เข้าสู่ปีที่ 13 แล้ว สำหรับสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเลคทรอนิคส์ไทย ที่แน่นอนว่านอกจากการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของกรรมการชุดใหม่แล้ว ในยุคที่อีคอมเมิร์ซกำลังเข้าสู่ชีวิตของคนไทยมากขึ้น ย่อมต้องมีความพิเศษที่มากกว่าเดิม
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเลคทรอนิคส์ไทย เล่าว่า คนไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น จากปี 2015 ที่มีประชากรอินเทอร์เน็ต 38 ล้านคน คิดเป็น 55% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และในปี 2020 เชื่อว่าประชากรอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 59 ล้านคน คิดเป็น 84% ของประชากรทั้งหมด โดยจะมีนักช้อปออนไลน์หน้าใหม่เพิ่มขึ้นมาไม่น้อยกว่า 20 ล้านราย
แม้ว่าตัวเลขจาก ETDA จะบอกให้ทราบว่าคนไทยท่องโลกออนไลน์เฉลี่ย 10.5 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นการเข้าใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตก็ไม่น้อยกว่า 4.2 ชั่วโมงต่อวัน และหนึ่งในกิจกรรมที่คนไทยใช้เวลามากที่สุด 5 อันดับ การช้อปปิ้งออนไลน์มีสัดส่วนถึง 50.8% เรียกว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
ทิศทางอีคอมเมิร์ซ
ทั้งนี้ มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยในปี 2017 ที่สรุปมาอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 29% แบบปีต่อปี สัดส่วนของการช้อปปิ้งหลักๆ ยังคงมาจากโซเชียลมีเดียมากที่สุดถึง 40% เพราะคนไทยชอบการสื่อสารแบบเข้าถึงแบบ C2C มากกว่า ส่วนมาร์เก็ตเพลสชั้นนำอย่าง LAZADA, Shopee, JD Central ยังตามมาเป็นที่สองครองส่วนแบ่ง 35% ที่เหลืออีก 25% เป็นเจ้าของแบรนด์โดยตรง เรียกได้ว่าแบรนด์ที่ได้รับความน่าเชื่อถือยังคงมีโอกาสต่อเนื่อง
หากมองแบบวิเคราะห์ว่า E-commerce มีความสำคัญกับเศรษฐกิจและประเทศไทยอย่างไร แน่นอนว่า SME ที่มีการใช้งานอีคอมเมิร์ซอย่างจริงจังย่อมเพิ่มโอกาสโตทางธุรกิจเพิ่มเป็น 2 เท่าจากการขายแบบรูปแบบเดิม รวมทั้งมีโอกาสจากการขายแบบส่งออกต่างประเทศเป็น 2 เท่า แค่สองช่องทางนี้ก็กลายเป็นโอกาสทางรายได้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นแบบมหาศาลแล้ว รวมทั้งยังเพิ่มโอกาสจ้างงานถึง 2.6 อัตรา ทำให้ลดปัญหาการว่างงานได้
แม้ว่าอินเทอร์เน็ตจะยังเข้าไม่ถึงคนชนบทแบบร้อยเปอร์เซ็นต์แบบคนกรุง แต่หากคนท้องถิ่นมีความรู้และเข้าใจด้านอีคอมเมิร์ซที่ดี รวมทั้งใช้อินเทอร์เน็ตในการสร้างโอกาสทางการขายใหม่ๆ ได้ ย่อมลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ระหว่างคนเมืองและชนบทได้
แม้ว่าปัญหาและความท้าทายของการเติบโตด้านอีคอมเมิร์ซจะเป็นเรื่องของคำว่า “ไม่รู้จะเร่ิมต้นอย่างไร” “เริ่มแล้วไปต่อไม่ถูก” “การทะลักเข้ามาของผู้ประกอบการต่างประเทศ” และ “กลัวเรื่องการจัดเก็บภาษีของรัฐ” แต่เชื่อว่าการมีสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเลคทรอนิคส์ไทยเข้ามาเป็นที่ปรึกษา น่าจะช่วยลดปัญหาความกังวลในการเดินหน้าธุรกิจอย่างมั่นคงได้
ธนาวัฒน์ กล่าวว่า “วิสัยทัศน์หลักของเราคือการส่งเสริมผู้ประกอบการให้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ และกระจายรายได้อย่างทั่วถึง โดยรวมเชื่อว่าหาก SME มีที่ปรึกษาที่น่าเชื่อถือและเป็นกลางก็น่าจะสร้างความมั่นใจและก้าวเข้าสู่โลกอีคอมเมิร์ซได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ทั้งนี้ เป้าหมายของจำนวนสมาชิกสมาคมที่คาดไว้ใน 2 ปีคือ 30,000 ราย เพื่อเป็นศูนย์กลางผู้ประกอบการด้านอีคอมเมิร์ซไทย โดยมีการให้ Benefit สำหรับสมาชิกคือ
E-provider
- มีรายชื่อในเว็บไซต์สมาคม
- ได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียมในการเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคม
- ไม่จำกัดสัญชาติของบริษัท ขอเพียงทำธุรกิจในไทย
E-seller
- ได้รับป้ายยืนยันความน่าเชื่อถือ
- ได้ข้อมูลการทำอีคอมเมิร์ซโดยกูรูชั้นนำของไทย
- มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ Thailand Online Mega Sale
E-Person
- ได้รับการยืนยันจากสมาคมว่าเป็นผู้มีความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซที่แท้จริง
- มีการจัดทดสอบความรู้เพื่อเลื่อนระดับขั้น
ที่สำคัญ คือตอนนี้ลงทะเบียนสมัครได้ฟรี เพียงแสกน QR Code ด้านล่างและกรอกข้อมูลตามความเป็นจริง
และนี่คือโฉมหน้าของกรรมการชุดใหม่ทั้งหมด ที่เรียกได้ว่าแค่เห็นหน้าก็คุ้นเคย เพราะเป็นบุคคลที่มีฝีมือในการทำธุรกิจและเข้าใจโลกออนไลน์เป็นอย่างดีทั้งสิ้น
หากสนใจเข้าไปหาข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่ https://thaiecommerce.org กันได้นะคะ