ออกกฎหมายใหม่รับสงกรานต์… เมื่อ พ.ร.บ. 2 ฉบับใหม่ เพิ่มอำนาจให้ “สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)” หรือ ETDA กลายมาเป็นหน่วยงานทำหน้าที่กำกับดูแล (Regulator) ธุรกิจบริการด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มตัว หากใครไม่ขึ้นทะเบียนหรือขอใบรับอนุญาต มีสิทธิ์ถูกปรับเงินหรือติดคุก!
เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ 2 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออกมา ได้แก่ พ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
ความน่าสนใจของกฎหมาย 2 ฉบับที่ออกมา คือ การปรับให้องค์กรอย่าง “สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)” หรือ ETDA กลายมาเป็น “สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่องค์กรมหาชนอีกต่อไป
การเปลี่ยนแปลงจาก พ.ร.บ.ETDA ฉบับใหม่
ETDA ภายใต้ พ.ร.บ. ใหม่ที่ออกมานี้ จะมีลักษณะคล้ายกับหน่วยงานที่ทำงานด้านกำกับดูแล (Regulator) อย่างเช่น กสทช. ที่เน้นกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม แต่ ETDA จะมีอำนาจดูแลด้านการทำธุรกิจบริการอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัล (Electronic Transaction) มากขึ้น เช่น
- กำหนดมาตรฐานด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Digital ID ในฐานะ Regulator
- ทำ Recommendation ด้านมาตรฐาน ในฐานะ Rugulator
- การกำกับดูแลผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์
- การให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
นอกจากนี้ ETDA ยังระบุว่าจะทำหน้าที่เป็นผู้ทำหน้าที่ส่งเสริมการใช้นวัตกรรม (Innovation) สำหรับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในการบริหารและการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
โดยจะศึกษาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาข้อเสนอแนะที่สำคัญ แนวทางการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ และพัฒนาระบบต้นแบบพร้อมสนามทดสอบสำหรับทดลองการใช้งาน (Prototype and Sandbox) อีกด้วย
ซึ่ง ‘สุรางคณา วายุภาพ’ ผู้อำนวยการ ETDA คนเดิมจะดำรงตำแหน่งถึงเดือนมิถุนายน 2562 หลังจากนั้นจะมีกระบวนการสรรหากรรมการดำรงตำแหน่งใหม่ทั้งหมด ส่วน ‘ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์’ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) จะรักษาการในกระบวนการออกกฎหมาย หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขต่อไป
การเปลี่ยนแปลงจาก พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3)
พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ที่ออกมานี้เป็นการปรับปรุงกฎหมายมาจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2544 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551
หากดูการแก้ไขข้อกฎหมายที่น่าสนใจ จะพบว่ามีการเพิ่มอำนาจให้ ETDA ดำเนินการต่อธุรกิจบริการด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้มากขึ้น
- ถ้าต้องมีการยื่นเอกสารมาแสดงกับราชการ แล้วมีเอกสารนั้นเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงได้และไม่มีความเปลี่ยนแปลง ก็ถือว่าข้อความนั้นเป็นหนังสือที่สามารถใช้งานได้ (มาตรา 8)
- ธุรกิจบริการด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีการแจ้งให้ทราบ ขึ้นทะเบียน หรือได้รับใบอนุญาตก่อน เพื่อความมั่นคงทางการเงินและพาณิชย์ เพิ่มความน่าเชื่อถือของระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน (มาตรา 32)
- หากไม่มีการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐใดเป็นผู้รับผิดชอบการควบคุมดูแล ก็มอบอำนาจให้ ETDA เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย (มาตรา 32)
- ถ้าประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้รับ
ใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 44/1) - ถ้าประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 45)
- ถ้าธุรกิจที่ต้องขึ้นทะเบียนนั้นไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด สามารถถูก ETDA ปรับได้สูงสุดถึง 1 ล้านบาท ส่วนธุรกิจใดต้องขอรับใบอนุญาต นั้นไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด สามารถถูกปรับได้สูงสุดถึง 2 ล้านบาท ซึ่ง ETDA มีอำนาจสั่งให้ธุรกิจนั้นๆ แก้ไขการดำเนินการให้ถูกต้องได้เช่นกัน (มาตรา 33/1 และมาตรา 34)
รวมถึงมีการระบุถึง “คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” ที่ติดตามการทำงานเรื่อง ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ตามมาตรา 36) ให้เป็นดังนี้
- คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงิน, การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, นิติศาสตร์, วิทยาการคอมพิวเตอร์, วิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์, สังคมศาสตร์ และด้านอื่นๆ
- ให้ปลัดกระทรวง DE เป็นรองประธานกรรมการ
- เลือกผู้ทรงคุณวุฒิ 1 ใน 8 คนมาเป็นประธานคณะกรรมการ
ส่วนคณะกรรมการฯ ที่มีอยู่เดิม ให้อยู่ดำรงตำแหน่งไปก่อน จนกว่าจะสรรหาใหม่ได้
สรุป
แน่นอนว่าทั้ง “สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” ร่างใหม่ของ ETDA ในฐานะ Regulator และ “คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” ยังอยู่ภายใต้กระทรวง DE เหมือนเดิม
โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่เรากล่าวไปข้างต้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2562 เป็นต้นไป ส่วนสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับแบบมีศัพท์ทางเทคนิคได้ที่เพจ ‘สุรางคณา วายุภาพ’ ผู้อำนวยการ ETDA คนเดิม
น่าจับตาว่าการดำเนินของ ETDA ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจบริการด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป และหากมีรายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจ เราจะมารายงานให้ทราบกันต่อไป