหมายความว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเป็นตลาดที่ คนมีกำลังซื้อ และ ยังขยายได้อีกมากในอนาคต

“แม้ว่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย อยู่ในจุดที่เรียกว่า Sweet spot คือไม่ใช่จุดที่ดีที่สุด แต่เราอยู่ในจุดที่หอมหวานที่สุด แต่การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของไทยยังต่ำกว่าอินโดนีเซีย จึงสะท้อนว่าโอกาสทางการตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยยังมีลูกค้าหน้าใหม่ยังเกิดใหม่เรื่อยๆ หากผู้ประกอบการต้องการลงทุน ขยายตลาดช่องออนไลน์ ต้องดำเนินการตอนนี้เลย”

นอกจากนี้ สินค้าด้านอุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่มที่ผ่านการบรรจุภัณฑ์, อุปกรณ์ที่ใช้ภายในบ้าน และ ผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้ซื้อ (New normal) และจากการทดลองใช้งานของลูกค้าหน้าใหม่ทำให้ติดใจกับการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ไปเรียบร้อยแล้ว

ทำไมต้อง Fulfillment

เพราะอีโคซิสเต็มของการซื้อสินค้าออนไลน์นอกจากเรื่องของระบบการสั่งซื้อแล้ว การบริหารจัดการก่อนจัดส่งสินค้าให้ปลายทางก็เป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่มีการแข่งขันสูงมาก โดย Fulfillment (ฟูลฟิวเม้นท์) คือ บริการ “เก็บ แพ็ค ส่ง” ที่สามารถตอบโจทย์พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่ช่วยให้จัดส่งสินค้าได้ดีขึ้น

คุณนิธิ เล่าว่า ธุรกิจฟูลฟิลเมนท์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผู้เล่นเยอะเหมือนเป็นฝ่ายซัพพอร์ตให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีได้ไปโฟกัสในเรื่องของการขาย จุดที่เราต่างจากคู่แข่งคือ กลุ่มบริษัทที่เราเข้าไปซัพพอร์ตจะค่อนข้างมีออเดอร์ที่มากพอสมควร คือไม่ได้เจาะในกลุ่มรายย่อยขนาดเล็ก

ที่เรามองกลุ่มนี้ เพราะพวกเขามีออเดอร์ต่อวันที่ต้องจัดการเยอะ ทำให้การจ้างพนักงานคงกลายเป็นต้องทุนที่สูงมากและหากไม่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการที่ดีพอก็กลายเป็นต้นทุนสูง ซึ่งเราจะช่วยทั้งเรื่องของการจัดเก็บสินค้า ตรวจสอบออเดอร์ แพคสินค้าและจัดส่ง จากนั้นก็ให้แบรนด์นำข้อมูลในการสั่งซื้อไปใช้ในการทำโปรโมชั่นใหม่ๆ แก่ลูกค้า เพิ่มโอกาสในการซื้อขายต่อไป

เพราะต้นทุนในการจัดเก็บ บริหารจัดการ และจัดส่งนั้น ทำให้แบรนด์ที่ขายสินค้าเหลือกำไรน้อยมาก เพราะต้นทุนเหล่านี้สูง

โดยสัดส่วนลูกค้าของเราแบ่งเป็น รายย่อย 70% รายใหญ่ 30% ประเภทของธุรกิจที่ใช้บริการเรามาก ได้แก่ สินค้าประเภทอาหารเสริม ความสวยความงาม สินค้าอิเลคทรอนิคส์ สินค้าแฟชั่น ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะเป็นกลุ่มสินค้าที่ลูกค้าซื้อซ้ำได้

ซีรี่ย์เอต้องโตให้ได้ใน 2 ปี

คุณนิธิยังเล่าอีกว่า หลังจากที่ได้รับเงินลงทุน Series A มูลค่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากผู้ลงทุน ได้แก่ ECG-RESEARCH, Gobi Partners, NVest Venture และ SCB 10X แล้ว ก็ต้องรีบขยายธุรกิจในไทยให้เป็นที่รู้จักและเติบโตอย่างรวดเร็ว ก่อนขยายไปยังเวียดนามที่มีพาร์ทเนอร์ที่แข็งแรงอยู่

“การขยายไปยังเวียดนามนั้น เพราะพฤติกรรมของคนเวียดนามจะคล้ายกับไทย ทั้งเรื่องของการใช้งานโซเชียลมีเดีย การช้อปปิ้งออนไลน์ และการตัดสินใจใช้จ่าย ทำให้เรามองว่าการบริหารจัดการและทำความเข้าใจลูกค้าคงไม่ต้องปรับตัวมากนัก อีกทั้งพาร์ทเนอร์ที่เรามีก็แข็งแรงในตลาดนี้ทำให้ง่ายต่อการลงทุนและวางฐานธุรกิจได้ดีขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมองในเรื่องของการหาพาร์ทเนอร์ด้านอินฟลูเอนเซอร์เพิ่มเติม เพราะลูกค้ายุคใหม่นิยมการอ่านรีวิว เชื่อคำพูดของคนใกล้ชิด ทำให้กลุ่มนาโนอินฟลูเอนเซอร์และไมโครอินฟลูเอนเซอร์มีความสำคัญมาก ซึ่งเราจะหาพาร์ทเนอร์ที่มีอินฟลูเอนเซอร์ในไทยและเอเชียมาช่วยเสริมการทำตลาด

ทางด้านของเม็ดเงินที่ได้รับมาทั้งจากก้อนแรก 0.8 ล้านเหรียญสหรัฐที่มาจากธนาคารออมสินและ Gobi Venture รวมกับก้อนใหม่อีก 2 ล้านเหรียญนั้น จะนำไปใช้ 3 ด้านคือ

  • ลงทุนด้านระบบหลังบ้าน เช่น ซอฟต์แวร์ต่างๆ เพื่อให้ทำงานได้ราบรื่นขึ้น
  • อินฟราสทรัคเจอร์ เช่น คลังสินค้าและอุปกรณ์สำหรับการทำงานต่างๆ
  • แมเนจเมนท์ ด้วยจำนวนพนักงานคลังสินค้าที่มีกว่า 200 คน แต่ทีมบริหารมีเพียง 5 คน เราจึงต้องการทีมบริหารเข้ามาเสริมความแข็งแรงของธุรกิจให้มากขึ้น

รู้จักธุรกิจ

MyCloudFulfillment บริษัทคลังสินค้าออนไลน์ครบวงจร ผู้ให้บริการ Fulfillment ที่มาพร้อมกับระบบจัดการออเดอร์ (OMS) และระบบจัดการคลังสินค้า (WMS) ช่วยร้านค้าจัดการ เก็บ แพ็ค ส่งสินค้า และเชื่อมต่อ API เข้ากับช่องทางการขายต่าง ๆ ได้แบบอัตโนมัติ (API Lazada, Shopee, etc.)

ด้วยรูปแบบบริการที่ยืดหยุ่น มีบริการแพ็คสินค้า ที่สามารถ customize ได้ตามต้องการ เช่น แพ็คแบบพิเศษ QCสินค้า จัดเซ็ท เพิ่มมูลค่าสินค้าที่มากกว่าแค่ รับแพ็คสินค้าทั่วไป อีกทั้งยังช่วยจัดการSupply Chain จัดการคำสั่งซื้อ และ นำข้อมูลการขายมาใช้เป็นข้อมูลวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจได้

บริษัทมี SKU ในระบบมากกว่า 100,000 SKUs, มียอดออเดอร์สูงสุดต่อวันถึง 50,000 ออเดอร์, โดยที่ออเดอร์เติบโตขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 6 เท่า และ ภายในครึ่งปีที่ผ่านมามีมูลค่าซื้อขายสินค้าผ่านคลังกว่า 500 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจที่น่าจับตามองคือ ความงามเครื่องสำอาง,ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกาย, และ ธุรกิจกลุ่มสุขภาพและอาหารเสริม เนื่องจากมีการเติบโตที่น่าสนใจช่วงโควิด ถึงจะลดตัวลงนิดหน่อยจากการกลับมาของหน้าร้าน แต่ จะกลับมาเติบโตได้ดีบนออนไลน์อีกครั้งในอนาคต

โดยสุดท้ายแล้ว อุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือธุรกิจแฟชั่น ที่ตกลงอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของการท่องเที่ยว

สิ่งที่ควรระวังเพื่อการอยู่รอดในอนาคต

ถึงแม้ว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีการขยายตัว และเป็นขุมทรัพย์ตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล แต่ก่อนจะบุกทำตลาดผู้ประกอบการต้องเข้าใจทิศทางตลาดและผู้บริโภคให้ถ่องแท้ เพื่อระมัดระวัง เตรียมตัวรับมือ และสามารถอยู่รอดในโลกของอีคอมเมิร์ซในอนาคต ซึ่งหากเจาะลึกจะมี 3 อย่างที่ต้องทำความเข้าใจ ประกอบด้วย

  1. Understand lifestyles not trend : เข้าใจไลฟ์สไตล์ของลูกค้าก่อน ไม่ใช่เทรนด์ เนื่องจากยุคดิจิทัลเทรนด์ตลาดหรือผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่การเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเชิงลึกจะทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้าได้อย่างยั่งยืน
  2. Understand journey not channels : เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าก่อนเลือกช่องทาง การเข้าใจเส้นทางการซื้อสินค้าของผู้บริโภค (Customer journey) เพื่อให้ผู้ขายสามารถนำเสนอสินค้าและบริการ โปรโมชั่นได้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย
  3. Understand patterns not numbers : เข้าใจรูปแบบไม่ใช่ตัวเลข การขายสินค้าออนไลน์ค่อนข้างมีรูปแบบ แบรนด์จึงต้องเข้าใจในสถานการณ์ก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะรู้ทิศทางสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ สินค้าขายดี เช่น สินค้าแฟชั่น เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เมื่อถูกกระทบจากโควิดยอดขายจึงหดตัว เป็นต้น

การที่ผู้ประกอบการยึดติดกับตัวเลขที่คาดการณ์ไปล่วงหน้า เพราะความไม่แน่นอนคือสิ่งที่แน่นอน แม้จะมีดาต้า เราก็ไม่สามารถคาดการณ์อนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก แต่การเข้าใจแพทเทิร์น ทำให้รู้ว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำเราจะไม่พลาดอีก

ที่สำคัญคือคุณต้องไว้วางใจผู้อื่นมากขึ้น อย่าถือทุกอย่างไว้ที่ตัวเอง กระจายการทำงานที่ไม่ถนัดให้คนที่เค้าถนัดทำ คุณจะได้สามารถโฟกัสเฉพาะแค่สิ่งที่ถนัดได้ และหากเกิดวิกฤตอีก จะได้ยืดหยุ่นพอที่จะปรับแปลงบริบทได้แบบทันท่วงที ทั้งนี้ต้องระมัดระวังเรื่องการนำเงินไปลงทุน ต้องกระจายความเสี่ยง อย่าเพิ่งลงทุนหวังผลระยะยาวและความคุ้มค่า ลงทุนเพื่อสร้างความยืดหยุ่นก่อนดีกว่า