กลายเป็นธรรมเนียมทุกปีสำหรับการยื่นภาษีที่ไม่ว่าจะทำงานมานานแค่ไหนก็ต้องยื่นให้ถูกต้อง เพราะนอกจากจะช่วยให้เรายื่นภาษีตามกฏหมายแล้ว ยังช่วยในการนำเงินไปพัฒนาประเทศด้วย ตามปกติจะต้องยื่นภาษีก่อนสิ้นเดือนมีนาคมของทุกปี สำหรับในปีนี้ด้วยวิกฤตโควิด-19 ทางกรมสรรพากรยืดระยะเวลาให้ถึง 30 มิถุนายน 2564 เพื่อให้เราได้เตรียมเอกสารกันได้ครบก่อนยื่นให้เสร็จเรียบร้อย
สำหรับวิธีการยื่นภาษีที่สะดวกที่สุด คงหนีไม่พ้นการยื่นผ่านเว็บไซต์ กรมสรรพากร ซึ่งสามารถยื่นภาษีได้ทุกรูปแบบ เพียงแค่มีเอกสารให้พร้อมก็สามารถยื่นเอกสารได้เลย
ทั้งนี้ เอกสารหลักๆ ที่ต้องใช้ในการยื่นภาษีของพนักงานบริษัทก็คือใบทวิ 50 ที่สามารถแจ้งขอได้กับทางฝ่ายเอชอาร์หรือบัญชีของแต่ละบริษัท ซึ่งแล้วแต่ว่าฝ่ายไหนเป็นคนดำเนินการ (บางบริษัทอาจอำนวยความสะดวกด้วยการยื่นภาษีให้ด้วยซ้ำ) แต่สำหรับคนที่มีช่องทางรายได้หลากหลายหรือเป็นฟรีแลนซ์ก็จำเป็นต้องเตรียมเอกสารภาษีหรือใบหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ครบทุกงานที่เราต้องยื่นแจ้งให้เรียบร้อย
รายได้เท่าไหร่ต้องยื่นภาษี
ตามปกติแล้ว คนไทยทุกคนที่มีเงินได้เกิน 120,000 บาทต่อปี (เฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท/เดือน) มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิของแต่ละคน ซึ่งเงินรายได้นั้นจะคิดจากการนำเงินได้ทั้งปี หักค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนภาษีที่มีทั้งหมด สำหรับเงินได้ทั่วไป (เงินเดือน โบนัส หรือค่าจ้าง) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
หากรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้าเกินกว่านั้นก็จะเสียภาษีในอัตราเริ่มต้น 5% และจะสูงขึ้นตามอัตราภาษีแบบขั้นบันได แต่รายการลดหย่อนภาษีจะช่วยทำให้รายได้สุทธิให้ลดลง จึงเสียภาษีน้อยกว่าคนที่ไม่มีรายการลดหย่อนภาษีเลย
ลดหย่อนภาษีอะไรได้บ้าง
สำหรับรายการลดหย่อนภาษีที่จะช่วยหักลดสิ่งที่ต้องจ่ายบ้าง ประกอบด้วย
- ผู้มีเงินได้ จะได้ลดหย่อน ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 60,000 บาท หรือ 120,000 บาท แล้วแต่กรณี
- คู่สมรส กรณีสามีหรือภรรยาไม่มีเงินได้ สามารถคิดลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท (เช่น ภริยาหักลดหย่อนฐานะผู้มีเงินได้ 30,000 บาทและหักลดหย่อนสามีได้อีก 30,000 บาทรวมเป็น 60,000 บาทและในการยื่นแบบให้แจ้งสถานะคู่สมรสไม่มีเงินได้)
- บุตร คนละ 30,000 บาท บุตรที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
- ค่าอุปการะบิดาหรือมารดาของตนเองหรือคู่สมรส มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ลดหย่อนภาษีได้ คนละ 30,000 บาท
- ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้พิการหรือทุพพลภาพ ลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาทต่อคน ยกมาจากแบบ ล.ย.04
- เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดาหรือคู่สมรส ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิต, เบี้ยประกันสุขภาพ, เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ของตนเอง รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
- เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท
- เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม SSF
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม SSF (พิเศษ)
- ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน ไม่เกิน 100,000 บาท
- เงินได้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ( ลดหย่อนตามมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ)
- เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
ส่วนการเริ่มต้นในการลงทะเบียนนั้นสามารถทำตามขั้นตอนได้เลยง่ายๆ