เข้ามาเริ่มทำงานแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมาและเรียกได้ว่าเป็น CEO หญิงหน้าใหม่ที่มารับไม้ต่อเพียง 8 วัน สำหรับ อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ dtac ที่ต้องมาแก้ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นและคลื่น 850 MHz พร้อม 3 กลยุทธ์ที่ไม่ได้หวังว่าจะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมหรือไม่ แต่จะปั้นความมั่นใจของลูกค้าและทีมให้กลับมาแข็งแรงก่อน
เดินหน้า 3 เรื่องหลัก
ได้มีนักข่าวถามว่าการเข้ามาทำงานในตำแหน่ง CEO ของ dtac นั้น จะมีเรื่องของ Probation อย่างไรบ้าง ซึ่งเธอได้กล่าวติดตลกว่า การรับตำแหน่งของเธอจะมีเรื่อง KPI หลัก คือ สร้างความเชื่อมั่นให้พนักงานและลูกค้าเพื่อเดินหน้า dtac อย่างแข็งแรงต่อไป ตามมาด้วยการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันกับทางกสทช. ในเรื่องของความคุ้มครองและเยียวยาลูกค้าที่ยังตกค้างบนคลื่นความถี่ 850 MHz รวมทั้งสื่อสารกับลูกค้าที่ตกค้างให้มาทำเรื่องย้ายคลื่นให้ถูกต้อง เพราะตามกฏหมาย dtac จะไม่สามารถทำเรื่องย้ายคลื่นเองได้ หากลูกค้าไม่เซ็นยินยอม
ชี้ชัดเรื่องเยียวยาไม่ใช่ขอฟรี
จากเอกสารแจกของทาง dtac ได้อธิบายถึงกระแสข่าวที่ไม่ยอมเข้าร่วมประมูล จึงไม่ควรบังคับใช้ประกาศมาตรการเยียวยากับกรณีนี้ ข้อเท็จจริง คือ คลื่นความถี่ที่บริษัทถือครองนั้น เป็นคลื่น 850 MHz แต่คลื่นที่ความถี่ที่จัดประมูลนั้นเป็นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งเป็นคนละคลื่นความถี่กัน ทำให้ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์และเสาสัญญาณใหม่ให้พร้อมก่อนการเข้าร่วมประมูล โดยต้องใช้เวลาเตรียมการอย่างน้อย 2 ปี ประกอบกับความไม่แน่นอนในการจัดประมูลคลื่น บริษัทจึงเตรียมการไม่ทันสำหรับการให้บริการบนคลื่นความถี่ใหม่
นอกจากนี้ การจัดประมูลคลื่นความถี่บนย่าน 900 MHz ยังมีกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชนะการประมูล ต้องรับผิดชอบแก้ไขปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ทั้งกรณีการรบกวนอาณัติสัญญาณของ BTS บนคลื่นความถี่ 850 MHz และรถไฟความเร็วสูงในอนาคตที่จะอยู่บนคลื่นความถี่ 900 MHz และเงื่อนไขต่างๆ ก่อให้เกิดต้นทุนสูงมากและไม่มีใครสามารถระบุได้แน่นอนว่าจำนวนเงินที่แท้จริงจะเป็นเท่าไร ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทำให้บริษัทไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้เช่นเดียวกับที่ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมการประมูลเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าอีกกว่า 400,000 ราย ที่ต้องใช้เวลาในการโอนย้ายโครงข่าย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ใช้มือถือรุ่นเก่า โดยบริษัทต้องใช้เวลาในการสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ให้มารับทราบว่าจะต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ในการย้ายโครงข่ายจาก dtac ไปยัง DTN อย่างถูกต้อง ไม่ใช่จัดการเองโดยไม่ได้รับความยินยอมของลูกค้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่บริษัทจะพยายามเร่งสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มนี้ จึงต้องยื่นเอกสารขอเยียวยาจากกสทช. ไม่ใช่หวังใช้งานคลื่นฟรีเพื่อทำการตลาด
ผุด Special Team ช่วยแก้ปัญหา
เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความมั่นใจให้ลูกค้านั้น อเล็กซานดร้า ได้ตั้งทีมพิเศษขึ้นมา เพื่อคัดกรองให้องค์กรแบนลงจากรูปแบบเดิมที่เป็นไซโล และมีขั้นตอนการทำงานที่ค่อนข้างเยอะ
“สิ่งที่เราทำในอดีตก็ถือว่าเป็นสิ่งที่โอเค แต่อาจตอบสนองลูกค้าได้ไม่ดีทั้งหมด จึงมีการปรับองค์กรบางส่วนเพื่อให้การทำงานเป็นไปได้ดีขึ้น ซึ่งไม่ได้คิดถึงขั้นถ่ายเลือดองค์กร แค่ปรับให้เหมาะสมกับการทำงานและพนักงานมีอิสระในการทำงานมากขึ้น”
นอกจากนี้ CEO หญิงคนแรกของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมยังได้ทิ้งท้ายว่า การทำงานในครึ่งปีหลังจากวันนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เรียกว่าเป็นการทดสอบที่น่าสนใจ ซึ่งในขั้นแรกอาจไม่ได้มองถึงอันดับของอุตสาหกรรมน้ีว่าเราจะก้าวขึ้นเป็นอันดับที่เท่าไหร่ แต่สิ่งที่เราจะไม่หยุด คือ วิ่งให้เร็วและดีขึ้นเพื่อเรียกความมั่นใจของลูกค้า งานบริการต้องดีขึ้นกว่าเดิม อาจจะไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งเพื่อเพิ่มความกดดันให้ทีมงาน แต่จะมองเพื่อให้รู้ว่ายังมีสิ่งใดที่เรายังทำได้และทำให้ดีกว่า ซึ่งอเล็กซานดร้ามั่นใจว่าจะนำพา dtac ผ่านช่วงปัญหานี้ไปให้ได้