ถือว่าเป็นความสำเร็จของ New York Fashion Week ที่น่าสนใจมากสำหรับยอดชมแฟชันโชว์ออนไลน์ซึ่งทำสถิติสูงสุดในปีนี้ ใครที่มองหากรณีศึกษา Live Streaming Media ห้ามพลาดสถิติล่าสุดของงานแฟชันโชว์ระดับโลกที่จะทำให้หลายคนอึ้งและมองเห็นผลลัพท์แง่บวกและลบได้รอบด้าน
ที่เราใช้คำว่า “ผลลัพท์ทั้งแง่บวกและลบ” กับการถ่ายทอดสดออนไลน์งานแฟชันโชว์ระดับโลก New York Fashion Week ซึ่งเปิดให้ผู้ที่สนใจนั่งดูงานแสดงแฟชันอยู่บนหน้าจอที่บ้าน เพราะผลสำรวจพบว่ามีผู้ชมออนไลน์เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้วกว่า 50% แต่ระยะเวลาในการชมกลับน้อยและไม่เข้าเป้าสักเท่าไร
ในอดีต งานแฟชันโชว์ขนาดใหญ่มักจะเป็นงานที่มีแต่คนในวงการแฟชันเท่านั้นที่จะเข้าไปชมได้ แต่ด้วยพลังของผู้บริโภคบนโลกอินเตอร์เน็ตทุกวันนี้ ทำให้หลายแบรนด์ต้องหันมาให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มนี้ โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้าออนไลน์ได้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวอยู่บนหน้าจอพร้อมเปิดให้ชมแฟชันโชว์แบบถ่ายทอดสดผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งจากหลายงานแฟชันโชว์ที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการถ่ายทอดลักษณะนี้ประสบความสำเร็จจริง
สำหรับงาน New York Fashion Week ที่ประกอบไปด้วยโชว์หลากหลายจากนักออกแบบกว่า 59 ราย ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งออนไลน์อย่าง Rightster และ IMG ผู้จัดงาน เผยผ่านทาง Mashable ว่าจำนวนผู้ชมออนไลน์เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 50% มาอยู่ที่ 630,000 คน และเฉลี่ยแล้วแต่ละคนใช้เวลาดูคน 20 นาที ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นราว 40%
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตัวเลขระยะเวลาในการชมโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อวิเคราะห์ดูแล้วจะพบว่าระยะเวลานี้ไม่นานพอที่ผู้ชมจะดูโชว์จนจบ ซึ่งปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งก็เป็นเพราะระยะเวลาระหว่างโชว์ที่นานเกินไป รวมไปถึงการเปิดงานที่ช้ากว่ากำหนดถึง 30 นาที
นอกจากนี้ ความสำเร็จของงานนี้ ถูกนำไปเปรียบเทียบกับงานแฟชันโชว์ในอังกฤษ ที่มีจำนวนผู้ชมออนไลน์สูงกว่ามากอย่างงานของนักออกแบบผู้ล่วงลับ Alexander McQueen ในปี 2010 ที่มีผู้ชมกว่า 3.5 ล้านคน และงานของ Topshop ในปี 2013 (ภาพบน) ที่มีผู้ชมถึงกว่า 4 ล้านคน และยังมีงานแฟชันโชว์ของแบรนด์ต่างๆ อีก เช่น Burberry (ภาพล่าง) หรือ we imagine ที่มีผู้ชมจากทั่วโลกในหลักล้านคน
ทาง Mashable ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ทำให้แฟชันโชว์ประสบความสำเร็จได้ คือการสร้างประสบการณ์ที่น่าสนใจควบคู่กันไปกับการชมแฟชัน เช่นการชมแฟชันด้วยภาพความละเอียดสูงแบบ Panorama ของ Burberry หรือการให้รายละเอียดและเฉดสีที่มีให้เลือก ของชุดที่กำลังขึ้นโชว์บนรันเวย์ ที่ Topshop ใช้กับงานโชว์ของตัวเอง
การทำการตลาดให้กับโชว์ก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน งาน New York Fashion Week ใช้การประชาสัมพันธ์ผ่านทางอีเมล์ และแฟนเพจของแบรนด์เสื้อเท่านั้น ในขณะที่ทาง Burberry และ Topshop ปล่อยตัวอย่างงานมาให้ชมเพื่อสร้างความสนใจ และยังใช้ความสามารถของ Social Media โดยเปิดให้ผู้ชมสามารถเก็บภาพจากหน้าจอ และนำไปแชร์ได้ด้วยการคลิ๊กไม่กีครั้ง ซึ่งทำให้มีการแชร์ที่เกี่ยวกับงานโชว์มากถึง 200,000 ครั้ง
บางที จำนวนผู้ชมที่มากขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าความสำเร็จจะมากขึ้นไปด้วย ข่าวนี้ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่ดี สำหรับการสร้างประสบการณ์ที่น่าสนใจ ควบคู่กันไปกับ Content ที่ต้องการจะสื่อ เพื่อสร้างแรงดึงดูดต่อผู้ชม
ที่มา: Mashable