กสทช. ดัน คสช. ออกคำสั่งช่วยทีวีดิจิทัลและค่ายมือถือได้สำเร็จ เปิดทางยืดเวลาจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 MHz สำหรับผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้ภายใน 30 วัน พร้อมได้สิทธิ์ประมูล 700 MHz ก่อนใครเพื่อน ส่วนทีวีดิจิทัลช่องไหนไปต่อไม่ไหวก็เปิดทางคืนใบอนุญาตแล้ว
คสช.ใช้ ม.44 อุ้มค่ายมือถือ-ทีวีดิจิทัล
ก่อนหน้านี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการค่ายมือถือและทีวีดิจิทัลมาหลายอัน ได้แก่ คำสั่ง คสช. ที่ 16/2559, คำสั่ง คสช. ที่ 76/2559 และ คำสั่ง คสช. ที่ 9/2561
ล่าสุดวันนี้เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบการกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยระบุว่าเหตุที่ต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และกำหนดระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมฯ สภาพปัญหารแข่งขันที่มาจากทั้งรัฐและเอกชน ส่งผลต่อรายได้ผู้ประกอบการ ทำให้ไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด
อีกทั้งการปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ยังหวังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการ และเพื่อจูงใจให้มาประมูลคลื่น 700 MHz และ 2600 MHz เพื่อนำมาใช้กับบริการ 5G อีกด้วย
โดยสาระสำคัญจากคำสั่งดังกล่าว ได้แก่
- ยืดจ่ายค่าประมูลมือถือ 900 MHz โดยผู้ประกอบการค่ายมือสามารถยื่นคำขอได้ภายใน 30 วัน
- จัดสรรคลื่น 700 MHz ให้ผู้ประกอบการค่ายมือถือที่ประมูลคลื่น 900 MHz ก่อน
- ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายไหนต้องการคืนใบอนุญาตฯ สามารถยื่นขอได้ภายใน 30 วัน
- ผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนคลื่น 700 MHz สามารถเรียกค่าชดเชยได้
- อนุญาตให้ กสทช. นำเงินมาอุดหนุนเงินระบบวัดเรตติ้งกลางได้
นักวิชาการเตือนอย่ายกผลประโยชน์หมื่นล้านให้นายทุนฟรีๆ
ส่วน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ “ยืดหนี้มือถือ = ยกผลประโยชน์หมื่นล้านให้นายทุน” โดยระบุที่จริงแล้ว ทั้งสามบริษัทจะได้ผลประโยชน์ใกล้เคียงกัน แม้ว่าหนี้ก้อนสุดท้ายที่จะยืดออกไปจะใหญ่ไม่เท่ากัน แต่การปรับระยะเวลาในการยืดหนี้ที่แตกต่างกันก็ทำให้สุดท้ายได้ตัวเลขเท่าๆ กันคือ แต่ละรายได้ผลประโยชน์ไปประมาณ 8 พันล้านบาท ใกล้เคียงกันอย่างน่ามหัศจรรย์ เสมือนมีการหารือกันมาก่อนเพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน
แม้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายอาจไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันและต่างก็ได้หมด ผู้ที่จะเสียเปรียบจากมาตรการดังกล่าวคือ ประชาชนผู้เสียภาษี เพราะการที่รัฐยืดหนี้ให้ทั้งสามรายคือ การยกผลประโยชน์ของประชาชน 2.4 หมื่นล้านบาท ให้กับนายทุนโทรคมนาคม
ข้ออ้างเรื่องการยืดหนี้อุ้มผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าประมูลคลื่น 5G ก็เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น ด้วยหลายเหตุผลคือ หนึ่ง ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมและความจำเป็นต้องประมูลคลื่น 5G ในปีนี้ สอง ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ไม่มีใครสัญญาว่าจะเข้าประมูล 5G เลย โดยต่างพูดตรงว่า ต้องดูเงื่อนไขการประมูลและราคาเริ่มต้นก่อน
ข้ออ้างในการยืดหนี้เพื่อให้เอกชนเข้าประมูล 5G จึงไม่ใช่ “หมูไปไก่มา” แต่ “เสียหมูไปฝ่ายเดียว” เสมือนเป็น “ค่า (แกล้ง) โง่”
หากมีการใช้มาตรการดังกล่าวจริง ก็ต้องถือว่า รัฐบาลประยุทธ์ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง ทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง ในทางกฎหมาย การใช้คำสั่งตามมาตรา 44 จะทำให้คสช. และรัฐบาลพ้นความรับผิดทางกฎหมาย ประชาชนไม่สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลได้
ส่วนในทางการเมือง การดำเนินการในช่วงหลังเลือกตั้งทำให้ไม่ถูกคู่แข่งโจมตีในการเลือกตั้งว่า เอื้อประโยชน์ให้นายทุน และการดำเนินการในช่วงก่อนสงกรานต์ ก็ถือเป็นการใช้จังหวะที่ประชาชนติดตามข่าวสารกันน้อยเพราะเป็นวันหยุดยาว