วงการดนตรีในปัจจุบัน หากจะบอกว่ามันถึงจุดที่น่าจะนิ่งและหนืดที่สุดในประวัติศาสตร์ก็คงได้ นวัตกรรมในโลกดนตรีไม่มีอะไรที่หวือหวามาสักพักใหญ่ๆ ค่ายเพลงต่างๆ ต้องใช้ความพยายามในการต่อกรกับการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไปโดยที่ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีทางออกที่ดีในเร็วๆ นี้ แต่วันนี้บริษัทเล็กๆ ในญี่ปุ่นรายหนึ่งได้ออกมาพร้อมกับแนวคิดใหม่ แนวคิดที่ว่าบางทีเพลงอาจจะไม่ใช่แค่คนไม่กี่คนร่วมกันผลิตอีกต่อไป และดนตรีน่าจะเป็นผลงานที่ไร้ขอบเขตอย่างแท้จริง
Nana Music เป็นบริษัทน้องใหม่จากญี่ปุ่นที่มาพร้อมกับแอพพลิเคชั่นบน iPhone ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถร้องเพลง, เล่นเพลง รวมถึงร่วมมือกันบนแพลตฟอร์มของ Nana ได้ ซึ่งในปัจจุบันยังให้บริการเฉพาะในญี่ปุ่น แต่เร็วๆ นี้ แอพพลิเคชั่นตัวนี้จะเปิดให้บริการเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษให้ทั่วโลกใช้งานร่วมกันได้
การทำงานของ Nana จะเปิดให้ผู้ใช้สามารถอัดเสียงร้องหรือเสียงอื่นๆ ผ่านสมาร์ทโฟน จากนั้นผู้ใช้สามารถนำเสียงที่อัดนี้มาทำงานร่วมกับผู้ใช้อื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการร้องร่วมกันหรือแม้แต่การร้องและผสมดนตรีจากผู้ใช้งานคนอื่นๆ ก็สามารถทำให้เกิดเป็นการสร้างสรรค์งานนดนตรีร่วมกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์นี้ได้ทันที
Akinori Fumihara ผู้ก่อตั้งร่วมกับผู้ที่หลงรักในเสียงดนตรีอีก 4 คนได้รับแรงบันดาลใจจากการสร้างสรรค์เพลง We are the world 25 for Haiti ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในปี 2010 เพื่อช่วยบรรเทาภัยจากมหันตภัย จากนั้นทีมงานจึงได้พัฒนาแนวคิดของ Nana Music ขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปสามารถช่วยกันสร้างสรรค์ดนตรีแบบไร้พรมแดนได้
แนวคิดของ Nana Music ถูกเปิดตัวครั้งแรกในงาน TechCrunch Tokyo 2011 Conference ท่ามกลางผลงานชั้นเยี่ยมทั้งหมด 11 โครงการในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งโครงการนี้ได้รับคัดเลือกให้เข้าบ่มเพาะก่อนที่จะได้รับรางวัลในงาน SXSW 2012 ที่ผ่านมา
ความเห็นผู้แปล
เรื่องของการร่วมกันพัฒนาคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นแนวคิดที่ไม่ได้ใหม่ แต่การนำมาปรับใช้กับดนตรีถือว่าเป็นการมาที่น่าสนใจมาก Nana Music อาจจะเป็นการพิสูจน์ทฤษฎี long tail ที่ดี เมื่อนักดนตรีและผู้ที่มีพรสวรรค์ทางดนตรีแต่ไม่สามารถได้เป็นศิลปินในค่ายใหญ่ สามารถที่จะแจ้งเกิดได้โดยการจับมือกับผู้ที่มีพรสวรรค์และความสามารถอีกมากมายจากทั่วโลก อุตสาหกรรมดนตรีอาจจะมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อคนที่ควบคุมตลาดและกระแสของดนตรีไม่ใช่ค่ายใหญ่ไม่กี่ค่าย หรือบุคคลมีชื่อเสียงกลุ่มเล็กๆ อีกต่อไป การกระจายรายได้ ความคิดสร้างสรรค์ หรือแม้แต่รูปแบบการขายก็อาจจะมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งก็เป็นได้หากรูปแบบการสร้างดนตรีแบบ collaborative เกิดขึ้นจริง คงต้องติดตามดูว่า Nana Music จะเป็นม้าขาวที่มาเปลี่ยนอุตสาหกรรมดนตรีหรือไม่
ที่มา: Tech in Asia