Site icon Thumbsup

เงินติดล้อ “เตือนแรงๆ”!! หวังกระตุ้นให้คนไทยเริ่ม “วางแผนทางการเงิน”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเวลานี้คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น นานขึ้น และมีสัดส่วนคนที่เป็นหนี้สูงขึ้นอีกด้วย ทำให้ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อทะเบียนรถ ลุกขึ้นมาเปิดตัวแคมเปญ “หนี้หรือความสุข” แคมเปญที่เสียดสีสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม พร้อมกับแทรกอารมณ์ขัน

ซึ่งเป็นที่น่าแปลกที่บริษัทสินเชื่อมารณรงค์เรื่องหนี้ และพูดกับคนในสังคมที่กำลังมีปัญหานี้จริงๆ  เรามาดูกันว่า เงินติดล้อ นำเสนออะไรที่น่าสนใจบ้าง

1. ปัจจัยมากมาย กระตุ้นให้เราใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น 

เงินติดล้อ เปิดเผยว่าจากการเก็บข้อมูลพนักงานบริษัทที่มีอายุ 25-35 ปีขึ้นไป, กลุ่ม First Jobber, คนที่เพิ่งประกอบอาชีพใหม่ และมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อเดือน

พบว่า คนกลุ่มนี้มีการใช้โทรศัพท์มือถือ – Social Media นานขึ้นและมากขึ้น พอยิ่งเห็นโฆษณาและโพสต์ภาพสินค้าและบริการต่างๆ จากของเพื่อน คนรู้จัก ก็ยิ่งกระตุ้นความอยากได้อยากมีสิ่งเหล่านั้นบ้าง ประกอบกับร้านค้าออนไลน์ (E-Commerce) เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้คนเข้าถึงการซื้อสินค้าได้ตลอดเวลาเพียงแค่มีอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์ ระบบขนส่งสินค้า (Logistics) ก็ให้บริการได้ดีขึ้น อย่าง Delivery ที่แต่ก่อนมีเพียงเจ้าใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ปัจจุบันเราสามารถสั่งแทบทุกอย่างแบบ Delivery ได้

รวมถึงรูปแบบสินเชื่อที่เข้าถึงง่าย ทั้งบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ก็ยิ่งทำให้กลุ่มคนที่กล่าวไปข้างต้นเริ่มเกิดการใช้จ่ายที่ “รายรับ” ไม่สมดุลกับ “รายจ่าย” มากขึ้นเรื่อยๆ

 

2. แนะให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ

เงินติดล้อ กล่าวต่อว่า บริษัทเล็งเห็นว่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่ก่อให้เกิดภาระหนี้ ถือเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการออม อาจนำมาซึ่งปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

ทำให้ เงินติดล้อ ตัดสินใจส่งเสียงให้สังคมตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว ผ่านแคมเปญชุด “หนี้หรือความสุข” ที่ต้องการเตือนประชาชนทั่วไป (โดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือน) มีสติและคิดให้ดีก่อนเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่จำเป็นจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ซึ่งมักถูกชี้นำโดยสื่อโซเชียลและแรงกดดันจากสังคม ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครพูดถึงในประเด็นนี้มากนัก

 

3. สื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายแบบ “สุดขั้ว” แต่ “จริงใจ” แม้ไม่ใช่ลูกค้า

แม้ว่าแคมเปญที่ผ่านมา ที่ชื่อชุด “ชีวิตใหม่” ออกเผยแพร่วิดีโอโฆษณาเมื่อปี 2560 ซึ่งมุ่งสื่อสารกับลูกค้าของเงินติดล้อ ให้นำเงินกู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างอาชีพและชีวิตที่มั่นคง โดยทิ้งท้ายด้วยประโยคโดนใจ “เราไม่อยากให้คุณกลับมาหาเราอีก” ซึ่งออกมาในฟีลลิ่งแง่บวก จับกลุ่มลูกค้าของเงินติดล้อ

แต่อย่างไรก็ตาม เงินติดล้อระบุว่าบริษัทมีค่านิยมในการกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ และแสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมากับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างจริงใจ ทำให้เกิดการสื่อผ่านแคมเปญ “หนี้หรือความสุข”

ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าแคมเปญนี้ออกมาในฟีลลิ่งที่รุนแรง แต่ก็ถือว่าเป็นการสื่อสารที่เข้าถึงใจกลุ่มเป้าหมายอย่างมนุษย์เงินเดือน วัยเริ่มทำงาน แบบตรงไปตรงมาและจริงใจ เพราะคนถูกตักเตือนดีๆ ก็มักจะเพิกเฉยอยู่บ่อยครั้ง

 

4. กระตุกต่อมคิดทางการเงินผ่านหนังสือ ดีไซน์ครีเอทีฟ

นอกจากนี้ เงินติดล้อ ยังมีการทำหนังสือ “25 วิธีคิดทำให้ชีวิตฉิบหาย” โดยปกหลังจะเขียนว่า “25 วิธีคิดทำให้ชีวิตสบายๆ” นำเสนอด้วย Typography ซึ่งเป็นการจัดวางและการออกแบบตัวอักษรเพื่อการสื่อสารให้ถึงกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง

“เราแค่อยากให้คุณใช้ชีวิตอย่างมีสติและตระหนักในทุกการตัดสินใจ เพราะชีวิตคนส่วนมาก มักจะไม่พังลงไปจากการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ แต่มักจะพังลงอย่างง่ายๆ กับเรื่องเล็กๆ เช่น การใช้จ่ายตรงนั้นอีกนิด หยิบยืมตรงนี้อีกหน่อยโดยไม่ระวัง” ข้อความส่วนหนึ่งจากผู้จัดทำหนังสือ ระบุ

ซึ่งหนังสือ จะมีการแจกให้กับพนักงานเงินติดล้อจำนวน 5,000 คนทั่วประเทศ และจะมีการวางขายหนังสือดังกล่าวตามร้านหนังสือทั่วประเทศในราคา 195 ยาท เริ่มวางจำหน่ายวันที่ 21 ตุลาคมนี้

 

5. คาดหวังให้คนไทย ไม่จำเป็นอย่าเป็นหนี้

สุดท้ายเงินติดล้อมองว่า การเผยแพร่แคมเปญในครั้งนี้ไม่ได้หวังผลทางด้านธุรกิจเลย เพราะแคมเปญเน้นเจาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือน ซึ่งไม่ใช่กลุ่มลูกค้าหลักของเงินติดล้อ โดยยืนยันว่าการเผยแพร่แคมเปญนี้ไม่ได้ห้ามให้เป็นหนี้ แต่อยากให้เป็นหนี้แบบมีการวางแผน ก่อหนี้เพื่อสร้างชีวิต

และการนำเสนอแคมเปญ “หนี้หรือความสุข” ในรูปแบบวิดีโอและหนังสือครั้งนี้ ก็เพื่อให้สังคมได้ฉุกคิดถึงการวางแผนทางการเงิน เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้พวกเราทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นต่อไป